xs
xsm
sm
md
lg

“ว่าที่พรรครัฐบาลใหม่ญี่ปุ่น”เผชิญปัญหาใหญ่ด้านการต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: โคซุเกะ ทาคาฮาชิ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

DPJ faces pragmatism poser
By Kosuke Takahashi
24/07/2009

พรรคเดโมแครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน (ดีพีเจ) ทำท่าจะสามารถยุติการปกครองประเทศของพรรคลิเบอรัล เดโมแครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) ที่ดำเนินต่อเนื่องแทบจะตลอดกว่า 50 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะที่พวกประเด็นปัญหาทางด้านในประเทศน่าจะผลักดันเสริมส่งให้พรรคดีพีเจไปสู่ชัยชนะนั้น พรรคก็กลับกำลังเผชิญการแตกแยกกับพันธมิตรรายสำคัญ ทั้งในประเด็นทางด้านกลาโหม และทั้งการที่พวกผู้นำของดีพีเจต้องการมีความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับสหรัฐฯ

โตเกียว – พวกผู้วางนโยบายและผู้เชี่ยวชาญทางทหารในสหรัฐฯ ต่างกำลังเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด ถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับรากฐานที่ทำท่าว่ากำลังบังเกิดขึ้นในญี่ปุ่น แทบจะเป็นเรื่องแน่นอนแล้วว่า พรรคเดโมแครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน (Democratic Party of Japan หรือ DPJ) ซึ่งเวลานี้เป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุด จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งสภาล่างของประเทศ ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 สิงหาคม มันจะเป็นการโค่นล้มการกุมอำนาจปกครองประเทศมาอย่างแทบจะต่อเนื่องตลอดกว่าครึ่งศตวรรษของพรรคลิเบอรัล เดโมแครติก ปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party หรือ LDP)

ทว่าพรรคดีพีเจเองเวลานี้ก็กำลังเผชิญสถานการณ์แบบ “ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง” ที่มีเดิมพันสูงมากอยู่เหมือนกัน นั่นคือ พรรคอาจจะต้องปรับนโยบายการต่างประเทศและด้านกลาโหมให้เป็นไปในทางมุ่งผลเชิงปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจะต้องขจัดความหวาดกลัวของสหรัฐฯผู้เป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดของญี่ปุ่นในประเด็นปัญหาทางด้านความมั่นคง สิ่งเหล่านี้คงจะมีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้น ถ้าหากดีพีเจพยายามกีดกันไม่ให้พรรคโซเชียล เดโมแครติก ปาร์ตี้ (Social Democratic Party หรือ SDP) ที่มีแนวทางเอียงซ้ายมากกว่า เข้ามาร่วมในรัฐบาลผสมในช่วงหลังการเลือกตั้ง แต่ถ้าหากปราศจากเอสดีพี พรรคดีพีเจก็จะสูญเสียเสียงข้างมากในสภาสูงของรัฐสภาไดเอต และจะไม่สามารถผ่านกฎหมายสำคัญใดๆ ได้ แม้กระทั่งว่าในการเลือกตั้งสภาล่างคราวนี้ พรรคเกิดสามารถกุมเสียงข้างมากได้ก็ตามที

อันที่จริงความแตกแยกกันระหว่างดีพีเจ และ เอสดีพี กำลังปรากฏให้เห็นแล้ว ตั้งแต่ที่ดีพีเจเข้าเจรจาหารือกับทางสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อยๆ

“พรรคดีพีเจกำลังเพิ่มการแลกเปลี่ยนทัศนะกับพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯในประเด็นปัญหาด้านความมั่นคง รวมทั้งพรรคก็กำลังประเมินทบทวนจุดยืนเดิมของตนเองด้วย” มิโนรุ โมริตะ (Minoru Morita) นักวิเคราะห์การเมืองผู้โด่งดังในโตเกียวบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ “ถ้าหากดีพีเจยอมตามแรงบีบคั้นจากวอชิงตันแล้ว พันธมิตรกันระหว่างดีพีเจกับเอสดีพีก็คงจะถึงขั้นแตกหักไปได้ง่ายๆ แน่นอนทีเดียว การที่ดีพีเจจะพยายามปรับเปลี่ยนหันมามุ่งผลในเชิงปฏิบัติมากขึ้น (และคำนึงถึงอุดมการณ์หรือความคิดแบบอุดมคติให้น้อยลง) ย่อมจะกลายเป็นดาบสองคมสำหรับพรรค ยิ่งดีพีเจกลายเป็นพวกมุ่งผลในเชิงปฏิบัติมากขึ้นเท่าใด เอสดีพีก็จะยิ่งรู้สึกความเจ็บแค้นข้องใจมากขึ้นเท่านั้น”

ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่สหรัฐฯนั้นต่างออกมาบอกอย่างเปิดเผยว่ากำลังเริ่มการสนทนากับพรรคดีพีเจแบบลึกซึ้งเจาะลึก ในกรณีล่าสุดเลย เคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า “หนึ่งในสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ผมเกิดกำลังใจขึ้นมาเป็นอย่างมาก ก็คือระดับและขอบเขตที่บรรดาเพื่อนมิตรและผู้ร่วมงานที่อยู่ในพรรคมินชูโต (Minshuto ซึ่งก็คือ ดีพีเจ) กำลังแสดงออกมาให้เห็น เกี่ยวกับเรื่องการสนทนาหารือกับทางสหรัฐฯ นั่นเป็นสิ่งที่บ่งชี้กับผมว่า เมื่อพิจารณากันไปถึงระดับที่ลึกซึ้งมากๆ และเป็นระดับรากฐานเลยนั้น (พรรคดีพีเจ) มีความเชื่อว่าการเป็นพันธมิตรกัน (ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น) คือเรื่องที่ต้องถือเป็นใจกลางและเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด” แคมป์เบลล์พูดเช่นนี้ระหว่างที่ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้กับทางหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุง ซึ่งทางหนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลเฮอรัลด์ทรีบูนได้นำไปตีพิมพ์ไว้ในฉบับวันพฤหัสบดี(23)

**ดัชนี 2009**

ในวันพฤหัสบดี(23)นั้นเอง พรรคดีพีเจได้ประกาศนโยบายชุดหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “ดัชนี 2009” (INDEX 2009) นโยบายชุดนี้เมื่อตีพิมพ์แล้วมีความยาว 57 หน้า และถือว่าเป็นพื้นฐานสำหรับหลักนโยบายของพรรคที่จะใช้ในการหาเสียงการเลือกตั้งสภาล่างคราวนี้ ส่วนหลักนโยบายในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเป็นทางการนั้น ดีพีเจกำหนดจะประกาศออกมาก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม

ดัชนี 2009 มีเนื้อหาส่วนใหญ่พูดถึงนโยบายภายในประเทศด้านต่างๆ เช่น โครงการสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กเพื่อกระตุ้นจูงใจให้คู่สมรสมีบุตร นอกจากนั้นแล้วยังมีการประเมินทบทวนระบบประกันสังคมของญี่ปุ่นครั้งมโหฬาร โดยครอบคลุมทั้งเรื่องบำนาญ, บริการทางการแพทย์, และการดูแลคนชรา เวลานี้ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่นั้นกำลังเชื่อว่า ในการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการที่ประเทศกำลังกลายเป็นสังคมของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ดีพีเจจะสามารถทำได้ดีกว่าแอลดีพี

ในส่วนที่เกี่ยวกับด้านกลาโหมของ “ดัชนี 2009” จุดที่โดดเด่นเตะตาที่สุด คือการที่พรรคดีพีเจทำท่าจะเปลี่ยนแปลงจุดยืนเดิมของตนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ในประเด็นคัดค้านการส่งกองกำลังป้องกันตนเอง (Self-Defense Forces หรือ SDF) ไปปฏิบัติภารกิจในต่างแดน ในเอกสารฉบับนี้ พรรคได้ตัดถ้อยคำทั้งหมดที่พูดถึงการปฏิบัติการของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล ในการให้บริการเติมน้ำมันแก่เรือฝ่ายพันธมิตรในมหาสมุทรอินเดีย กิจกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องที่ดีพีเจได้คัดค้านอย่างแข็งขันเรื่อยมา การตัดถ้อยคำออกเช่นนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการปล่อยไว้ให้คลุมเครือ ไม่มีความแน่นอนว่าทางพรรคยังจะคัดค้านต่อไปหรือไม่ เมื่อถึงเวลาที่สภาจะต้องต่ออายุภารกิจนี้อีกครั้งในเดือนมกราคมปีหน้า

นอกจากนั้น เอกสารฉบับนี้ยังได้ตัดส่วนที่พูดถึงมาตรการเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบูรณะฟื้นฟูในอัฟกานิสถาน ซึ่งอาจจะมีการดึงให้เอสดีเอฟเข้าไปร่วมด้วย ทั้งนี้ เฉพาะประเด็นนี้ ดีพีเจมีท่าทีเห็นด้วยมาตลอด โดยเฉพาะ อิชิโร โอซาวะ อดีตหัวหน้าพรรคดีพีเจที่ก้าวลงจากเก้าอี้เมื่อไม่กี่เดือนก่อน คือผู้สนับสนุนที่เข้มแข็งให้เอสดีเอฟเข้าร่วมในกองกำลังเพื่อช่วยเหลือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ (International Security Assistance Force หรือ ISAF) ในอัฟกานิสถาน

