เอเอฟพี - รายงานของรัฐบาลอินเดีย คาดว่า อินเดียจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ภายในปี 2030 อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นปริมาณที่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของโลก
รายงานเมื่อคืนวันพุธ (2) ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบันอัตราชาวอินเดียปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อปีในปัจจุบัน ประมาณคนละ 1.2 ตัน เทียบกับอัตราเฉลี่ยของประชากรโลกคนละ 4.22 ตัน
รายงาน 5 ชิ้นขององค์กรอิสระ สรุปว่า ในปี 2020 ชาวอินเดียจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2.1 ตันต่อคน และในปี 2030 จำนวน 3.5 ตันต่อคน ทั้งนี้ อัตราเฉลี่ยการปล่อยก๊าซของอินเดียเป็นหนึ่งในชาติที่มีอัตราต่ำสุด แต่เป็นเพราะอินเดียมีประชากรมหาศาล ทำให้อินเดียยังเป็นประเทศที่ปล่อยมลภาวะมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
นอกจากนี้ การศึกษายังประเมินว่า อินเดียจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้นระหว่าง 4,000 -7,300 ล้านตันภายในปี 2031 ด้วย
ใจราม ราเมศ รัฐมนตรีกระทรวงสิงแวดล้อมของแดนภารตะ กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวจะนำไปปะกอบกับการประชุมเรื่องภาวะโลกร้อนในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้ เขากล่าวว่า อินเดียจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหานี้ด้วย
ก่อนหน้านี้ อินเดียปฏิเสธที่จะลดการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อการโตเติบโตและการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ 18 ชาติทั่วโลกเตรียมเข้าประชุมกันที่กรุงโคเปนเฮเกน เพื่อตกลงกันหาข้อตกลงใหม่แทนพิธีสารเกียวโต ที่ใช้กำหนดปริมาณการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละประเทศ