xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญ “ซูฮก”ไทยเดินหน้าทดลอง‘วัคซีนเอดส์’แม้22นักวิทย์ชื่อดัง‘ค้าน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มารักษาที่วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี
เอเจนซี – เผยเบื้องลึกโครงการศึกษาวัคซีนทดลองเอดส์ของทีมนักวิจัยไทย-สหรัฐฯ จนกระทั่งกลายเป็นครั้งแรกของโลกที่พบว่าช่วยมนุษย์ป้องกันเชื้อเอชไอวี ได้เคยถูกคัดค้านหนักจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง และต้องเดินหน้าไปท่ามกลางเสียงโต้แย้งอย่างรุนแรง โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การที่โครงการประสบความสำเร็จจนได้ในที่สุดนั้น ต้องยกเครดิตให้แก่ฝ่ายไทยกันเต็มๆ

การทดลองคราวนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของสหรัฐฯจำนวนถึง 22 คนเมื่อปี 2004 สืบเนื่องจากเป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า วัคซีนนี้จะไม่ได้ผลอะไร

นักวิทยาศาสตร์ดังๆ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ คนหนึ่งได้แก่ ดร.รอเบิร์ต แกลโล แห่งสถาบันไวรัสวิทยามนุษย์ (Institute of Human Virology) ในเมืองบัลติมอร์ ผู้มีบทบาทช่วยค้นพบเชื้อไวรัสโรคเอดส์ พวกเขา 22 คน ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อความกล่าวหารัฐบาลสหรัฐฯว่าเสียเงินงบประมาณเปล่าๆ มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ จากการให้ทุนสนับสนุนโครงการทดลองนี้

ทว่าพวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านสาธารณสุขของไทย และพวกผู้ร่วมงานในสหรัฐฯ ณ สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ (National Institutes of Health) และสถาบันวิจัยกองทัพบก วอลเตอร์ รีด (Walter Reed Army Institute of Research) ยังคงเดินหน้าให้มีการทดลอง ซึ่งใช้อาสาสมัครชาวไทยราว 16,000 คน

“มันเป็นการตัดสินใจที่ลำบากมาก ผมดีใจที่เราทำการทดลองกันจนได้” ดร.แอนโธนี ฟาวซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าว เขาเป็นผู้หนึ่งที่ไม่ฟังเสียงวิจารณ์และให้เดินหน้าการทดลองต่อไป

วัคซีนที่ใช้ในการทดลองคราวนี้ เป็นการผสมผสานวัคซีน 2 ชนิดที่เคยทดลองและประสบความล้มเหลวไปก่อนแล้ว ได้แก่ วัคซีน ALVAC canary pox/HIV ของบริษัทซาโนฟี-ปาสเตอร์ และวัคซีน AIDSVAX ที่ทำขึ้นโดยบริษัทในซานฟรานซิสโกซึ่งมีชื่อว่า แวกซ์เจน และบัดนี้ตกเป็นขององค์กรไม่หวังผลกำไรที่ใช้ชื่อว่า Global Solutions for Infectious Disease

“การทดลองคราวนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก ในปี 2004 พวกนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของสหรัฐฯได้เขียนจดหมายไปถึงวารสาร “ไซน์ส” (Science) บอกว่าไม่ควรจะทดลองหรอก เพราะวัคซีนเหล่านี้ได้รับการทดลอบมาก่อนแล้ว โดยพบว่าไม่ได้กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันชนิดที่ถูกต้องเหมาะสมเลย” โดนัลด์ เบิร์ก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก เล่า

“แต่เมื่อคำนึงถึงความสำคัญของโรคเอดส์ จึงมีการตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อไปโดยไม่สนใจกับเสียงวิจารณ์ มันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ก็เป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญ” เบิร์กกล่าวต่อ เขาเคยเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยโรคเอดส์ที่วอลเตอร์ รีด ก่อนจะเกษียณอายุในปี 1997

เบิร์กได้แยกเชื้อไวรัสเอดส์ ที่นำมาจากทหารหนุ่มไทยคนหนึ่งที่ติดเชื้อเอชไอวีในปี 1989 ภายหลังที่คณะแพทย์ทหารของไทยพบว่ามีการระบาดของเชื้อเอชไอวีในหมู่ทหารเกณฑ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ตัวอย่างไวรัสดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในไวรัสพื้นฐานของวัคซีนทดลอง เบิร์กเล่าต่อ

“ถ้าผมจะยกย่องให้เครดิตแก่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงกลุ่มเดียวแล้ว ก็จะต้องเป็นกระทรวงสาธารณสุขของไทย เพราะมันเป็นการทดลองในประชาชนคนไทย” เขากล่าว

โครงการทดลองมูลค่า 105 ล้านดอลลาร์นี้ อุปภัมภ์โดยรัฐบาลสหรัฐฯ และผลลัพธ์ที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า วัคซีนผสมนี้สามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ 31.2% จากการทดลองกับอาสาสมัคร 16,402 คนในช่วงเวลา 3 ปี

“ต้องยกย่องคนไทยที่สามารถสร้างผลงานอันโดดเด่นในเรื่องนี้” ดร.อีริก ชูเมกเกอร์ แพทย์ใหญ่แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าว “พวกเขาทำงานอันโดดเด่นในการหาอาสาสมัคร และในการดำเนินการทดลองคราวนี้อย่างแทบไม่มีข้อบกพร่องเลย”

ผลลัพธ์อันน่าประหลาดใจจากการทดลองคราวนี้ ถือเป็นชัยชนะอีกครั้งหนึ่งสำหรับประเทศไทย ซึ่งได้ต่อสู้กับโรคร้ายที่เคยทำท่าคุกคามจะระบาดใหญ่จนควบคุมไม่อยู่เมื่อราว 20 ปีมาแล้ว

ตามข้อมูลขององค์การยูเอ็นเอดส์ ในปี 1991 ผู้ติดยาเสพติดที่ใช้เข็มฉีดยามีการติดเชื้อเอชไอวีสูงถึง 30-50% และในปี 1994 หญิงบริการทางเพศก็ติดเชื้อร้ายนี้ในระดับ 33.2%

รัฐบาลไทยได้ตอบโต้เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1990 ด้วยการดำเนินโครงการรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์กันอย่างเอิกเกริก โดยมีทั้งการให้การศึกษาแก่สาธารณชน, การปรับปรุงวิธีรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, การทำให้ชายไม่อยากไปใช้บริการโสเภณี, การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย, และการกำหนดให้ผู้ขายบริการทางเพศต้องรับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

ปรากฏว่าอัตราการติดเชื้อเอดส์ได้ลดฮวบลงมา และวิธีการของไทยก็ยังคงได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวางจนถึงทุกวันนี้จากพวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ว่าเป็นแบบจำลองหนึ่งในการป้องกันโรคร้ายนี้ –ถึงแม้ว่าในระยะไม่กี่หลังมานี้ มีสัญญาณแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อกำลังเริ่มเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงบางกลุ่ม เป็นต้นว่า ชายรักร่วมเพศ และชายที่มีเพศสัมพันธ์กับทั้งสองเพศ
กำลังโหลดความคิดเห็น