xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส “หมัก” เยือนมาเลย์เมื่อพรรคปาสครองพื้นที่ติดชายแดนไทย-กลุ่มป่วนใต้เคลื่อนไหวคึกคัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน

การเดินทางไปเยือนประเทศมาเลเซียอีกครั้งของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี นอกจากจะมีการเจรจาความเมืองเรื่องต่างๆ แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่นายสมัคร ต้องการเจรจาเพื่อขอความร่วมมือจาก นายอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซีย คือ เรื่องความร่วมมือของทั้งสองประเทศในการร่วมกันแก้ปัญหา ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แฟ้มภาพ-หนึ่งในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยหัวข้อสำคัญที่อาจจะมีการเจรจากัน “ใต้โต๊ะ” ได้แก่ การขอให้รัฐบาลมาเลเซียส่งผู้ร้ายคนสำคัญจำนวน 2 คน ที่รัฐบาลไทยต้องการตัวมากที่สุด นั่นคือ นายสะแปอิง บาซอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ซึ่งเชื่อว่าเป็นประธานขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต และ นายมะแซ อุเซ็ง ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่า เป็น “มือขวา” ของสะแปอิง และเป็น ผบ.กองกำลังกลุ่ม อาร์เคเค คนสำคัญ ที่มีอิทธิพลในการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยข้อเท็จจริง รัฐบาลที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ สองอดีตนายกรัฐมนตรี ได้เพียรพยายามทั้งการเจรจากับผู้นำรัฐบาลมาเลเซีย และ “คีย์แมน” คนสำคัญในวงการ ทหาร ตำรวจ ทั้งแบบ “บนโต๊ะ” และ “ใต้โต๊ะ” หลายครั้งด้วยกัน เพื่อขอตัวผู้ต้องหาคนสำคัญจำนวน 5 คน ที่เชื่อว่าอยู่เบื้องหลัง หรือเป็นผู้บงการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนทั้ง 5 ประกอบด้วย

1.นายสะแปอิง บาซอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่ง กอ.รมน.หรือกองทัพเชื่อว่าเป็นประธานขบวนการบีอารเอ็นโคออดิเนต ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มขบวนการในการแบ่งแยกดินแดน

2.นายมะแซ อุเซ็ง อดีตอุสตาซโรงเรียนสัมพันธ์วิทยามูลนิธิ ซึ่งเชื่อว่าเป็น ผบ.กองกำลังอาร์เคเค

3.นายอาแว แฆและ หรือ นาซอรี เซ๊ะเซ็ง ครูฝึกยุทธวิธี ซึ่งมีดีกรีเป็น หัวหน้าชุดนักรบมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยปฏิบัติการสู้รบร่วมกับกลุ่มตอลีบันในประเทศอัฟกานิสถานมาแล้ว

4.นายรอมลี มูโน๊ะ

และ 5.นายบือราเฮง เยาะ หนึ่งในหัวโจกใหญ่ที่เป็นอุสตาซโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ


โดยในการเจรจาแต่ละครั้ง ผู้นำรัฐบาล และผู้นำกองทัพของประเทศมาเลเซีย รับฟังและรับปากว่าจะสืบหาคนทั้ง 5 ให้ โดยขอข้อมูลที่แน่ชัดจากเจ้าหน้าที่ไทย และหลังจากนั้น ทางการมาเลเซียก็จะบอกว่า ไม่มีบุคคลดังกล่าวในประเทศมาเลเซีย ตามที่รัฐบาลแจ้งให้ทราบ ทั้งที่ฝ่ายข่าวความมั่นคง และ “สายข่าว” ในพื้นที่ และในประเทศมาเลเซียของเรา มีหลักฐานว่าคนเหล่านี้ “พำนัก” อยู่ที่ไหนในประเทศมาเลเซีย

ดังนั้น ในการเยือนมาเลเซียครั้งนี้ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จึงต้องได้รับคำตอบและ “คำหวาน” ที่ไม่ต่างกันจากผู้นำของประเทศมาเลเซีย ซึ่งคงมีสาระพอที่จะทำให้นายสมัคร สุนทรเวช นำมาพูดว่าเป็น “ข่าวดี” ในรายการ สนทนาภาษาสมัครในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ ทั้งที่ ท้ายที่สุด ไทยเรา ก็จะไม่ได้ผู้ต้องหาที่เราต้องการแต่อย่างใด
แฟ้มภาพ
แต่ถึงอย่างไร การเดินทางไปเยือนประเทศมาเลเซียของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ก็ถือว่ามีความจำเป็นในการที่จะต้องมีการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะหลังการเลือกตั้งของประเทศมาเลเซียครั้งล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในทางการเมือง เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านของประเทศมาเลเซีย สามารถยึดที่นั่งหรือพื้นที่ของรัฐที่ติดกับประเทศไทยได้ทั้ง 5 รัฐด้วยกัน

หากถามใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือ “กูรู” ที่รอบรู้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างมีความหวั่นวิตกต่อการที่พรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคปาส ที่มีอิทธิพลใน 5 รัฐที่ติดกับชายแดนไทยตั้งแต่ อ.เบตง จ.ยะลา จนถึง อ.เมือง จ.สตูล ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งทางตรง และ ทางอ้อม

