xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯแบะท่ามุ่ง‘ผลประโยชน์’มากกว่า‘หลักการ’ในพม่า

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน แมคคาร์แทน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Realpolitik revealed in Myanmar release
By Brian McCartan
17/08/2009

วุฒิสมาชิก จิม เว็บบ์ ของสหรัฐฯ ทำแต้มด้านการประชาสัมพันธ์ครั้งมโหฬาร ในการเดินทางไปเยือนพม่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อทางการพม่ายอมปล่อยตัว จอห์น เยตทอว์ ชาวอเมริกันผู้ถูกศาลพม่าตัดสินจำคุก ทว่าความเคลื่อนไหวคราวนี้ย่อมไม่ใช่การผ่าทางตันทางการทูตครั้งสำคัญอะไรเลย มันน่าจะเป็นรางวัลที่คณะทหารผู้ปกครองพม่ามอบให้แก่เว็บบ์ สำหรับการมีจุดยืนอันเหนียวแน่นในการต่อต้านการใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรเสียมากกว่า ยิ่งกว่านั้นจากการเดินทางเยือนในคราวนี้ ยังเปิดเผยให้เห็นอย่างถนัดชัดเจนด้วยว่า ทั้งเว็บบ์และวอชิงตันต่างกำลังดำเนินสายสัมพันธ์กับพม่า โดยมุ่งคำนึงถึงเป้าหมายใหญ่ในเรื่องการปิดล้อมจำกัดอิทธิพลของจีน

กรุงเทพฯ – การเดินทางไปเยือนพม่าของวุฒิสมาชิก จิม เว็บบ์ (Jim Webb) แห่งสหรัฐฯ กำลังเป็นการตอกย้ำให้เห็นอีกครั้งหนึ่งถึงความยากลำบากในการรับมือกับคณะนายพลผู้ปกครองประเทศนั้น ขณะเดียวกัน มันก็กำลังทำให้เกิดการถกเถียงกันอีกรอบในเรื่องคุณประโยชน์ของมาตรการลงโทษคว่ำบาตร ตลอดจนในเรื่องอิทธิพลของจีนในภูมิภาคแถบนี้ซึ่งเห็นกันว่ากำลังเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ

เว็บบ์ขึ้นเครื่องบินเดินทางไปยังกรุงเนย์ปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่าเมื่อวันศุกร์(14) และหารือเป็นเวลา 2 วันกับเหล่าผู้นำอาวุโสของระบอบปกครองทหาร การเยี่ยมเยียนคราวนี้นับเป็นครั้งที่สองแล้วที่เว็บบ์เดินทางเข้าพม่า โดยคราวแรกนั้นเขาไปเยือนเป็นการส่วนตัวในฐานะพลเมืองของสหรัฐฯเมื่อปี 2001 สำหรับการเดินทางครั้งนี้เขาอยู่ในฐานะประธานอนุกรรมการกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ ของวุฒิสภาสหรัฐฯ การเยือนพม่านี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งการตระเวนเยี่ยมเยียนหาข้อเท็จจริงใน 5 ประเทศ เพื่อสำรวจลู่ทางในการขยายผลประโยชน์ของสหรัฐฯในภูมิภาคแถบนี้ และมันก็ทำให้เว็บบ์กลายเป็นสมาชิกรัฐสภาอเมริกันคนแรกในรอบสิบปีที่ไปเยือนประเทศพม่าอีกด้วย

ระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงเทพฯภายหลังกลับมาจากพม่าเมื่อวันอาทิตย์(16) เว็บบ์กล่าวว่าเขาได้ขอร้องคณะนายพลผู้ปกครองพม่ารวม 3 เรื่อง ได้แก่ ขอให้พิจารณาปล่อยตัว จอห์น เยตทอว์ (John Yettaw) ด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม, ขอให้พิจารณาอนุญาตให้เขาได้พบปะกับ อองซานซูจี ผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า, และ ขอให้พิจารณา “คำรับรองอย่างแข็งขัน” ของเขา ให้ปล่อยตัวซูจี และอนุญาตให้เธอได้เข้าร่วมในกระบวนการทางการเมืองอย่างเต็มที่

