xs
xsm
sm
md
lg

แต่งตั้ง‘ทายาท’เกาหลีเหนือมี‘หักมุม’เสียแล้ว

เผยแพร่:   โดย: อันเดรย์ ลันคอฟ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

North Korea’s succession gets twisted
By Andrei Lankov
10/09/2009

หลายๆ ปีแห่งการคาดเดากะเก็งว่าใครจะขึ้นเป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งผู้นำเกาหลีเหนือต่อจากคิมจองอิล ทำท่าว่าใกล้ได้ข้อสรุปในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อบุตรชายคนสุดท้องของเขาก้าวผงาดขึ้นสู้ฐานะผู้ที่อาจจะได้เป็น “ดวงตะวันของประเทศชาติ”ดวงใหม่ ทว่ามาถึงเวลานี้ หลังจากที่สุขภาพของ “ท่านผู้นำที่รัก” ดูจะกระเตื้องดีขึ้น การพูดจาและเพลงสรรเสริญทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับ “นายพลคิมหนุ่ม” ก็มีอันเงียบหายไปอย่างกะทันหัน

โซล – ช่วงเวลาราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา กองทัพเล็กๆ ของพวกนักเฝ้ามองเปียงยาง พากันขะมักเขม้นค้นหาสัญญาณต่างๆ ของเหตุการณ์ใหญ่ที่กำลังจะมาถึง โดยที่แทบทุกคนต่างคาดหมายว่ามันจะบังเกิดขึ้น ณ ขณะใดก็ได้ พวกเขากำลังเฝ้ารอคอยการตัดสินใจของ “ท่านผู้นำคิมจองอิลที่รัก” ในเรื่องทายาทผู้ที่จะสืบทอดอำนาจต่อจากตัวเขา แต่ทว่าในระบอบราชาธิปไตยคอมมิวนิสต์แห่งเดียวในโลกแห่งนี้ เท่าที่ผ่านมามันมีแต่สัญญาณเตือนภัยที่ไม่ถูกต้อง, กระแสข่าวลือที่ไร้การยืนยันและปล่อยกันไปปล่อยกันมา อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเมื่อช่วงกลางปีนี้ก็มีสัญญาณหลายอย่างหลายประการปรากฏออกจากโสมแดงซึ่งดูเหมือนจะยืนยันว่า มีการตัดสินใจเรื่องทายาทกันแล้วในท้ายที่สุด

รายงานข่าวกระแสแรกๆ ยังคงเป็นที่ระแวงสงสัยกันอยู่บ้าง แต่ เมื่อถึงเดือนเมษายนก็ไม่มีข้อกังขาอะไรอีกแล้ว คิมจองอุน (Kim Jong-un) บุตรชายคนสุดท้องของคิม เริ่มที่จะได้รับการอ้างอิงบ่อยครั้งขึ้นในวัสดุเอกสารโฆษณาชวนเชื่อระดับปิดลับของเกาหลีเหนือ วัสดุเอกสารเหล่านี้ชาวเกาหลีเหนือสามัญธรรมดาไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ แต่ข้อความที่มันต้องการส่งก็มีความชัดเจนมาก นั่นคือ มีการสรรเสริญคุณความความดีของคิมจองอุน “สหายผู้ฉลาดปราดเปรื่อง” ในลักษณะที่เหมาะสำหรับใช้กับผู้นำคนต่อไปเท่านั้น ดังนั้น คิมจองอิลก็ตัดสินใจได้แล้วในที่สุดเรื่องทายาทสืบทอดอำนาจ –หรืออย่างน้อยที่สุดนั่นก็เป็นสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่เชื่อถือกัน

แต่แล้วเมื่อถึงเดือนสิงหาคม สถานการณ์ก็กลับเกิดการหักเหอย่างไม่คาดหมาย มาถึงวันนี้ ลู่ทางโอกาสที่จะมีการถ่ายโอนอำนาจไปให้แก่คิมจองอุน กลับดูห่างไกลความแน่นอนยิ่งกว่าเมื่อ 1 เดือนก่อนเป็นอันมาก

ถึงแม้ปัจจุบันชายแดนเกาหลีเหนือมีความโปรงใสขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่ก็ยังต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าที่โลกภายนอกจะเรียนรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในดินแดนโสมแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการปลุกระดมโฆษณาที่จัดขึ้นสำหรับพวกเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ซึ่งกระทำกันอย่างปิดลับ (สำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงขึ้นไปนั้น การรักษาความลับดูจะมีความเข้มงวดกวดขันหนักขึ้นไปอีก และดังนั้น โอกาสที่จะรั่วไหลสู่ภายนอกก็ยิ่งแทบไม่ปรากฏ)

