xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นกำลังถอย - จีนกำลังผงาด

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

A rising sun sets
By Francesco Sisci
2/09/2009

หากการเลือกตั้งอันสำคัญยิ่งซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ ของญี่ปุ่น คือสัญลักษณ์ของย่ำสนธยาแห่งยุคสมัยที่ประเทศนี้เคยครอบงำเอเชียแล้ว วาระครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เป็นตัวแทนของอรุณรุ่งแห่งการขึ้นครองอำนาจของประเทศนี้เช่นเดียวกัน หลายสิบปีที่ผ่านมา โตเกียวคือพันธมิตรยิ่งใหญ่ของอเมริกาในภูมิภาคนี้ ได้รับอภิสิทธิ์ที่จะเข้าถึงวอชิงตันอย่างไม่อาจมีใครเทียบเท่า แต่มาบัดนี้ จากการผงาดขึ้นมาของจีน ญี่ปุ่นก็จะต้องยอมเล่นบทเป็นพระรองในเอเชีย

ปักกิ่ง –การเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน (Democratic Party of Japan หรือ DPJ) มีชัยชนะเหนือพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party หรือ LDP) ผู้ซึ่งได้ปกครองญี่ปุ่นอย่างแทบจะต่อเนื่องไม่เว้นวรรคเลยตลอด 6 ทศวรรษมานี้ นี่คือสัญญาณล่าสุดที่บ่งบอกให้ทราบว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารยิ่งที่กำลังบังเกิดขึ้นในเอเชีย

ยุคสมัยหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่มีการครองความเป็นเอกและอำนาจทางการเมืองในอาณาบริเวณแถบนี้ของญี่ปุ่นเป็นหลักหมายนั้น กำลังจบสิ้นลงอย่างแท้จริงแล้ว และยุคสมัยในอดีตไกลโพ้นไปกว่านั้น ซึ่งมีการครอบงำภูมิภาคแถบนี้ของจีนเป็นสัญลักษณ์ ก็กำลังหวนกลับคืนมาแล้ว

มองในแง่หนึ่ง ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยตนเอง ทาโร อาโซะ นายกรัฐมนตรีแห่งพรรคแอลดีพีที่กำลังจะพ้นตำแหน่งไป หลังจากพ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งทั่วไปคราวนี้ คือโหลนของ โทชิมิชิ โอคุโบะ (Toshimichi Okubo) 1 ใน 3 ผู้นำการปฏิรูปเมจิ (Meiji Reformation) ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเป็นผู้ได้รับการยกย่องนับถืออย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในบรรดาบิดาผู้ก่อตั้งญี่ปุ่นสมัยใหม่ ยุคสมัยดังกล่าวได้มาถึงจุดปิดฉากแล้ว --หนึ่งเดือนพอดีก่อนหน้าที่จีนผู้เป็นเพื่อนบ้านจะประกาศการเริ่มต้นของยุคอีกยุคหนึ่ง

ณ วันที่ 1 ตุลาคมปีนี้ ปักกิ่งกำหนดจัดการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปีแห่งการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตำราโหราศาสตร์จีนถือช่วงเวลา 60 ปีเป็นการครบรอบวงแห่งการเคลื่อนที่ของฟากฟ้า (โดยมีการแบ่งเป็น 5 ธาตุ แต่ละธาตุก็มี 12 นักษัตร รวมแล้วรอบหนึ่งจึงมี 60 ปี) นับเป็นจังหวะเวลาอันเหมาะสมยิ่งสำหรับประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ที่จะนั่งลง ณ ปะรำยกพื้นของจัตุรัสเทียนอันเหมิน และก็ดังที่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1949 ประธานเหมาเจ๋อตงได้เคยประกาศว่า “จีนได้ลุกยืนขึ้นมาแล้ว” ในคราวนี้หูจิ่นเทาน่าจะประกาศว่า เวลานี้จีนกำลังก้าวเดินแล้ว หรือบางทีกระทั่งกำลังวิ่งแล้ว