เพราะเป็นเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า กลุ่มก่อการร้ายทุกกลุ่ม ที่ปฏิบัติการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มี “ที่มั่น” ในรัฐต่างๆ ที่พรรคฝ่ายค้านของมาเลเซียมีอิทธิพล และแกนนำคนสำคัญๆ ของขบวนการต่างอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย เมื่อพื้นที่แนวชายแดนทั้งหมดของไทย ติดอยู่กับพื้นที่ ซึ่งบริหารจัดการโดยพรรคฝ่ายค้านของมาเลเซีย เท่ากับว่า กลุ่มก่อการร้าย มีพื้นที่เคลื่อนไหว วางแผน หลบซ่อน ได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการลำเลียง อาวุธยุทโธปกรณ์ หรือวัตถุระเบิดจากประเทศมาเลเซีย จะทำได้ง่ายขึ้น

ล่าสุด รายงานข่าวจากหน่วยข่าวความมั่นคง ได้รายงานว่า ขบวนการบีอาร์เอ็น มีการประชุมกลุ่มแกนนำระดับสูงในสถานที่แห่งหนึ่งใน อ.ปาเสมัส รัฐกลันตัน ซึ่งในรายงานข่าวระบุชื่อ บุคคลที่เป็นแกนนำด้านปลุกระดมจากประเทศมาเลเซียที่นำกลุ่มอุสตาซจำ นวน 100 คน เพื่อข้ามพรมแดนเข้ามาสมทบกับอุสตาซในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ 5-7 คน เพื่อปฏิบัติการปลุกระดม หรือ โฆษณาชวนเชื่อ เพื่อหามวลชนมาทดแทน กำลังส่วนหนึ่งที่สูญเสียจากการ ตรวจค้น จับกุมจากฝ่ายเจ้าหน้าที่

และสิ่งสำคัญ มีการระบุชื่อบุคคลสำคัญจำนวน 3 คน ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นั้นคือนายเจ๊ะกูแม ปูเต๊ะ ซึ่งเป็นอดีตประธานขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มมือรับจ้าง ก่อความไม่สงบ ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เจ๊ะกูแม ปูเต๊ะ ถูกรัฐบาลมาเลเซีย นำตัวไป กักบริเวณในเรือนจำแห่งหนึ่งในรัฐเปรัค ก่อนที่จะส่งออกนอกประเทศ แทนการส่งตัวให้กับรัฐบาลไทย ตามคำขอของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะนั้น ส่วนบุคคลอีก 2 คน ที่ปรากฏในรายงานข่าว ที่ควรแก่การสนใจคือ นายอาแว แฆและ หรือ นอซารี เซ๊ะเซ๊ง และนาย มะแซ อุเซ็ง

การปรากฏตัวของแกนนำทั้งหมด เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง ที่พรรครัฐบาลฝ่ายแพ้และเสียที่นั่งใน 5 รัฐ ให้กับพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งถือเป็นนัยยะที่สำคัญ เพราะก่อนหน้านี้ เจ๊ะกูแม ปูเต๊ะ และ อาแว แฆและ ไม่เคยปรากฏตัว เพื่อประชุมร่วมกับแกนนำระดับสูง เพราะคำสั่งของรัฐบาลกลางมาเลเซีย ที่ขอร้องแกมข่มขู่ มิให้กลับเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองการก่อการร้ายในพื้นที่ของประเทศมาเลเซีย เพื่อรักษาคำพูดที่เคยรับปากกับรัฐบาลไทยไว้ แต่หลังจากที่ รัฐบาลกลางมาเลเซียพล้ำต่อพรรคฝ่ายค้าน คนเหล่านี้ก็ปรากฏตัว และร่วมประชุมวางแผนการก่อการร้ายอย่างเปิดเผยอีกครั้ง

สิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามความเคลื่อนไหว รวมทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ต้องมีนโยบายป้องกันแนวชายแดนที่ชัดเจน เพื่อสกัดกั้นมิให้ แกนนำ แนวร่วม ขบวนการเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระ เพราะไม่ว่ายุทธวิธีการ ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ยึดพื้นที่ จะได้ผลเพียงไหนก็ตาม แต่ถ้าแนวชายแดน ตั้งแต่ จ.สตูล จนถึง อ.เบตง จ.ยะลา ยังคงเปิดโล่งตลอดแนว การที่จะยุติการก่อการร้าย ไม่มีทางที่จะกระทำได้สำเร็จ

การเดินทางไปเยือนประเทศมาเลเซียของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นเพียงการใช้ “การเมือง” เข้าไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศเท่านั้น แต่วันนี้ การเมืองใน มาเลเซีย กำลังเป็นปัญหาใหญ่ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งสภาพของนายกรัฐมนตรี อับดุลาห์ อาหมัด บาดาวี ของประเทศมาเลเซีย กับสภาพของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีไทย ต่างอยู่ในสถานะที่ “ง่อนแง่น” ไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นการเจราจาความเมือง โดยเฉพาะปัญหา ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นเพียง “ลมที่พัดผ่าน” บนโต๊ะเจรจาเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น