ปรากฏว่ามีนักหนังสือพิมพ์หัวเซ็งลี้ สามารถลักลอบนำวัสดุเอกสารปิดลับสำหรับพวกนักปลุกระดมโฆษณาของฝ่ายทหารเกาหลีเหนือที่จัดทำขึ้นในเดือนกรกฎาคม ออกมาเผยแพร่ในเกาหลีใต้ วัสดุเอกสารดังกล่าวพูดถึงอำนาจบารมีดึงดูดใจของ “นายพลคิมหนุ่ม” อีกทั้งเรียกเขาว่าเป็น “อัจฉริยะด้านกิจการทหาร” วัสดุเอกสารเหล่านี้อธิบายยุทธศาสตร์ของ “นายพลคิมหนุ่ม” ว่าเป็น “ยุทธศาสตร์แห่งการสร้างความตื่นตระหนกและการรุกโจมตี” และบอกกับบรรดาผู้ฟังว่า ความห้าวหาญของ “นายพลหนุ่ม” ทำให้พวกศัตรู (เห็นชัดว่าหมายถึงสหรัฐฯ) รู้สึกงุนงงประหลาดใจไปตามๆ กัน

มีการพูดเป็นนัยๆ ว่า การปล่อยขีปนาวุธในเดือนเมษายน และการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในเดือนพฤษภาคม คือการประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ๆ อันหลักแหลมซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยคิมจองอุนคนนี้นี่เอง

ขณะเดียวกัน เหล่าสมาชิกของสหภาพเยาวชนคอมมิวนิสต์ (Communist Youth Union) ของเกาหลีเหนือ ก็ได้รับคำชี้แนะให้ร้องเพลง “รอยเท้า” (Footsteps) อันเป็นเพลงใหม่ที่สรรเสริญคุณงามความดีของนายพลหนุ่มที่ไม่มีการระบุชื่อ แค่บอกแซ่ว่าแซ่คิม แต่ชาวเกาหลีเหนือย่อมสามารถรับรู้ข้อความที่ต้องการส่งมาได้อย่างไม่ยากเย็น ยิ่งในเมื่อนายพลคิมที่กล่าวถึงในเพลงนี้ มีคำคุณศัพท์ว่า “หนุ่ม” ติดมาด้วย ซึ่งแตกต่างจากพวกเพลงอื่นๆ ที่ปกติแล้วหมายถึง “นายพลคิม” ที่แก่กว่าอีก 2 คน อันได้แก่ คิมอิลซอง(บิดาของคิมจองอิล) และคิมจองอิล ดังนั้นบุคคลที่กล่าวถึงในเพลงนี้จึงต้องเป็นคิมคนใหม่

พวกเจ้าหน้าที่ของสหภาพเยาวชนคอมมิวนิสต์ยังได้รับการบอกกล่าวว่า การรณรงค์ “150 วันประจันบาน” (150 days battle การรณรงค์นี้เป็นการปลุกระดมใช้แรงงานตามแบบสไตล์เหมาเจ๋อตุง ซึ่งในโสมแดงปัจจุบันมีการปลุกระดมเช่นนี้อยู่เป็นประจำ) ก็มีคิมจองอุนเป็นผู้บริหารจัดการเช่นกัน และดังนั้นจึงแน่นอนว่าจะต้องเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จอันใหญ่โต

น่าสนใจที่ว่า วัสดุเอกสารจากเกาหลีเหนือเหล่านี้ รายงานว่าคิมจองอุนมีอายุ 30 ปี เห็นได้ชัดว่าเป็นความพยายามปิดจุดอ่อนในประเทศที่อยู่ในอิทธิพลลัทธิขงจื้อมานมนาน จนกระทั่งยังรับได้ยากกับความคิดที่ว่าทายาทผู้สืบทอดอำนาจยังมีอายุเพียงแค่ 26 ปี