ตลอดระยะเวลาประมาณ 150 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นสามารถอ้างได้ว่าตนคือนักเรียนชาวเอเชียผู้ยอดเยี่ยมที่สุดของพวกมหาอำนาจตะวันตก ญี่ปุ่นเอาชนะจีนที่กำลังทรุดโทรมในช่วงทศวรรษ 1880 โดยเข้ายึดเอาเกาหลีและไต้หวันมาจากปักกิ่ง ต่อมาก็สามารถบดขยี้รัสเซียที่กำลังอับเฉาในปี 1905 และเข้ายึดที่มั่นในแมนจูเรีย ญี่ปุ่นยังเลือกข้างได้ถูกต้องในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยช่วยขับไล่พวกเยอรมันออกจากดินแดนตะวันออกไกล ความสำเร็จทั้งหมดเหล่านี้กระตุ้นให้ญี่ปุ่นเกิดความกระหายหิวมากขึ้น กระทั่งมีอำนาจเหนือสมอง ทำให้ญี่ปุ่นคิดว่าตนเองสามารถที่จะขับไล่คนผิวขาวทั้งหมดให้ออกไปจากเอเชีย แล้วแทนที่อาณานิคมของพวกตะวันตกด้วยการปกครองของญี่ปุ่นเอง และกระทั่งเข้าพิชิตจีนที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่เกรียงไกร

ทว่ามันกลับกลายเป็นฝันร้าย กระนั้นก็ตาม แม้กระทั่งการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังไม่สามารถที่จะหยุดยั้งนักเรียนผู้นี้ ซึ่งได้หันมาใช้วิธีลอกเลียนแบบแถมทำได้ดีกว่าครูชาวอเมริกันเสียอีก อย่างไรก็ตาม ในที่สุดญี่ปุ่นก็ต้องหยุดยั้งลงในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เมื่ออเมริกันได้รับชัยชนะในทั้ง 2 แนวรบ นั่นคือมีชัยเหนือการคุกคามทางด้านเทคโนโลยีและทางด้านการเงินจากโตเกียว อีกทั้งชนะสหภาพโซเวียตซึ่งล่มสลายลงภายหลังมีชีวิตยืนยงมาได้ 7 ทศวรรษ

มันเป็นการหยุดชะงักงันอย่างฉับพลันสำหรับญี่ปุ่น แต่ในเวลานั้นมันยังดูเหมือนกับเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ญี่ปุ่นทำท่าว่าจะสามารถกลับคืนมาได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในปี 1989 สหภาพโซเวียตก็เช่นกัน ทำท่าเหมือนพร้อมที่จะผลิใบใหม่และเริ่มต้นใหม่อีกคำรบหนึ่ง เมื่อยอมปล่อยให้ประเทศยุโรปตะวันออกทั้งหมดหลุดออกจากอุ้งเล็บของตน แล้วเข้าสู่อ้อมกอดของโลกตะวันตก ขณะที่จีนตอนนั้นกลับอยู่ในสภาพตรงกันข้าม จากการดำเนินการปราบปรามพวกนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ทำให้จีนดูเหมือนเป็นพวกที่พยายามหมุนนาฬิกากลับไปยังอดีต และทำท่าจะกลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” อีกครั้ง

แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างกลับปรากฏออกมาแตกต่างไปจากที่คิดๆ กัน เวลาผ่านพ้นไป 20 ปี ฐานะโดยเปรียบเทียบของประเทศเหล่านี้มีความแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ในเวลา 1 ถึง 2 ปีต่อจากนี้ จีนน่าที่จะกลายเป็นเศรษฐกิจแห่งแรกของเอเชียในรอบ 100 ปีที่สามารถแซงหน้าสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ได้มากกว่าญี่ปุ่น