ปรากฏว่าทางระบอบปกครองพม่าสนองตอบคำขอเหล่านี้อย่างชนิดที่ทำให้ประชาคมผู้ลี้ภัยพม่าบางส่วนรู้สึกเซอร์ไพรซ์ทีเดียว กล่าวคือ เว็บบ์ประสบความสำเร็จสำหรับคำขอ 2 ข้อแรก ขณะที่คำขอข้อ 3 เป็นไปตามที่คาดหมายกัน ดังที่เว็บบ์เองบอกว่า “ยังไม่มีการแจ้งให้ทราบใดๆ ทั้งสิ้นในข้อที่ 3” ทั้งนี้ ทางการพม่ายอมปล่อยตัว จอห์น เยตทอว์ พลเมืองอเมริกันผู้ถูกตัดสินจำคุกพร้อมกับทำงานหนักเป็นเวลา 7 ปี จากความผิดที่เขาว่ายน้ำข้ามทะเลสาบเข้าไปยังเขตบ้านพักของซูจีที่นครย่างกุ้ง นอกจากนั้น ทางการพม่ายังยอมให้เว็บบ์ได้พบกับซูจี

ผู้นำฝ่ายค้านในพม่าผู้นี้ ได้ถูกตัดสินลงโทษในคดีเดียวกันกับเยตทอว์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้ถูกคุมขังกักบริเวณอยู่ภายในบ้านของเธอเป็นเวลา 18 เดือน การตัดสินเช่นนี้ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะพวกประเทศตะวันตก พากันออกมาประณามคัดค้านกันอึงมี่ สหภาพยุโรป(อียู)ได้ประกาศเพิ่มมาตรการลงโทษคว่ำบาตร โดยเพิ่มชื่อของพวกผู้พิพากษาตลอดจนสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลพม่าบางราย เข้าไว้ในบัญชีดำเจ้าหน้าที่และสมาชิกระบอบปกครองพม่าที่ต้องห้ามไม่ให้เข้าอียู

การตัดสินคดีนี้บังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่คณะรัฐบาลบารัค โอบามากำลังศึกษาทบทวนนโยบายว่าด้วยพม่าของตน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ได้แสดงความเห็นระหว่างการเยือนภูมิภาคแถบนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ว่า มาตรการลงโทษคว่ำบาตรที่นำมาใช้กันอยู่ดูจะไม่ปรากฏผลลัพธ์ดังที่พึงประสงค์ และสหรัฐฯกำลังเสาะแสวงหาหนทางต่างๆ ที่อาจจะได้ผลมากขึ้น ตั้งแต่นั้นมาก็มีการคาดเดากันว่าผลลัพธ์ของการศึกษาทบทวนนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯจะออกมาอย่างไรได้บ้าง

ปรากฏสัญญาณหลายๆ ประการว่า สหรัฐฯกำลังพิจารณาที่จะคบค้ากับพวกผู้นำทหารพม่าให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ระหว่างการให้ปากคำเพื่อให้วุฒิสภาอนุมัติการแต่งตั้งเขาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคนใหม่ กล่าวว่าสหรัฐฯนั้นได้มีการ “เตรียมตัวเพื่อยื่นมือออกไป” ให้แก่พม่า แต่แล้วก็เกิดการจับกุมซูจี จึงทำให้เป็นเรื่อง “ลำบากที่จะเดินหน้าต่อไป” ตัวคลินตันเองในเดือนที่แล้วระหว่างการแถลงเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจี ก็พูดว่า หากทางการพม่ายอมปล่อย “นี่จะเป็นการเปิดกว้าง อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับคณะรัฐบาลของดิฉัน สำหรับโอกาสอันมากมายที่จะคบค้ากัน และนั่นรวมถึงการลงทุนและการแลกเปลี่ยนกันในรูปแบบอื่นๆ อีก”

แต่เมื่อมีการจับกุมและลงโทษซูจี ก็ทำให้สหรัฐฯดูแทบไม่มีทางเลือกอื่นๆ อีกนอกจากเดินหน้าบังคับใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรของตน ในเดือนพฤษภาคม โอบามาได้ต่ออายุระเบียบ “ห้ามการลงทุน” (Investment Ban) ปี 1997 ซึ่งมีสาระสำคัญห้ามพวกบริษัทอเมริกันที่สนใจจะไปทำธุรกิจในพม่า และในเดือนกรกฎาคม เขาก็ต่ออายุ “รัฐบัญญัติเสรีภาพและประชาธิปไตยของพม่า” (Burma Freedom and Democracy Act) ซึ่งเท่ากับห้ามการนำเข้าสินค้าจากพม่าต่อไปอีก 3 ปี ทั้งโอบามาและคลินตันต่างก็ประณามการตัดสินลงโทษซูจี โดยระบุว่าอยุติธรรมและเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอ คลินตันยังได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวเยตทอว์อีกด้วย

นักวิเคราะห์บางคนมองเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างการเยือนพม่าของเว็บบ์ กับท่าทีแบบมุ่งปรองดองของคณะรัฐบาลโอบามาที่แสดงต่อระบอบปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จรายอื่นๆ ระหว่างการโหมโรงแสดงมิตรไมตรีต่ออิหร่านในเดือนมกราคม โอบามากล่าวในการให้สัมภาษณ์กับโทรทัศน์อัลอาราบิยะของอาหรับว่า “ถ้าประเทศเฉกเช่นอิหร่านมีความปรารถนาที่จะคลายกำปั้นของพวกตน พวกเขาก็จะพบมือที่ยื่นออกมา (ให้สัมผัส) ของเรา” หรือตัวอย่างล่าสุดก็คือการที่อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตันไปเยือนเกาหลีเหนือ ซึ่งช่วยทำให้มีการปล่อยตัว 2 นักข่าวอเมริกัน อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดความหวังที่จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือที่มีความเป็นมิตรกันมากขึ้น

คณะรัฐบาลโอบามาได้แสดงความยินดีต่อการไปเยือนพม่าของเว็บบ์ ทำให้เกิดความเข้าใจกันว่าการเยี่ยมเยียนของเขามีคุณค่าเท่ากับเป็นความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดไมตรีจิตระหว่างสองประเทศขึ้นมา ขณะที่เว็บบ์เองเมื่อกลับมาแล้ว แม้จะแสดงความหวังว่าการเยือนของเขาได้สร้างความมั่นอกมั่นใจและมิตรไมตรีระหว่างกันไปในระดับหนึ่ง แต่เขาก็พูดอย่างชัดเจนในการแถลงข่าวที่กรุงเทพฯว่า เขากำลังทำหน้าที่ในฐานะเป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐฯคนหนึ่ง ไม่ได้เป็นตัวแทนของคณะรัฐบาลโอบามา เขาอ้างว่าเขาเพียงแต่แสดงความเห็นให้ระบอบปกครองพม่าทราบถึงแง่คิดและมุมมองของเขาเองในเรื่องที่ว่าโลกภายนอกมองพม่ากันอย่างไร

อย่างไรก็ดี เขาก็ได้ “ย้ำอย่างหนักแน่น” ในการเสนอความคิดเห็นว่า สหรัฐฯนั้นต้องการที่จะเข้าเกี่ยวข้องในกระบวนการเลือกตั้งของพม่าที่กำหนดจะจัดขึ้นในปีหน้า เขาบอกอีกว่า ได้แจ้งกับระบอบปกครองทหารพม่าว่า “ผมเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่โลกภายนอกจะเชื่อว่าการเลือกตั้งดำเนินไปอย่างเสรีและยุติธรรม ถ้าหากไม่มีการปล่อยตัวอองซานซูจี อีกทั้งควรที่จะให้พรรคเอ็นแอลดี (National League for Democracy สันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจี) เข้าร่วม (ในกระบวนการเลือกตั้ง) ด้วย”

** การเข้าพบแบบพิเศษผิดธรรมดา**

เว็บบ์อาจจะแสดงบทบาทในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการว่าด้วยกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แต่ปรากฏว่าเขาได้รับอนุญาตให้เข้าพบพล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ผู้นำประเทศที่ปกติแล้วเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว รวมทั้งยังได้พบกับซูจีอย่างน่าประหลาดใจด้วย เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว อิบาราฮิม กัมบารี (Ibarahim Gambari) ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยพม่าของสหประชาชาติ ถูกบอกปัดมาโดยตลอดไม่ให้ได้เข้าพบตานฉ่วย อีกทั้งถูกปฏิเสธเรื่อยมาไม่ให้ได้เข้าเยี่ยมซูจีนับแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แม้กระทั่งเลขาธิการยูเอ็น บันคีมุน ก็ยังถูกตอกหน้าหงายหลัง เมื่อพยายามที่จะจัดการพบปะหารือกับตานฉ่วย ตอนที่พายุไซโคลน “นาร์กิส” พัดกระหน่ำสร้างความหายนะแก่พม่าปีที่แล้ว

ผู้สังเกตการณ์บางคนคิดว่า แรงกดดันทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้เว็บบ์ได้เข้าพบตานฉ่วยและซูจีดังกล่าว ขณะที่คนอื่นๆ เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะจุดยืนที่ทราบกันดีของเว็บบ์ในเรื่องต่อต้านการใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรและสนับสนุนให้หันมาใช้วิธีคบค้าสมาคม กระนั้นก็ยังมีอีกหลายๆ คนเห็นว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของระบอบปกครองพม่าที่จะหาทางทำให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯกระเตื้องดีขึ้น โดยเป็นไปได้ที่จะเป็นผลเนื่องมาจากการกระตุ้นรบเร้าของจีน ขณะที่เว็บบ์เองอ้างว่าการที่เขาได้พบปะกับบุคคลสำคัญต่างๆ เหล่านี้ เป็นผลมาจากการเจรจากับรัฐบาลพม่าอยู่เป็นเวลาหลายเดือน

เว็บบ์พูดถึงเรื่องที่ระบอบปกครองพม่ายอมปล่อยตัวเยตทอว์ และอนุญาตให้เขาพบปะกับซูจีนตลอดจนสมาชิกหลายคนในพรรคเอ็นแอลดีของเธอว่า เป็นการแสดง “ท่าทีที่ทำให้เกิดความหวัง” อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากรวมทั้งสมาชิกหลายคนในประชาคมผู้ลี้ภัยการเมืองของพม่าไม่ได้รู้สึกเกิดความหวังอะไรเช่นนั้น พวกเขาบอกว่าเว็บบ์กำลังตกเป็นเครื่องมือของระบอบปกครองพม่าต่างหาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงจังหวะเวลาของการเยือนคราวนี้ ซึ่งเกิดขึ้นตามหลังการตัดสินกักขังซูจีด้วยแล้ว เว็บบ์ก็กำลังถูกใช้เพื่อทำให้จุดยืนของคณะทหารหนักแน่นมั่นคงขึ้นไปอีกเท่านั้น ในจดหมายที่กลุ่ม 3 กลุ่มภายในพม่าส่งไปถึงเว็บบ์ ได้แสดงความงงงวยที่เขายังจะไปเยือนพม่าอีกในจังหวะเวลาเช่นนี้