กระนั้นก็ดี สำหรับสื่อมวลชนเกาหลีเหนือที่ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงแล้ว ไม่มีการอ้างอิงพาดพิงถึงชื่อของคิมจองอุนเลย อย่าว่าแต่การพูดถึงเรื่องที่เขาจะได้ขึ้นเป็นทายาทสืบทอด การโฆษณาชวนเชื่อที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่กระทำกันอย่างปิดลับ โดยที่เป้าหมายหากไม่ใช่บุคลากรทางทหาร (ส่วนใหญ่จะเป็นนายทหาร) ก็เป็นพวกนักเคลื่อนไหวของสหภาพเยาวชนของพรรค หากจะมีชาวเกาหลีเหนือธรรมดาสามัญสักคนได้ยินเรื่องคิมจองอุนจะได้เป็นทายาทขึ้นมา ก็คงไม่ทราบอยู่ดีว่าคนๆ นี้เป็นใคร แม้บางทีอาจจะได้ยินได้ฟังกันจากแถวๆ ตลาด ซึ่งพวกพ่อค้าแม่ค้าจะสนอกสนใจพูดจาแลกเปลี่ยนข่าวลือต่างๆ ที่ส่วนใหญ่แพร่ผ่านเข้ามาอีกทอดจากต่างแดน

อย่างไรก็ตาม ประมาณ 1 เดือนที่แล้วการรณรงค์ในเรื่องนี้ทั้งหมดก็เงียบหายไปอย่างกะทันหัน แหล่งข่าวหลายรายภายในเกาหลีเหนือรายงานว่า ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ชื่อของคิมจองอุนก็ไม่มีให้ได้ยินกันอีก แม้กระทั่ง “รอยเท้า” อันเป็น “เพลงเพื่อการโปรโมต” ของเขา ก็หยุดร้องหยุดเล่นกันอย่างฉับพลัน เวลานี้ผู้คนได้รับคำชี้แนะว่าอย่าเพิ่งร้องเพลงนี้อย่างน้อยที่สุดก็สักระยะหนึ่ง การรณรงค์ “150 วันประจัญบาน” ยังดำเนินต่อไป ทว่าไม่ได้มีการอ้างอีกแล้วว่าเป็นฝีมืออันเฉียบขาดระดับอัจฉริยะด้านการบริหารจัดการของคิมจองอุน

ไม่มีคำอธิบายใดๆ ในเรื่องนี้ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเกาหลีเหนือ ในประเทศอื่นๆ เหตุการณ์หักมุมขนาดนี้จะต้องก่อให้เกิดกระแสข่าวลือสนั่นหวั่นไหว ทว่าชาวเกาหลีเหนือตระหนักดีว่าเรื่องของการสืบทอดอำนาจ (ตลอดจนเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและสุขภาพของท่านผู้นำที่รัก) นั้นเป็นเรื่องอันตรายเกินกว่าที่จะมาพูดจาถกเถียงกันหรือกระทั่งเอ่ยอ้างถึง

เมื่อไม่กี่วันก่อน “เกาหลีเหนือวันนี้” (North Korea Today) จดหมายข่าวรายสัปดาห์ของกลุ่ม “กู๊ด เฟรนด์ส” (Good Friends) ได้รายงานเอาไว้ว่า พวกเจ้าหน้าที่พรรคระดับท้องถิ่นได้รับ “คำชี้แนะของคณะกรรมการกลาง” ชุดหนึ่งที่พูดถึงประเด็นปัญหาเรื่องทายาทสืบทอดอำนาจ แม้รายงานข่าวนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ในขณะนี้ แต่ความน่าเชื่อถือในการรายงานข่าวที่ผ่านมาของ “กู๊ด เฟรนด์ส” ต้องถือว่าน่าประทับใจทีเดียว มีอยู่หลายๆ ครั้งที่พวกเขาเป็นเจ้าแรกที่เสนอรายงานซึ่งทรงความสำคัญอย่างยิ่ง

ตามรายงานข่าวดังกล่าวข้างต้น คำชี้แนะล่าสุดของคณะกรรมการกลางพรรค (เห็นได้ชัดว่าออกมาตอนปลายเดือนสิงหาคม) อธิบายว่า ยังเป็นการเร็วเกินไปที่จะหารืออภิปรายกันในประเด็นปัญหาทายาทผู้สืบทอดอำนาจ ทั้งนี้คณะกรรมการกลางพรรคยืนยันว่า ท่านผู้นำที่รักยังคงมีสุขภาพดีเยี่ยม และยังสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ไปได้อีกยาวนาน ด้วยเหตุนี้ คำชี้แนะจึงบอกต่อไปว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทางการเมืองเลยที่จะไปสนอกสนใจในประเด็นปัญหาทายาท

