เอเจนซี - รัฐบาลไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงอันเข้มงวดอีกครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้ (15) เพื่อเปิดโอกาสให้ทหารสามารถเข้ามาควบคุมการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่อาจจะเป็นไปได้สืบเนื่องจากการประท้วงครั้งนี้
กฏหมายความมั่นคงฉบับดังกล่าว เปิดทางให้ใช้ทหารเพื่อจำกัดความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง และสามารถดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้อย่างรวดเร็ว หากมีเหตุรุนแรงระหว่างการประท้วง ซึ่ง “กลุ่มคนเสื้อแดง” จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกยึดอำนาจ โดยที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงประกาศจะดำเนินการชุมนุมขับไล่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คนปัจจุบันโดยสงบ และไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อยั่วยุให้เกิดเหตุวุ่นวายก็ตาม
สำนักข่าวรอยเตอร์ โดย นายมาร์ติน เพตตี้ ได้จัดทำรูปแบบสถานการณ์ที่อาจจะเป็นไปได้รูปแบบต่างๆ สืบเนื่องจากการชุมนุมในวันเสาร์ (19) นี้ รวมทั้งสิ้น 4 รูปแบบ ดังนี้คือ
**เกิดการประท้วง แต่ผ่านพ้นไปโดยไม่มีเหตุรุนแรง**
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ระบุว่า การชุมนุมประท้วงโดยสงบน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจากในเวลานี้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศได้ 9 เดือน กำลังประสบกับปัญหาความแตกแยกภายในอย่างหนัก ทั้งจากบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล และความแตกแยกจากภายในพรรคประชาธิปัตย์ของตัวนายกรัฐมนตรีเอง ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าลำพังปัญหาภายในของรัฐบาลชุดนี้ก็ได้ทำให้อนาคตของรัฐบาลง่อนแง่นอย่างถึงที่สุดแล้ว ขณะที่ทางกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งมีชื่อเรียกตัวเองอย่างเป็นทางการว่า กลุ่ม “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ” ก็ได้ตระหนักถึงความผิดพลาดของตนจากการยั่วยุให้เกิดเหตุรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่มคนเสื้อแดงไป ดังนั้นการชุมนุมในวันเสาร์นี้น่าจะผ่านไปโดยความเรียบร้อย รูปแบบความเป็นไปได้เช่นนี้จะเป็นรูปแบบที่แทบไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินเลย
**การประท้วงรุนแรง ทหารกระโดดเข้ามา**
พวกวิพากษ์วิจารณ์ “ทักษิณ” รวมทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” ระบุว่า อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้จะต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดความรุนแรงจากการชุมนุมในวันเสาร์นี้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ ลงให้ได้ เพราะเวลาของเขาเหลือน้อยเต็มทีแล้ว
ขณะเดียวกัน ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง นายอภิสิทธิ์ กับพวกนายตำรวจระดับสูงหลายรายจากกรณีการสั่งปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก่อนการเกษียณอายุราชการเพียงไม่กี่วัน ก็อาจทำให้ต้องดึงทหารต้องเข้ามามีบทบาทในการควบคุมสถานการณ์การชุมนุม ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยที่ได้รับการสนับสนุนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และทำหน้าที่เป็นกลไกทางรัฐสภาให้กับกลุ่มคนเสื้อแดงก็ได้ออกมาเตือน ว่า การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรง เนื่องจากอาจมีผู้ประท้วงที่หัวรุนแรงบางกลุ่มไม่พอใจ หรืออาจมีกลุ่มคนที่ถูกว่าจ้างให้เข้ามาเป็นมือที่ 3 เพื่อก่อความวุ่นวายจนทางทหารอาจต้องสลายการชุมนุมหรือแม้กระทั่งการทำรัฐประหาร ถ้าหากสถานการณ์ออกมาในรูปแบบนี้จริงๆ ตลาดหลักทรัพย์ และเงินบาทของไทยน่าจะถูกการเทขายอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ไม่น่าจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น เนื่องจากการปะทะกันจะไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “ในปัจจุบัน ไม่มีกลุ่มพลังทางการเมืองสำคัญๆ ของประเทศกลุ่มใดเลย ที่มีความสามารถหรือกระทั่งเจตนารมณ์ เพื่อสร้างความสับสนให้แก่สถานการณ์น่าเป็นห่วงที่เราเผชิญอยู่ในทุกวันนี้” โรแบร์โต ฌอร์เรรา-ลิม นักวิเคราะห์แห่งยูเรเชียกรุ๊ป ให้ความเห็น “ในทัศนะของเราแล้ว นี่จะเป็นแค่เกมแห่งการรอคอย(ว่าใครจะอดทนกว่ากัน)”
**มีการปะทะเกิดขึ้น อภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา**
จากปัญหาแรงกดดันนานัปการที่มีต่อรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ทั้งจากกลุ่มคนเสื้อแดง,ความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล, ความไม่พอใจของประชาชนต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ, วิกฤตทางการเมือง , การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009, และปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดกระแสข่าวเรื่องการยุบสภาหนาหูขึ้น ถึงแม้ 2 แกนนำพรรครัฐบาล คือ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ซึ่งน่าจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเลือกตั้ง จึงคงพยายามหลีกเลี่ยงไม่เลือกวิธีนี้
นักวิเคราะห์มองว่า การยุบสภาจะไม่ส่งผลดีต่อตลาด อีกทั้งอาจมีผลทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของไทยที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีมูลค่าโดยรวมกว่า 260,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
**เกิดการปะทะกันรุนแรง ทหารทำรัฐประหาร**
แม้ข่าวลือเรื่องที่ทหารจะยึดอำนาจกำลังก่อตัวขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งเคยเกิดการทำรัฐประหารมาแล้ว 18 ครั้งตลอดระยะเวลา 77 ปี นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย จึงถือว่าเรื่องนี้ “ไม่ใช่เรื่องใหม่” แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ไม่ได้มีความบาดหมางกับทางกองทัพ และทางกองทัพเองก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ว่า จะก่อรัฐประหารอีกรอบทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะไม่เกิดการยึดอำนาจ เพราะทหารคงจะไม่เสี่ยงที่จะทำให้เสถียรภาพของประเทศไทยต้องถูกทำลายในภาวะเช่นนี้
แต่ถ้าเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง ก็จะถือเป็นรูปแบบความเป็นไปได้ที่เป็นมิตรกับตลาดน้อยที่สุด และอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ของการดิ่งอย่างสุดขั้วของตลาด เช่นเดียวกับช่วงหลังเกิดการรัฐประหารครั้งก่อนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ และจะถือเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลไทยที่เคยให้คำมั่นจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาธิปไตยในประเทศและจะขจัดการคอร์รัปชัน