ในขณะเดียวกัน การเสื่อมทรุดของญี่ปุ่นก็กำลังกลายเป็นสิ่งที่มองเห็นได้มากกว่าเพียงแค่เป็นตัวเลขสถิติ ระบบการจ้างงานตลอดชีวิตที่เสมือนเป็นสัญญาทางสังคม รวมทั้งค่านิยมในเรื่องครอบครัว ตลอดจนความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ล้วนแล้วแต่กำลังแตกสลาย หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นต่างรายงานข่าวเรื่องที่คนชราปล่อยให้ตัวเองตายอยู่ที่บ้าน โดยไม่มีครอบครัวหรือเพื่อนฝูงมาคอยดูแล อีกทั้งไม่มีเงินบำนาญไว้ใช้ต่อชีวิต ผู้ชราคนอื่นๆ ก็หันไปเป็นขโมยเล็กขโมยน้อยเพื่อเพิ่มอำนาจซื้ออันมีอยู่น้อยนิดของตนเอง

คนหนุ่มคนสาวก็ใช่ว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่ากันนักหนา จำนวนมากทีเดียวละทิ้งความหวังที่จะหาทางเข้าทำงานยังแหล่งสองสามแหล่งซึ่งยังรับประกันเรื่องการจ้างงานตลอดชีวิตกันอยู่ และพวกเขาก็หันมาสนุกกับการเปลี่ยนงานราวกับว่ามันเป็นงานอดิเรกอันน่าเพลิดเพลิน ไม่เหมือนกับพ่อแม่ของพวกเขาอีกแล้ว พวกเขาไม่ได้มีแรงขับดันหรือความอุทิศตนที่จะทำงานให้แก่บริษัทของพวกเขา –ในสภาพที่เป็นอยู่ขณะนี้จะให้พวกเขามีสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรกันล่ะ? แน่นอนทีเดียว ญี่ปุ่นยังคงมั่งคั่งสมบูรณ์อยู่มาก และพวกเขายังคงสามารถที่จะใช้ชีวิตที่มีเกียรติและมีกินมีใช้เพียงพอ –ทว่าไม่มีความฝันอันยิ่งใหญ่หรือความทะเยอทะยานอันสูงส่งให้ต่อสู้กันอีกแล้ว ในเมื่อโอกาสกำลังมีน้อยลงกว่าเดิมมากมายนัก

เศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นก็อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก ในช่วงไตรมาสที่แล้ว จีดีพีเติบโตได้ 0.9% ทว่าอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคมก็ไต่สูงขึ้นเป็นสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 5.7% คาดหมายกันว่ายอดหนี้สินตามงบดุลของภาคสาธารณะจะขึ้นไปสูงถึง 200% ในปี 2010 ในทางทฤษฎีแล้ว สถานการณ์ที่เห็นและเป็นอยู่ก็ยังไม่ใช่เลวร้ายนักหนา ในเมื่อญี่ปุ่นยังมีฐานะเป็นประเทศเจ้าหนี้สุทธิ (ญี่ปุ่นคือผู้ซื้อพันธบัตรอเมริกันรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง) อีกทั้งหนี้สินภายในประเทศทั้งหมดก็เป็นการขายให้แก่คนญี่ปุ่นเอง ดังนั้นความเสี่ยงจึงอยู่ในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยจากหนี้สินภายในประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้สูงเลย