ค่อนข้างกระจ่างชัดทีเดียวว่า การเตรียมเลื่อนตำแหน่งให้แก่คิมจองอุนได้ถูกยับยั้งเสียแล้ว แน่นอนว่าในที่สุดแล้วมันอาจจะเริ่มต้นขึ้นมาใหม่ได้อีก ทว่าคงจะไม่เกิดขึ้นไปอีกสักพักหนึ่งทีเดียว การตัดสินเรื่องทายาทได้ถูกพับเก็บเข้าหิ้งอีกครั้งหนึ่งเสียแล้ว การหักมุมอย่างไม่คาดหมายเช่นนี้มีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง? ไม่มีใครหรอกที่สามารถให้คำตอบแก่คำถามนี้ด้วยความมั่นใจจริงๆ แม้อาจจะพอคาดเดากันได้อยู่บ้าง

มีการทึกทักคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า คิมจองอิลต้องการที่จะสานต่อประเพณีการสืบทอดราชวงศ์ที่ริเริ่มขึ้นโดยบิดาของเขา ดังนั้นสักวันหนึ่งเขาก็จะตั้งบุตรของเขาคนหนึ่งขึ้นมาเป็น “ดวงตะวันของประเทศชาติ” ดวงต่อไป อย่างไรก็ดี การทึกทักเช่นนี้ไม่ได้มีหลักฐานรองรับสนับสนุน ตรงกันข้าม มีเหตุผลหลายประการด้วยซ้ำที่น่าจะทำให้คิมจองอิลไม่กระตือรือร้นนักที่จะแต่งตั้งบุตรหลานขึ้นเป็นทายาท

หากเขาต้องการทำเช่นนั้นจริงๆ เขาก็ควรแต่งตั้งไปตั้งแต่เมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว ตัวคิมจองอิลเองกลายเป็นทายาทผู้เตรียมสืบทอดอำนาจในปี 1972 ตอนที่บิดาของเขาอายุย่างเข้า 60 ปี และในปี 1980 การแต่งตั้งนี้ก็ผ่านออกมาเป็นกฎหมายโดยที่ประชุมสมัชชาพรรค

เวลานี้คิมจองอิลไม่เพียงอายุมากกว่าบิดาของเขาในปี 1972 แต่สุขภาพของเขายังอ่อนแอกว่าอย่างเห็นได้ชัด แม้กระทั่งภาพถ่ายที่ทางการเกาหลีเหนือนำออกเผยแพร่ก็ยังฟ้องให้เห็นเช่นนั้น และดูจะเป็นเรื่องชัดเจนว่าเมื่อราวๆ 1 ปีที่แล้วเขาต้องรับการเยียวยารักษาทางการแพทย์อย่างฉุกเฉิน (อาจจะเนื่องจากมีอาการเส้นโลหิตในสมองแตกอย่างฉับพลัน) กระนั้นก็ตาม ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ในเรื่องการแต่งตั้งทายาท จวบจนกระทั่งเมื่อมาถึงต้นปีนี้

เราอาจจะหาเหตุผลต่างๆ ได้จำนวนหนึ่งเพื่ออธิบายถึงการลังเลเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น เป็นไปได้ที่คิมจองอิลมีความสงสัยข้องใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความสามารถของผู้ที่อาจขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ได้เท่าที่มีให้คัดเลือกอยู่ในเวลานี้ นอกจากนั้นเรายังไม่อาจละเลยอิทธิพลของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายต่างๆ ในเกาหลีเหนือที่ยังคงดำเนินอยู่ และฝ่ายที่เป็นคู่แข่งกันก็ต้องพยายามสกัดกั้นการแต่งตั้งผู้ที่เป็นตัวเก็งของอีกฝ่ายหนึ่ง

สุดท้ายแล้ว เรายังไม่สามารถบอกปัดคำอธิบายว่าคิมจองอิลไม่ได้ต้องการคงประเพณีการสืบทอดตำแหน่งโดยสายเลือดเอาไว้เลย คำอธิบายดังกล่าวนี้ไม่ใช่ถึงกับเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย เราต้องไม่ลืมว่าเขาตระหนักเป็นอย่างดีที่สุดเกี่ยวกับภาวะอันแสนสลดหดหู่ของประเทศของเขา และดังนั้นจึงอาจสงสัยว่าอีกไม่นานระบบก็คงจะยืนยาวต่อไปไม่ไหวและต้องระเบิดยุบตัวลงมา