เรื่องการปล่อยตัวเยตทอว์ก็ไม่ควรถือเป็นการผ่าทางตันทางการทูตที่ใหญ่โตอะไรเลย ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติหลายคนถูกจับกุมในพม่าสืบเนื่องจากการเข้าพัวพันกับการเมืองของประเทศนั้น เป็นต้นว่า ราเชล โกลด์วิน (Rachel Goldwyn) ชาวอังกฤษที่ถูกจับกุมเพราะร้องเพลงเรียกร้องประชาธิปไตยในย่านใจกลางนครย่างกุ้งเมื่อปี 1999 และ เจมส์ มาวด์สเลย์ (James Mawdsley) ชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งซึ่งถูกจับกุม 3 ครั้งในระหว่างปี 1997 ถึง 1999 ชาวต่างชาติเหล่านี้แทบทั้งหมดถูกปล่อยตัวภายในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ ปกติแล้วทางระบอบปกครองจะออกคำแถลงกำกับมาด้วยว่าเป็นการแสดงความกรุณาผ่อนปรนของตน แล้วก็มักจะมีคำแถลงอย่างแสดงความหวังจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ว่าหน้าต่างแห่งโอกาสใหม่ๆ กำลังเปิดออกมาแล้ว

พวกนักวิจารณ์หลายรายอ้างว่า การปล่อยตัวเยตทอว์และการหารือระหว่างพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่ากับเว็บบ์ คือวิธีที่ระบอบปกครองพม่าใช้เพื่อหันเหเสียงวิพากษ์วิจารณ์ระหว่างประเทศต่อการตัดสินลงโทษซูจี อองดิน (Aung Din) กรรมการบริหารของกลุ่ม สหรัฐฯรณรงค์ต่อสู้เพื่อพม่า (US Campaign for Burma) บอกว่า “นี่เป็นแค่การที่ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ให้รางวัลแก่วุฒิสมาชิกเว็บบ์ เป็นการตอบแทนที่เขาพยายามทำให้สหรัฐฯหันมาคบค้ากับระบอบปกครองพม่า, เพิ่มพูนโอกาสทางธุรกิจของสหรัฐฯในพม่า, และการที่เขาคัดค้านการใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตร”

เว็บบ์บอกว่า การเยือนของเขาเป็นการ “วางรากฐานของอาคารแห่งมิตรไมตรีและความมั่นใจในกันและกัน เพื่อที่เราจะสามารถหาหนทางแก้ไขที่ดีขึ้นกว่านี้ในอนาคต” ถึงแม้เขายืนยันว่า “หนทางแก้ไข” ดังกล่าว ต้องเป็นไปเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งการนำเอาเสรีภาพและประชาธิปไตยมาสู่พม่า แต่จุดยืนของเว็บบ์นั้นดูจะอยู่ที่การเพิ่มการคบค้าทางการทูต และการยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรไปในที่สุด

เว็บบ์คือผู้ที่คัดค้านอย่างแข็งขันต่อการใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและทางการเงินต่อพม่า โดยเขาระบุว่ามาตรการเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ระบอบปกครองพม่าโดดเดี่ยว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการปฏิเสธไม่ให้ประชาชนของประเทศได้สัมผัสกับแนวทางคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจจากภายนอก ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เขาโต้แย้งด้วยว่า การลงโทษคว่ำบาตรยังเป็นการปฏิเสธตัดรอนลู่ทางโอกาสของบรรดาธุรกิจอเมริกัน รวมทั้งลดทอนอิทธิพลของสหรัฐฯในประเทศนี้ เมื่อเดือนมีนาคม เว็บบ์ได้กล่าวถึงการลงโทษคว่ำบาตรว่า “เป็นตัวคัดค้านสัมฤทธิผลที่ต้องการด้วยซ้ำ ในแง่ที่ทำให้ลดความสามารถของเราที่จะส่งผลสะเทือนไปให้ถึงความยากลำบากต่างๆ ที่ประชาชนพม่ากำลังเผชิญอยู่”