การใช้นโยบายนำเอาทรัพย์สินของรัฐตลอดจนพวกบริษัทของรัฐที่ฐานะย่ำแย่มาแปรรูปขายให้ภาคเอกชนอย่างจริงจัง ย่อมที่จะสามารถชดใช้คืนหนี้สินนี้ได้ อย่างไรก็ดีในทางพฤตินัยแล้วทรัพย์สินเหล่านี้อยู่ภายในต้การควบคุมของระบบราชการที่ทรงอำนาจยิ่ง โดยที่ระบบราชการนี้เอง ที่ได้ผนวกร่วมมือกับพรรคแอลดีพี และพวกบริษัทขนาดใหญ่ กลายเป็นด้าน 3 ด้านของ “สามเหลี่ยมแห่งอำนาจ” ในยุคหลังสงครามของญี่ปุ่น และก็เป็นปัจจัยทำให้เกิด “ความมหัศจรรย์” ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นขึ้นมา มาถึงเวลานี้ พรรคแอลดีพีล้มคว่ำลงเสียแล้ว และพรรคดีพีเจก็ให้สัญญาที่จะลดทอนอำนาจของระบบราชการ เมื่อเป็นเช่นนี้ญี่ปุ่นจึงจำเป็นจะต้องมีข้อตกลงทางการเมืองในเรื่องอำนาจกันใหม่ แล้วก็ไม่มีความชัดเจนว่า นอกเหนือจากดีพีเจแล้ว ยังมีใครอีกที่จะมาร่วมมือสร้างข้อตกลงดังกล่าวนี้ขึ้นมา

ในด้านภายนอกประเทศนั้น ญี่ปุ่นคือชาติที่ขับดันด้วยการส่งออก โดยศูนย์กลางที่คอยรองรับสินค้าออกของญี่ปุ่นอยู่ที่สหรัฐฯและยุโรป ทว่าในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จีนกำลังกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นไปแล้ว อันเป็นสัญญาณอีกประการหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนอันดับความสำคัญในประเทศนี้

เมื่อมองกันในด้านยุทธศาสตร์แล้ว ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงยิ่ง เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้ว ที่ญี่ปุ่นทำตัวเป็นป้อมปราการของอเมริกาในเอเชีย และได้รับอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงวอชิงตัน เวลานี้ด้วยการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน ญี่ปุ่นอาจจะต้องเล่นบทเป็นพระรองในความสัมพันธ์ทวิภาคีแบบใหม่นี้ ทั้งนี้พรรคดีพีเจก็ดูเหมือนจะกำลังวางจุดยืนของญี่ปุ่นให้ดิบดียิ่งขึ้นทั้งสำหรับการเมืองใหม่ในระดับภูมิภาค และทั้งสำหรับแรงขับดันสู่ตลาดใหม่ พรรคจึงได้ให้สัญญาที่จะสร้างสายสัมพันธ์อันดียิ่งขึ้นกับพวกประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย โดยที่จีนจะเป็นเป้าหมายสำคัญก่อนประเทศอื่นๆ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งในแนวรบทางการเมืองและแนวรบทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นกำลังเสาะแสวงหาอนาคตอย่างใหม่ ที่อาจจะเอื้ออำนวยให้เกิดสีสันอย่างใหม่ในสายสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ญี่ปุ่นไม่น่าที่จะขัดขวางสายสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสหรัฐฯ-จีนนี้ เนื่องจากสามารถที่จะได้ประโยชน์จากทั้งสองประเทศที่อยู่กันคนละฟากฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก

จังหวะเวลาในตอนนี้ก็นับว่าเหมาะสมยิ่ง เมื่อ 60 ปีก่อน การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเคยเป็นสิ่งที่ตัดสินชะตากรรมของญี่ปุ่น กล่าวคือ ในเอเชียนั้น อเมริกาในขณะนั้นต้องสูญเสียจีน พันธมิตรเก่าของตนถูกลดระดับเหลือเป็นเพียงแค่ไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ อเมริกาจึงต้องฟื้นฟูบูรณะญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่ให้แข็งแรง เพื่อต้านทานภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ของเหมาเจ๋อตง เวลานี้ที่เงาของเหมาก็กำลังจางหายไป และเศรษฐกิจของจีนทำท่าจะสามารถกลายเป็นหัวรถจักรฉุดลากให้เกิดความเจริญเติบโตขึ้นในอนาคต และเป็นประตูทางออกจากวิกฤตทางการเงินระดับโลกในปัจจุบัน ญี่ปุ่นจึงควรก้าวขึ้นมาไม่ใช่ในฐานะเป็นทางเลือกเอเชียอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากจีน หากแต่เป็นสะพานเชื่อม –เป็นเสมือนกาวหรือผู้ค้ำประกันในบางระดับ—ระหว่างสหรัฐฯกับจีน

