xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ-เกาหลีเหนือหันกลับไปพูดเหน็บแนมกันแบบเด็กๆ

เผยแพร่:   โดย: โดนัลด์ เคิร์ก

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Nuclear powers revert to playground taunts
By Donald Kirk
24/07/2009

การเหน็บแนมตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือในสัปดาห์นี้ โดยที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน เรียกพวกผู้นำเกาหลีเหนือว่าเป็น “วัยรุ่นเกเร” ส่วนเปียงยางก็บอกว่าเธอเป็น “เด็กหญิงโรงเรียนชั้นประถม” แม้อาจจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ถึงความตึงเครียดอันล้ำลึกที่เกิดขึ้นจากการที่ทั้งสองฝ่ายกำลังประจันหน้ากันในเรื่องนิวเคลียร์ ทว่ามันก็แทบไม่ช่วยเอื้ออำนวยให้สามารถแก้ไขสภาพการณ์ดังกล่าวได้เลย

วอชิงตัน – เริ่มแรกทีเดียว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน พูดระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ว่า ฝ่ายเกาหลีเหนือทำตัวเหมือน “เด็กเล็กๆ และวัยรุ่นเกเร ตลอดจนพวกผู้คนที่กำลังมุ่งหวังเรียกร้องความสนใจ”

จากนั้นฝ่ายเกาหลีเหนือก็ตอบโต้เอาคืนในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ที่จังหวัดภูเก็ต โดยกล่าวว่า คลินตันเดี๋ยวก็ “ดูเหมือนกับเด็กหญิงโรงเรียนชั้นประถม” เดี๋ยวก็เป็น “สาวแก่วัยเกษียณที่กำลังเดินช็อปปิ้ง”

ช่างเป็นการเหน็บแนมตอบโต้กันระหว่างเด็กๆ โดยแท้

การแลกเปลี่ยนคำเสียดสีเข้าใส่กันเช่นนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมถึงความตึงเครียดอันล้ำลึกในคาบสมุทรเกาหลี ทว่าไม่ได้เพิ่มเติมอะไรให้แก่การถกเถียงอภิปรายว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของโสมแดงเลย ฝ่ายเกาหลีเหนือบอกว่า “นโยบายเป็นศัตรู” ของสหรัฐฯนั่นแหละ ที่ต้องถูกประณามว่าเป็นตัวการทำให้ “สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย” และการเจรจา 6 ฝ่ายว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของโสมแดง ซึ่งนอกจากเกาหลีเหนือแล้ว ยังประกอบด้วยสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, เกาหลีใต้, และจีน ก็จบสิ้นล้มครืนไปอย่างแน่นอนแล้ว

การประเมินเช่นนี้ไม่ได้ถูกโต้แย้งใดๆ เลยจากวอชิงตัน ถ้าหากอาศัยคำพูดอันแข็งกร้าวของคลินตันเป็นเครื่องชี้บ่ง การเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือกำลังเลวร้ายลงอย่างน่าใจหาย นับแต่เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยไกล “แตโปดอง 2” (Taepodong 2) ในวันที่ 5 เมษายน, ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินครั้งที่สองในวันที่ 25 พฤษภาคม, จากนั้นก็ยิงขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยใกล้เป็นชุด ภายหลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่

อย่างน้อยที่สุดเมื่อพิจารณาจากคารมต่อสาธารณชนของเธอ ก็ดูจะกล่าวได้ว่า คลินตันมีท่าทีที่ไม่มีลดราวาศอก ยิ่งเสียกว่าพวกหัวแข็งกร้าวในคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช แม้กระทั่งในช่วงวาระแรกของเขา ซึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2002 เขาได้นำเอาเกาหลีเหนือมาใส่ไว้ในกลุ่ม “อักษะปีศาจ” (axis of evil) เคียงคู่กับอิหร่านและอิรัก

เธอส่งสัญญาณว่า ไม่มีทางเลยที่สหรัฐฯจะหว่านโปรยความช่วยเหลือให้เกาหลีเหนือ เพียงเพื่อให้โสมแดง “กลับคืนสู่โต๊ะเจรจา” –หรือเพื่อให้เกาหลีเหนือรับปากรับคำให้สัญญาต่างๆ “และแล้วก็ตระบัดสัตย์ไม่รักษาคำมั่น”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกาหลีเหนือยังจะต้องทำอะไรอีกมากมาย นอกเหนือไปจากการปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 5 เมกะวัตต์ ที่ศูนย์โรงงานนิวเคลียร์เมืองยองบอน (Yongbyon) และยุติการผลิตพลูโตเนียมสำหรับอุปกรณ์ทางนิวเคลียร์อื่นๆ ดังที่เกาหลีเหนือเคยบอกว่าตนเองกำลังดำเนินการอยู่ นอกจากนั้น เกาหลีเหนือยังจะต้องทำอะไรมากกว่าการกล่าวย้ำอีกครั้งว่าจะเคารพเงื่อนไขข้อผูกพันตามข้อตกลงหยุดยิง ที่เป็นเอกสารซึ่งทำให้สงครามเกาหลียุติลงในปี 1953 และก็เป็นเอกสารที่เวลานี้โสมแดงบอกว่าเป็นโมฆะใช้ไม่ได้แล้ว