ระหว่างการแถลงข่าวในกรุงเทพฯเมื่อวันอาทิตย์ เว็บบ์บอกว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ ควรที่จะหันมาพูดจากดดันจีนกันตรงๆ ให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดเป็นรายประเทศหรือเป็นแบบรวมกลุ่ม ทั้งนี้ในฐานะที่จีนคือผู้อุปถัมภ์และพันธมิตรรายหลักของพม่า “พวกที่เรียกร้องให้ใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตร ถึงตอนนี้ก็ควรที่จะเร่งรัดสนับสนุนให้จีนเข้ามาร่วมการค้นหาหนทางแก้ปัญหาภาวะชะงักงันภายในพม่า” เขากล่าว “จีนมีพันธะที่จะต้องยุติการนิ่งเงียบของตน และเข้ามีส่วนช่วยเหลือในการยุติสถานการณ์อองซานซูจี”

พวกวิพากษ์วิจารณ์มาตรการลงโทษคว่ำบาตร ยังกำลังชี้ให้เห็นว่า ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย, อินเดีย, และโดยเฉพาะจีน ต่างเพิ่มการลงทุนของตนในพม่า ขณะที่ฝ่ายตะวันตกพยายามโดดเดี่ยวประเทศนั้น เมื่อวินิจฉัยจากการแสดงความคิดเห็นของเขาแล้ว เว็บบ์ดูจะเห็นว่าอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เป็นอันตรายทั้งต่อประเทศพม่าเองและต่อภูมิภาคแถบนี้โดยรวม “แนวความคิดของผมเองก็คือ การลงโทษคว่ำบาตรจะได้ผล ต่อเมื่อคุณได้ทุกๆ ประเทศที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมด้วยกันหมด” เว็บบ์กล่าว

เขาบอกด้วยว่า อิทธิพลที่กำลังเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ของจีน “กระทบกระเทือนสมดุลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และ “ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของภูมิภาคแถบนี้” เขากล่าวว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องรักษาดุลแห่งอำนาจอันสำคัญยิ่งยวดในระหว่างชาติต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ภูมิภาคนี้ยังคงมีการพัฒนาคลี่คลายต่อไปเรื่อยๆ น่าสังเกตว่าพวกนักวิเคราะห์ทั้งจากจีนและจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักจะมีทัศนะกันว่า จีนกำลังดำเนินความริเริ่มแบบ “อำนาจอ่อน” (soft power) ในภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งกำลังทำลายอิทธิพลของสหรัฐฯลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ที่วอชิงตันมัวแต่หันไปให้น้ำหนักความสำคัญมากที่สุดแก่นโยบายต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาคแถบนี้เท่านั้น

ทัศนะต่างๆ ต่อพม่าของเว็บบ์ไม่ได้เป็นที่นิยมชมชื่นของประชาชนผู้ลี้ภัยชาวพม่าเอาเลย แม้เขาพยายามใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวังในเรื่องการเสนอให้ยุติการคว่ำบาตรและการทำให้ “ประชาชนพม่า” ต้องถูกโดดเดี่ยว เป็นที่กระจ่างชัดเจนแก่ผู้คนส่วนใหญ่ว่า ทั้งเว็บบ์และคณะรัฐบาลโอบามาต่างก็มีเป้าหมายใหญ่อยู่ที่เรื่องการปิดล้อมจำกัดอิทธิพลของจีน เป็นเป้าหมายใหญ่สำหรับการดำเนินนโยบายแบบที่มุ่งผลประโยชน์ในทางปฏิบัติ มากกว่าจะมุ่งคำนึงถึงเรื่องหลักการอุดมการณ์

ไบรอัน แมคคาร์แทน เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ อาจจะติดต่อเขาได้ที่ brianpm@comcast.net.
กำลังโหลดความคิดเห็น