เอเอฟพี - นานาประเทศมีความคาดหวังอันสูงยิ่งต่อตัวประธานาธิบดีบารัค โอบามา เจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 20 ที่เมืองพิตส์เบิร์กในสัปดาห์นี้ ทว่าผู้นำสหรัฐฯ ก็กำลังถูกปัญหานานัปการภายในประเทศถาโถมเข้าใส่จนออกอาการป้อแป้ และและอาจล้มเหลวในการใช้บารมีที่เคยมีเมื่อครั้งรับตำแหน่งใหม่ๆ ผลักดันวาระต่างๆ ของการประชุมคราวนี้ให้บรรลุผลสำเร็จ
การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่รายใหญ่ๆ ของโลก หรือกลุ่มจี 20 ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นในวันพฤหัสบดี (24) ที่เมืองพิตส์เบิร์ก ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย ถือเป็นการเปิดตัวประธานาธิบดีโอบามาในฐานะเป็น “เจ้าภาพ” จัดการประชุมสุดยอดระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อต้นปี นอกจากนั้น การประชุมสุดยอดครั้งนี้ยังถูกมองว่าจะเป็นเวทีที่ผู้นำสหรัฐฯจะเค้นเอาความนิยมชมชอบที่มีต่อตัวเขาในต่างประเทศ และบารมีทางการเมืองมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการผงาดขึ้นสู่สถานะผู้นำระดับโลกอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม โจนาธาน อัลเทอร์แมน นักวิเคราะห์จากศูนย์ศึกษาด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ หรือซีเอสไอเอส ในกรุงวอชิงตัน ออกมาระบุวานนี้ (20)ว่า สถานะของโอบามาในเวลานี้แตกต่างเป็นอย่างมากกับเมื่อครั้งที่เขาเปิดตัวต่อเวทีโลกครั้งแรก ในการประชุมสุดยอดจี 20 ที่กรุงลอนดอนเมื่อเดือนเมษายน
อัลเทอร์แมนชี้ว่า ระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา คะแนนนิยมของโอบามาถูกกัดกร่อนจากปัญหาภายในประเทศมากมาย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ การผลักดันร่างกฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการปฏิรูปการกำกับตรวจสอบภาคการเงิน จนทำให้คะแนนนิยมของเขาจากการสำรวจของ “แกลลัป โพล” ร่วงลงมาเหลือเพียงร้อยละ 51 เท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับโอบามาในการสรรค์สร้างบรรยากาศของการประชุมจี 20 ให้ประเทศอื่นๆ ยังคงมองสหรัฐฯ ว่าเป็นชาติที่มีผู้นำที่ยังเป็นที่นิยมชมชอบและยังเหลือบารมีมากพอที่จะผลักดันให้ทุกประเทศเต็มใจก้าวเดินตามทิศทางการประชุมที่สหรัฐฯ เป็นผู้กำหนด
ไม่เพียงแต่ปัญหาภายในประเทศเท่านั้น ในช่วงที่ผ่านมาโอบามายังประสบกับความยุ่งยากอีกหลายประการในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เช่น การที่ยังไม่สามารถผลักดันให้อิสราเอล และปาเลสไตน์ยอมเปิดการเจรจาสันติภาพรอบใหม่ทั้งที่โอบามาใช้แรงกดดันทางการทูตอย่างมหาศาลต่อเรื่องนี้ หรือการที่รัฐบาลอิหร่านยังคงไม่ตอบสนองต่อท่าทีของโอบามาที่ประกาศชัดเจนมาหลายเดือนว่า พร้อมเจรจากับอิหร่านในทุกเรื่อง รวมทั้งการสั่งขึ้นภาษีตอบโต้การนำเข้ายางรถยนต์ราคาถูกจากจีน เมื่อสัปดาห์ก่อน และการมีแนวคิดส่งทหารอเมริกันไปอัฟกานิสถานเพิ่มเติม ทั้งที่ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ “เอือมระอา” กับสงครามครั้งนี้เต็มทีแล้วก็ตาม
จากมรสุมทั้งในบ้านและนอกบ้านที่ถาโถมเข้าใส่โอบามานี้เอง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งกำลังออกอาการป้อแป้ จะยังเป็นที่ยำเกรงและเป็น “แสงแห่งความหวัง” ให้ประเทศต่างๆ ได้ต่อไปหรือไม่ เนื่องจากเริ่มมีสัญญาณบอกเหตุบางประการว่า บารมีของโอบามาอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว
โดยเฉพาะในประเด็นการจ่ายเงินโบนัสและค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งชาติในยุโรปส่วนใหญ่มีจุดยืนที่ต้องการให้กำหนดเพดานเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้มีบทลงโทษในกรณีไม่ปฏิบัติตาม ขณะที่โอบามาแม้เห็นด้วยว่า ต้องยุติ “การเสี่ยงแบบคิดเพียงลวกๆ และการไร้ความรับผิดชอบ” ในแวดวงการเงินโลก แต่ก็ยังไม่เห็นด้วยกับวิธีออกระเบียบควบคุม
นอกจากนั้น โอบามาอาจต้องเผชิญหน้ากับบรรดาผู้นำชาติในเอเชียและยุโรปที่เศรษฐกิจหลุดพ้นจากภาวะถดถอยไปแล้ว และเริ่มส่งเสียงดังที่จะให้ “ลดเลิก” มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่สหรัฐฯ และอีกหลายชาติคิดว่ายังไม่พร้อม