ยังจำได้ไหมที่เคยพูดกันว่า โครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดของโสมแดง จะต้องอยู่ในสภาพ “ซีวิด” (CVID ที่มาจากอักษรตัวหน้าของคำว่า complete, verifiable, irreversible, disablement ซึ่งรวมความแล้วก็คือ โครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดของเกาหลีเหนือจะต้องมีการถอดถอนให้สิ้นสมรรถนะอย่างสมบูรณ์แบบ ชนิดที่ไม่สามารถกลับนำมาใช้ได้อีก และก็สามารถที่จะติดตามตรวจพิสูจน์ได้)

ตัวย่อนี้พูดกันแพร่หลายทีเดียวในช่วงวาระแรกของคณะรัฐบาลบุช ทว่าได้ถูกพับเก็บเข้าหิ้งในวาระที่สองของเขา ภายหลังคริสโตเฟอร์ ฮิลล์ ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้แทนระดับท็อปทางด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ได้เกลี้ยกล่อมให้เกาหลีเหนือยอมลงนาม ในคำมั่นสัญญาที่ใช้ถ้อยคำหลวมๆ มากเมื่อเดือนกันยายน 2005 ว่าจะขจัดนิวเคลียร์ของตน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้รับความช่วยเหลือมูลค่ามหาศาล

หลังจากโสมแดงดำเนินการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2006 ฮิลล์ยังรีบลนลานบอกให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถอดชื่อธนาคารซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันแห่งหนึ่งในมาเก๊า ออกจากบัญชีดำของสหรัฐฯ โดยที่โสมแดงได้เคยใช้ธนาคารแห่งนี้เองเป็นช่องทางส่งผ่านธนบัตรปลอมเป็นจำนวน 100 ล้านดอลลาร์

จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนตุลาคม 2007 เกาหลีเหนือแสดงท่าทีเหมือนกับยอมทำตามเงื่อนไขต่างๆ ตามโครงการที่จะมีการถอดถอนสมรรถนะด้านนิวเคลียร์ให้หมดสิ้น และถัดมาก็จะรื้อถอนทุกสิ่งทุกอย่างในเรื่องเกี่ยวกับการผลิตวัสดุอุปกรณ์ด้านนิวเคลียร์

ปรากฏว่าขณะอยู่ที่ภูเก็ต คลินตันได้หวนกลับมาพูดถึง “ซีวิด” อีก แม้จะไม่ได้เอ่ยคำนี้ออกมาอย่างชัดๆ เธอเตือนว่า “การถอดถอนสมรรถนะทางนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์แบบชนิดที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก คือหนทางเดินเพียงสายเดียวสำหรับเกาหลีเหนือ” ทว่าเธอไม่ถึงกับหวนกลับมาเรียกเกาหลีเหนือว่าเป็นสมาชิกรายหนึ่งของกลุ่ม “อักษะปีศาจ” ถึงแม้เธอน่าจะกำลังคิดเช่นนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาถึงความวิตกของสหรัฐฯเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ในอิหร่าน โดยที่เปียงยางนี่เองคือผู้ที่ขายทั้งความชำนาญการในเรื่องขีปนาวุธและตัวขีปนาวุธเองให้แก่เตหะราน

ยิ่งกว่านั้น คลินตันยังทำท่าปรารถนาที่จะเพิ่มประเทศอีกประเทศหนึ่งเข้าไว้ในกลุ่ม “อักษะ” นี้ด้วยซ้ำ นั่นคือ พม่า ซึ่งถูกสงสัยอย่างแรงว่ากำลังมีความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์อย่างลับๆ และหวังว่าจะได้รับการสนองตอบในเรื่องนี้ด้วยความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือ นอกจากนั้นพม่ายังถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายเรือสำหรับการขนส่งขีปนาวุธและข้าวของอุปกรณ์ทางทหารอื่นๆ ของเกาหลีเหนือ เพื่อนำไปขายยังที่อื่น ๆต่อไป

ดังที่ผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ พล.ร.อ.ทิโมธี คีตทิง ได้พูดเอาไว้ว่า สหรัฐฯจะรู้สึกกังวลใจกับพม่าก็ต่อเมื่อมีข้อพิสูจน์ว่า พม่า “กำลังรับสินค้าและความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือ”

สันนิษฐานกันว่าพม่าคือจุดหมายปลายทางของเรือสินค้าเกาหลีเหนือลำที่ชื่อว่า “คังนัม 1”(Kang Nam 1) ซึ่งในที่สุดเรือลำนั้นก็ได้หันหัวแล่นกลับไปโสมแดง ภายหลังถูกเรือพิฆาตอเมริกัน “ยูเอสเอส จอห์น แมคเคน” อันเป็นเรือรบที่ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธนำวิธีแบบ “เอจิส” พร้อมพรัก แล่นตามหลังอยู่สองสามวัน

เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า ไม่ว่า คังนัม 1 จะบรรทุกอะไรมา แต่เรือโสมแดงลำนี้ก็ไม่ต้องการที่จะถูกตรวจค้น ซึ่งตามมติล่าสุดของยูเอ็นนั้น ชาติอื่นๆ สามารถกระทำได้ หากเรือที่ต้องสงสัยเฉกเช่นลำนี้ เกิดไปแวะจอดเติมน้ำมันตามท่าเรือแห่งใดแห่งหนึ่งในระหว่างทาง โดยที่ตอนแรกๆ ทีเดียว เรือ คังนัม 1 ก็ดูเหมือนจะไปแวะจอดที่สิงคโปร์อยู่แล้ว ก่อนที่จะเปลี่ยนใจเมื่อถูกเรือพิฆาตอเมริกันติดตามมา

นอกจากนั้น ยังมีความเป็นไปได้ที่ทางการพม่าก็ไม่ต้องการเสี่ยงถูกประณามจากนานาชาติ หากปล่อยให้เรือ คังนัม 1 แล่นมาถึงจุดหมายปลายทางในแดนหม่อง แล้วพม่ายอมรับสินค้าที่ตนสั่งซื้อจากเรือโสมแดงลำนี้

เห็นชัดทีเดียวว่า เนื่องจากความคิดของเธอรวมศูนย์อยู่ที่ฉากเหตุการณ์เช่นที่เกิดขึ้นมานี้ คลินตันจึงได้เที่ยววาดภาพเกาหลีเหนือว่า กำลังอยู่อย่างโดดเดี่ยวไร้เพื่อนฝูง ในโลกที่เต็มไปด้วยศัตรูและผู้ไม่อยากคบค้าด้วยแล้ว แม้กระทั่งเพื่อนสนิทสนมที่สุด นั่นคือ จีน ก็ยังปฏิเสธไม่ยอมให้ความร่วมมือกับโสมแดง เพื่อช่วยเหลือในเรื่องการตรวจพิสูจน์สินค้าต้องห้าม

ยิ่งกว่านั้น เธอดูเหมือนจะเชื่อว่าได้ทุกๆ คนมาอยู่ข้างเดียวกับเธอหมดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการพูดคุยที่มีอาเซียนเป็นเจ้าภาพในคราวนี้ ก็ได้มีการออกคำแถลงร่วมเรียกร้องให้ “ทุกประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ” ดำเนินการตามข้อกำหนดต่างๆ ของมติยูเอ็น ที่ห้ามติดต่อกับเกาหลีเหนือในเรื่องสินค้าต้องห้าม

ทั้งจีนและรัสเซียต่างลงมติเห็นชอบด้วยกับญัตติของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นฉบับที่เพิ่งผ่านออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ดังกล่าว และจวบจนถึงปัจจุบันก็ดูมีท่าทีให้ความร่วมมือเป็นอันดี ปลายสัปดาห์นี้ อิตาลียังได้แสดงท่าทีที่มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการสั่งห้ามการส่งออกเรือหรูหรา 2 ลำไปยังเกาหลีเหนือ โดยที่มีรายงานว่าเรือทั้งสองลำนี้สร้างขึ้นเป็นพิเศษสำหรับคิมจองอิล “ผู้นำซึ่งเป็นที่รัก” ของโสมแดง

กระนั้นก็ตาม เมื่อเจาะลงไปถึงเบื้องลึกของการพูดจาและท่าทีดังกล่าวเหล่านี้ กลับไม่สามารถบอกได้เลยว่า การประจันหน้ากันเช่นนี้กำลังจะนำไปสู่อะไร ไม่ว่าคลินตันจะพูดอย่างไร เกาหลีเหนือย่อมจะต้องออกมาประณามแบบเป็นกิจวัตรประจำเลย ว่า “เหลวไหลไร้สาระ” ทว่าก็ไม่มีสัญญาณบ่งบอกอะไรเช่นกัน ว่าโสมแดงกำลังจะไปไกลเกินกว่าการทดสอบอาวุธ และจะทุ่มเดิมพันเสี่ยงก่อสงครามเกาหลีครั้งที่สอง หรือแม้เพียงแค่ก่อการปะทะกันในระดับเล็กๆ ขึ้นมา