การเป็นคนที่รักครอบครัวอาจทำให้เขาเห็นแก่ผลประโยชน์ของครอบครัวของเขายิ่งกว่าของระบอบปกครองของเขา คิมจองอิลอาจต้องการให้แน่ใจว่าครอบครัวของเขาจะต้องไม่เป็นผู้ควบคุมประเทศในขณะที่ระบบของเกาหลีเหนือพังครืนลงมา ถ้าหากลูกของเขาและหลานของเขาเผชิญกับการล่มสลายอันหลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ในฐานะที่เป็นพลเมืองผู้อยู่นอกแวดวงการปกครองประเทศ พวกเขาก็ย่อมมีโอกาสสูงกว่ามากที่จะยังรักษาชีวิตเอาไว้ได้ และหากมีโชคเอื้ออำนวยกันบ้าง ก็กระทั่งอาจจะรักษาทรัพย์สมบัติของพวกเขาเอาไว้ได้เป็นบางส่วน

สิ่งที่พูดนี้เป็นการกะเก็งคาดเดา กระนั้นมันก็มีสิ่งที่เห็นชัดเจนอยู่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งที่กระจ่างชัดก็คือ คิมจองอิลอยู่ในสภาพลังเลไม่ตัดสินใจเสียทีในเรื่องทายาทผู้สืบทอด การแต่งตั้งคิมจองอุนได้รับการยืนยันในเดือนมกราคม (หรืออาจจะก่อนหน้านั้นเล็กน้อย) ในเวลาเดียวกับที่ว่ากันว่าคิมจองอิลล้มป่วยหนัก เราอาจจะเดากันว่าการตัดสินในเรื่องนี้เป็นเพราะเขาถูกบีบคั้นจากพวกลูกน้องบริวารของเขา ทั้งนี้เพราะตัวเลือกอย่างคิมจองอุนจะเป็นผลประโยชน์ที่สุดแก่คนเหล่านี้อย่างชัดเจน

การแต่งตั้งคนที่อายุน้อยที่สุดและขาดประสบการณ์ที่สุดในบรรดาตัวเก็งที่เข้ารอบทั้งหลาย ย่อมเป็นหลักประกันในทางเป็นจริงว่า ถ้าคิมจองอิลล้มหายตายจากไป คิมจองอุนก็จะกลายเป็นหุ่นเชิดที่เชื่องเชื่อ ซึ่งพวกบริวารเก่าแก่สามารถชักใยได้อย่างไม่ยากเย็น อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าหลังจากที่ยินยอมตามแรงกดดันของพวกเจ้าหน้าที่ของเขาอยู่พักหนึ่ง คิมจองอิลก็ได้เปลี่ยนใจในทันทีที่สุขภาพของเขากระเตื้องขึ้น

เราไม่สามารถที่จะทำนายได้ว่า “เรื่องราวเกี่ยวกับคิมจองอุน” จะมีการพัฒนาต่อไปอย่างไร กระนั้นก็ดี เหตุการณ์เรื่องนี้ทั้งหมดก็ควรที่จะเตือนให้เราระลึกไว้ว่า จำเป็นจะต้องระมัดระวังเมื่อมาถึงประเด็นปัญหาทายาทผู้สืบทอดอำนาจ

เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันที่จะต้องจดจำไว้ว่า การตัดสินใจเรื่องผู้สืบทอดยังสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาได้อย่างง่ายดาย จนกว่าชื่อของทายาทผู้นั้นจะไปปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์โรดงชินมุน (Nodon Sinmun) ที่เป็นกระบอกเสียงของพรรค ตลอดจนสื่อทางการอื่นๆ แต่ถ้าหากชื่อของทายาทเพียงแค่ปรากฏอยู่ในการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อสำหรับพวกระดับเจ้าหน้าที่ล้วนๆ แล้ว มันก็ยังเป็นไปได้ (และก็ไม่ได้ยากลำบากอะไรนักด้วย) ที่จะยุติการรณรงค์เสีย

การเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจจะกลายเป็นเรื่องลำบากกว่ากันมาก ในทันทีที่มีการแจ้งต่อสาธารณชนและกลายเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในประเด็นเรื่องทายาทผู้สืบทอดอำนาจของเกาหลีเหนือแล้ว ถ้าหากยังไม่ปรากฏอยู่บนหน้าหนึ่งของโรดงชินมุน มันก็ยังไม่ใช่เรื่องที่สามารถเชื่อถือได้อย่างเด็ดขาดเต็มร้อย

อันเดรย์ ลันคอฟ เป็นรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยคุคมิน ในกรุงโซล และเป็นนักวิจัยของสถาบันวิจัยด้านแปซิฟิกและเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเลนินกราด ในด้านประวัติศาสตร์ตะวันออกไกลและจีน โดยเน้นหนักเรื่องเกาหลี เขามีผลงานตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มและบทความหลายชิ้นในหัวข้อเกี่ยวกับเกาหลีและเอเชียเหนือ
กำลังโหลดความคิดเห็น