ในทางเศรษฐกิจนั้น การปรับเปลี่ยนฐานะความสำคัญทางด้านการค้าคือสัญญาณของสิ่งนี้ ส่วนในทางวัฒนธรรม มันก็บังเกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ คำภาษาจีนสมัยใหม่จำนวนมาก เป็นต้นว่า คำว่า “ประชาธิปไตย” และ “วิทยาศาสตร์” เป็นการนำเข้ามาจากภาษาญี่ปุ่น ผู้ซึ่งเมื่อก่อนเคยใช้ตัวอักษรจีนในเวลาที่จะพูดถึงแนวความคิดใหม่ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น พวกผู้เล่นในฉากแห่งการเมืองใหม่และเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ ก็ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรที่จะทำให้ต้องการขับไล่สหรัฐฯออกไปจากเวทีเอเชีย พวกเขาทั้งหมดต่างตระหนักดีว่าในอนาคตอันไม่ไกลจากนี้ไป สหรัฐฯยังจะสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันให้เกิดสันติภาพในภูมิภาค เหมือนดังที่สหรัฐฯได้เคยให้สัญญาที่จะสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และดังนั้นจึงสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาคได้ [1]

แนวความคิดในเชิงทฤษฎีทั้งหมดเหล่านี้ จำเป็นจะต้องมีลู่ทางในการปฏิบัติให้เป็นจริงด้วย และเรื่องนี้ก็จะไม่ใช่ของง่ายๆ เลย ว่าที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ ยูกิโอะ ฮาโตยามะ ให้สัญญาอะไรมากมายในระดับที่จะต้องทำการปฏิรูปอย่างใหญ่โตทีเดียว โดยที่อาจจะมโหฬารทัดเทียมการปฏิรูปเมจิเมื่อราว 150 ปีก่อนด้วยซ้ำ ความเป็นคนที่มีเชื้อสายผู้ดีมีตระกูลของฮาโตยามะ, เจตนารมณ์ของเขาที่พร้อมเผชิญหน้าความยากลำบากอันมากมายของญี่ปุ่น, และเสียงประชาชนอันท่วมท้นที่พรรคดีพีเจได้รับมา อาจจะเป็นพื้นฐานที่เข้าท่าเข้าทางทีเดียวสำหรับการทำงานชิ้นนี้ กระนั้นก็ตามที ต้องไม่ลืมว่าญี่ปุ่นเก่าและผลประโยชน์เก่าน่าจะยังต้องการต่อสู้เพื่อซื้อวันเวลาของพวกเขาไปอีกสักวันหนึ่ง

เอเชียมีเวลาประมาณ 1 ปีที่จะเฝ้าดูว่า พรรคดีพีเจสามารถที่จะทำตามคำมั่นสัญญาของตนและเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นได้หรือไม่ ในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งสภาสูง และฮาโตยามะจำเป็นที่จะต้องได้เสียงข้างมากในสภานั้นด้วย ถ้าเขาล้มเหลวและไม่สามารถที่จะทำให้ผู้ออกเสียงเกิดความมั่นใจเกี่ยวกับความเด็ดเดี่ยวในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงของเขาแล้ว พรรคแอลดีพีเก่าก็อาจจะหวนกลับมา แล้วความหวังทั้งหลายที่จะเปลี่ยนแปลงก็จะจางหายไป ขณะที่จีนยังคงเดินเครื่องมุ่งไปข้างหน้าทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก

หมายเหตุ
1.ดู The blessing of China's threat La Stampa, June 4, 2007. และดู A new future for the history of Japan in Asia La Stampa, August 7, 2007

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นบรรณาธิการด้านเอเชีย ของหนังสือพิมพ์ ลา สตัมปา แห่งอิตาลี
กำลังโหลดความคิดเห็น