ไม่มีใครเลยที่ภูเก็ต พูดออกมาอย่างเปิดเผยในเรื่องความกังวลของโสมแดงเกี่ยวกับสุขภาพของคิมจองอิลในเวลานี้ ตลอดจนการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำในเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม ทัศนะมุมมองที่เห็นกันอยู่ทั่วไปก็คือ ความวิตกเหล่านี้เองที่อยู่เบื้องหลังการสำแดงแสนยานุภาพจำนวนมากของโสมแดงในช่วงหลังๆ นี้

หันมามองด้านสหรัฐฯบ้าง ด้วยเหตุผลต่างๆ หลายประการทว่าผิดแผกไปจากของฝ่ายเปียงยาง ทางวอชิงตันก็ไม่สนใจที่จะเล่นเกมแรงไปไกลเกินกว่าคำพูดดุดันของคลินตันเช่นกัน

ประธานาธิบดีบารัค โอบามานั้น รู้สึกวิตกกว่ามากกับพันธะของสหรัฐฯที่มีอยู่กับอัฟกานิสถานและอิรัค แม้สำหรับประเทศหลังนี้ เขายังคงพูดย้ำว่าสหรัฐฯจะสามารถอนทหารของตนออกไปได้ภายในสิ้นปี 2011 น่าสนใจมากทีเดียวที่บุคคลสำคัญคนหนึ่งซึ่งกำลังดำเนินนโยบายของสหรัฐฯในอิรักนั้น เป็นนักการทูตมุ่งแต่สันติภาพคนเดียวกันกับที่ได้แสดงบทบาทอันสำคัญในการเจรจา 6 ฝ่ายว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือมาแล้ว เขาก็คือ คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ ซึ่งเวลานี้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอิรัก

ร่องรอยเบาะแสที่บ่งชี้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากการประจันหน้ากัน เห็นจะดูได้จากการที่เกาหลีใต้ซื้ออาวุธจากสหรัฐฯในปริมาณที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในปีที่แล้วฝ่ายทหารของเกาหลีใต้นำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯเป็นจำนวนทั้งสิ้น 790 ล้านดอลลาร์ แทบจะไล่ทันตัวเลข 808 ล้านดอลลาร์ที่นำเข้าโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ซื้ออาวุธสหรัฐฯรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากอันดับหนึ่งอย่างอิสราเอล ที่ในปีที่แล้วฝ่ายทหารนำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯเป็นมูลค่า 1,350 ล้านดอลลาร์

แน่นอนทีเดียว ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้ยังคงห่างไกลนักจากปริมาณความช่วยเหลือด้านพลังงานที่สหรัฐฯสัญญาให้แก่เกาหลีเหนือ ถ้าหากโสมแดงยอมยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ของตน เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือผู้หนึ่งได้ตอบโต้ขณะอยู่ที่ภูเก็ต โดยเรียกข้อเสนอของสหรัฐฯว่า “เหลวไหลไร้สาระ” และพูดถึง “อธิปไตย, ความมั่นคง นั้นคือชีวิต”

เจ้าหน้าที่ผู้นี้ใช้คำอุปมาที่มีสีสันเป็นพิเศษทีเดียว โดยกล่าวว่าสิ่งที่สหรัฐฯบอกให้ทำ เท่ากับ “กำลังบอกให้เราถอดเสื้อผ้าของเราออก” การหันมาใช้วลีเช่นนี้ดูเหมือนมุ่งที่จะให้คล้องจองกับการที่เขาบรรยายถึงคลินตันว่าเป็น “สตรีที่เป็นเหมือนตัวตลก” (เดี๋ยวก็ “ดูเหมือนกับเด็กหญิงโรงเรียนชั้นประถม” เดี๋ยวก็เป็น “สาวแก่วัยเกษียณที่กำลังเดินช็อปปิ้ง”) เมื่อตอนที่ตอบโต้ถ้อยคำโวหารของเธอ

ยังเป็นไปได้เสมอที่จะตีความการเล่นถ้อยคำโวหารเช่นนี้ว่าเป็นสัญญาณแสดงถึงความสัมพันธ์อันอบอุ่น อย่างน้อยที่สุดเกาหลีเหนือก็ไม่ได้เรียกคลินตันว่าเป็น “เศษเดนมนุษย์” –อันเป็นวลีที่สงวนไว้ให้กับ จอห์น โบลตัน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายการควบคุมอาวุธ และต่อมาก็เป็นเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำยูเอ็น ซึ่งได้รับการยอมรับกันว่าเป็นคนที่แข็งกร้าวที่สุดในบรรดาพวกแข็งกร้าวทั้งหลายในคณะรัฐบาลบุชที่พ้นอำนาจไปแล้ว

โดนัลด์ เคิร์ก เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ทำข่าวเกี่ยวกับเกาหลี และการประจันหน้ากันระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ มาเป็นเวลากว่า 30 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น