xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ชุมนุมปะทะหนักกับตำรวจในฮอนดูรัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ตำรวจฮอนดูรัสยิงแก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุมจำนวนหลายพันคนเมื่อวานนี้ (12) ขณะที่ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ซึ่งถูกรัฐประหารยึดอำนาจ เรียกร้องให้ยูเอ็นทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อยุติวิกฤตการเมืองในประเทศ

ฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีเซลายาปะทะกับตำรวจปราบจลาจล ซึ่งยิงแก๊สน้ำตาและใช้กระบองสลายฝูงชนที่เดินขบวนบริเวณอาคารรัฐสภาของฮอนดูรัสในกรุงเตกูซิกัลปา

ฝ่ายผู้ประท้วงขว้างปาก้อนหินและทุบทำลายหน้าต่างของกิจการร้านค้าต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง โดยไม่แยแสคำเตือนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ฝูงชนยังรุมทำร้ายสมาชิกรัฐสภารายหนึ่งที่สนับสนุนการรัฐประหารโค่นอำนาจประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 28 เดือนมิถุนายน ก่อนที่ตำรวจจะเข้ามาช่วยเหลือ

มีผู้ประท้วงราว 50 ราย ถูกจับกุมระหว่างเกิดเหตุปะทะในครั้งนี้

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่เมืองซันเปโดรซูลา ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของฮอนดูรัส เมื่อผู้ประท้วงตั้งด่านปิดกั้นเส้นทางจราจรบริเวณใกล้โรงแรมที่พักของทีมนักฟุตบอลคอสตาริกา ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้แก๊สน้ำตาและยิงกระสุนยางสลายผู้ชุมนุม

วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดี เซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ

รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา

การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา


กำลังโหลดความคิดเห็น