หลังจากได้เสียงข้างมากในสภาสูงของไดเอตเมื่อเดือนกรกฎาคม 2007 มีอยู่พักหนึ่งดีพีเจได้ขัดขวางการต่ออายุกฎหมายที่จะเปิดทางให้เอสดีเอฟดำเนินภารกิจให้บริการเติมน้ำมันแก่กองกำลังพันธมิตรต่อต้านการก่อการร้ายทั้งในและรอบๆ อัฟกานิสถาน ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2001 ส่งผลให้ต้องยุติการส่งเรือญี่ปุ่นออกไปทำหน้าที่นี้เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2007 ถึง เดือนมกราคม 2008

ยูคิโอะ ฮาโตยามะ (Yukio Hatoyama) หัวหน้าคนปัจจุบันของพรรคดีพีเจ (และเมื่อพิจารณาถึงบรรยากาศทางการเมืองเวลานี้ในโตเกียว ก็สมควรถือว่าเขาเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย) ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ถ้าได้ขึ้นครองอำนาจ คณะรัฐบาลที่นำโดยดีพีเจจะยังคงภารกิจเติมน้ำมันช่วยเหลือพันธมิตรนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยเขาบอกว่าหากถอนตัวด้วยความเร่งรีบก็จะกลายเป็นความบุ่มบ่ามไม่รู้จักยั้งคิด “ในทางการทูตนั้นจำเป็นจะต้องมีความต่อเนื่อง” เขากล่าวย้ำเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม

ปรากฏว่าเพียงวันรุ่งขึ้นเท่านั้น ประธานพรรคเอสดีพี มิซูโฮ ฟูคุชิมะ (Mizuho Fukushima) ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ฮาโตยามะ โดยกล่าวว่า “มันเป็นเรื่องประหลาดที่มาเปลี่ยนแปลงความคิด เพียงเพราะว่า [พรรค] กำลังจะได้อำนาจ ทั้งที่ดีพีเจได้คัดค้านภารกิจเติมน้ำมันนี้มาตลอดระหว่างที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน เราจึงไม่สามารถที่จะอยู่เฉยและอดทนเห็นการโอนเอนไปมาเช่นนี้ของดีพีเจ”

แล้วฟูคุชิมะก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์กลับจาก เทตสึโร ฟูคุยามะ (Tetsuro Fukuyama) สมาชิกสภาสูงของพรรคดีพีเจและปัจจุบันเป็นรองประธานด้านนโยบายของพรรค “ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์เลย ถ้าหากจะเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศปัจจุบันของประเทศชาติอย่างฉับพลันทันทีทันใด” ฟูคุยามะบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ “เรื่องการทูตย่อมเป็นเรื่องที่ต้องมีการการพูดจากับคู่เจรจาที่เป็นชาวต่างประเทศข้างนอก”

**แรงกดดันจากวอชิงตัน**

วอชิงตันดูเหมือนจะมีความกังวลว่า ชัยชนะของดีพีเจจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญแก่พันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นอันเก่าแก่ยาวนาน สมาชิกของดีพีเจนั้น จำนวนไม่น้อยเลยไม่ใช่เป็นพวกนักการเมืองเอียงขวา เหมือนที่อยู่ในแอลดีพี บุคคลเหล่านี้ต้องการให้ญี่ปุ่นหันมาเน้นการเสริมสร้างเพิ่มพูนความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับพวกประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ซึ่งน่าจะกลายเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในศตวรรษที่ 21

ในอดีตที่ผ่านมา พรรคดีพีเจมักปฏิเสธไม่ให้ความสนับสนุนนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯอยู่บ่อยครั้ง โดยที่โดดเด่นก็คือการไม่เห็นด้วยกับสงครามอิรัก รวมทั้งยังเคยวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯซึ่งอยู่ในลักษณะผูกติดกับประเทศเดียวไม่ใยดีคนอื่น และเรียกร้องต้องการให้ญี่ปุ่นหันมากระจายความสัมพันธ์ทางการทูตและทางเศรษฐกิจกับชาติต่างๆ ให้หลากหลาย พรรคนี้ยังคอยเรียกร้องให้โตเกียวเป็นหุ้นส่วนที่มีฐานะเท่าเทียมกับวอชิงตันมากขึ้น ขณะเดียวกับที่สนับสนุนนโยบายต่างๆ ที่มุ่งสร้างความร่วมมือกันในแบบหลายฝ่าย

ดัชนี 2009 ยังพูดถึงแผนการของดีพีเจที่จะหยิกยกประเด็นเรื่อง “ข้อตกลงว่าด้วยสถานะของกองกำลัง” (Status of Forces Agreement หรือ SOFA) ขึ้นมาพิจารณาหาทางแก้ไขด้วย ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยืดเยื้อนานปีแล้ว จุดใหญ่ใจความก็คือปัญหาว่าด้วยขอบเขตอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายญี่ปุ่นกับกำลังทหารสหรัฐฯที่ตั้งประจำอยู่ในญี่ปุ่นซึ่งเวลานี้มีจำนวนประมาณ 37,000 คน นอกจากนั้นในเอกสารฉบับนี้ พรรคดีพีเจยังเสนอให้โยกย้ายศูนย์ซ่อมเครื่องบินและสนามบินฟูเตนมา (Futenma Air Station) ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในเมืองกิโนวัน (Ginowan) จังหวัดโอกินาวา (Okinawa) ให้ออกไปอยู่นอกจังหวัดนี้ อีกทั้งคัดค้านข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯกับรัฐบาลญี่ปุ่น ที่วางแผนโยกย้ายศูนย์ดังกล่าวไปอยู่ที่แห่งใหม่ทว่ายังคงอยู่ในโอกินาวา

ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นนี้ ภายในปี 2014 นาวิกโยธินอเมริกันจำนวน 8,000 คน และครอบครัวของพวกเขาอีกราว 9,000 คน จะโยกย้ายจากโอกินาวาไปอยู่ที่กวม ซึ่งเป็นเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกและเป็นดินแดนในปกครองของสหรัฐฯ ขณะที่ศูนย์ซ่อมเครื่องบินและสนามบินฟูเตนมา ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในเมืองกิโนวัน จะโยกย้ายไปที่เขตเฮโนโกะ (Henoko) เมืองนาโกะ (Nago) ซึ่งยังคงอยู่ในจังหวัดโอกินาวา ในปัจจุบันโอกินาวาเป็นที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างทางทหารต่างๆ ของสหรัฐฯ เป็นจำนวนประมาณ 70% ของที่มีอยู่ทั่วทั้งญี่ปุ่นทีเดียว พรรคดีเจพีจึงรณรงค์เรียกร้องให้แก้ไขสภาพเช่นนี้มานานแล้ว และถือเรื่องการลดภาระของโอกินาวาในการเป็นที่ตั้งฐานทัพสหรัฐฯ เป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่งที่จะต้องดำเนินการให้สำเร็จ

ทว่าทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ นั้น มีท่าทีที่จะพยายามเพิ่มแรงกดดันให้ดีพีเจปรับเปลี่ยนจุดยืน พล.ท.เอดเวิร์ด เอ ไรซ์ (Edward A Rice) ผู้บัญชาการกองทหารสหรัฐฯในญี่ปุ่น กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี(23)ว่า จะต้องดำเนินการตามแผนการโยกย้ายฐานทัพทหารอเมริกันในญี่ปุ่นให้เสร็จสิ้นไปอย่างสมบูรณ์ ไรซ์บอกว่า ข้อตกลงที่สองรัฐบาลเห็นชอบกันไปแล้ว “เป็นข้อตกลงที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับญี่ปุ่นและสำหรับประชาชนของสหรัฐฯ” ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี

แม้จะมีข้อถกเถียงและปัญหาหนักอกหนักใจรอให้แก้ไขกันอยู่ข้างหน้า แต่ก็ไม่ควรจะมีข้อสงสัยใดๆ เลย พรรคดีพีเจของฮาโตยามะ น่าจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ได้อย่างงดงาม ผลสำรวจความคิดเห็นหลังสุดที่ทำกันระหว่างวันที่ 21 และ 22 กรกฎาคม พบว่าประชาชน 40% ให้การสนับสนุนพรรคนี้ เพิ่มขึ้น 3% จากการสำรวจครั้งก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม และทิ้งห่างพวกที่บอกว่าสนับสนุนพรรคแอลดีพีซึ่งมีเพียง 30% ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิกเคอิฉบับวันพฤหัสบดี(23) สำหรับคะแนนการยอมรับผลงานคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทาโร อาโซะนั้น อยู่ที่ 20% ขณะที่พวกไม่ยอมรับมีสูงถึง 71% ทีเดียว

โคซุเกะ ทาคาฮาชิ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ที่โตเกียว
กำลังโหลดความคิดเห็น