xs
xsm
sm
md
lg

“สหรัฐฯ” เล็งเพิ่มบทบาทแข่งขันกับ “จีน” ลงนามสนธิสัญญาไมตรีของ “อาเซียน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะลงนามเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเย็นวันพุธ (22)
เอเอฟพี - การที่สหรัฐฯ เตรียมจะลงนามเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสัปดาห์นี้ นับเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า อเมริกาต้องการสานความสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียนให้มากขึ้น และเป็นการแข่งขันกับจีนซึ่งกำลังมีอิทธิพลสูงขึ้นทุกที ทั้งนี้ เป็นความเห็นของพวกนักการทูต

ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ จะลงนามเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเย็นวันพุธ (22) ในระหว่างร่วมประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) ซึ่งจะมีตัวแทนจาก จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เข้าร่วมด้วย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ลังเลไม่เข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาฉบับนี้อยู่หลายปี เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการลดช่องทางไม่ให้สหรัฐฯ ขยายอิทธิพลทางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งมีประชากรเกือบ 600 ล้านคน ทว่า การที่จีนซึ่งลงนามไปก่อนหน้าแล้วในปี 2003 และยังขยายอิทธิพลของตนในภูมิภาคแห่งนี้ได้ อีกทั้งการที่มีข้อสงสัยว่าสหรัฐฯ ปฏิเสธเพราะมองว่าอาเซียนไม่มีความสำคัญเชิงการทูตมากพอ ทำให้ในที่สุดสหรัฐฯ ยอมเปลี่ยนท่าที

“สหรัฐฯ ตัดสินใจแล้วผลประโยชน์จากการลงนามจะมีมากกว่า” โรดอลโฟ เซเวริโน อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าว

รัฐมนตรีของกลุ่มอาเซียน ก็ได้ระบุในคำแถลงร่วมเมื่อวันจันทร์ (20) ว่า “ขอต้อนรับการเข้าร่วมลงนามของสหรัฐฯ” ในสนธิสัญญาซึ่ง “ถือเป็นสัญญาณอันชัดเจนของพันธกิจต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้”

นอกจากนั้น ถ้อยแถลงดังกล่าวยังสะท้อนถึงความพอใจต่อสหรัฐฯ หลังจากที่อาเซียนเคยตั้งคำถามถึงเจตจำนงของสหรัฐฯ ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมุมมองของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคนี้

ภาคีในสนธิสัญญาฉบับนี้จะต้องยอมรับ และปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน 3 ประการ คือ จะแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี จะไม่ใช้หรือขู่ว่าจะใช้กำลัง และจะไม่แทรกแซงกิจการภายใน

“นัยของการไม่ลงนามเข้าเป็นภาคี ก็คือว่า หากคุณเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค และคุณไม่ลงนาม คนก็อาจจะถามว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงไม่ลงนามล่ะ” เซเวริโน อธิบาย ปัจจุบันเขาเป็นหัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษาในสิงคโปร์

“มันอาจหมายความว่าสหรัฐฯอาจจะใช้กำลังเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งในภูมิภาคก็ได้ใช่หรือเปล่า สหรัฐฯต้องการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกอาเซียนใช่ไหม”

การลงนามเป็นภาคียังอาจช่วยสหรัฐฯ ขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ ซึ่งจีนและอินเดียต่างกำลังบุกเข้ามาแสดงไมตรีอย่างต่อเนื่องด้วยการเข้าร่วมกับองค์กรระดับภูมิภาคหลายต่อหลายแห่ง โดยเฉพาะจีนนั้นมีบทบาทสำคัญมากในการประชุมกับอาเซียน เพราะกลุ่มอาเซียนมองว่าจีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่และมีอิทธิพลในระดับโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงควรถือเป็นพวกไว้อย่างเหนียวแน่น

นักการทูต มองว่า สหรัฐฯยังต้องการใช้สนธิสัญญานี้เป็นเครื่องมือเพื่อขอเป็นสมาชิกเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit - EAS) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มอาเซียนเข้ากับประเทศคู่ค้า 6 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และ เกาหลีใต้

การลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ถือเป็นข้อกำหนดอย่างหนึ่งในการขอสมาชิกภาพในอีเอเอส และอีเอเอสก็เป็นที่จับตามองอยู่ว่าจะเติบโตต่อไปเป็นประชาคมเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์แห่งเอเชียต่อไปในอนาคต

“การประชุมสุดยอดอีเอเอสมีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ขนาดยักษ์” นักการทูตคนหนึ่ง บอกและว่า “หากสหรัฐฯ ไม่เข้าร่วมเสียตั้งแต่ตอนนี้ก็จะไม่มีอิทธิพลในเขตเศรษฐกิจที่จะมีจีนและอินเดียอยู่ด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น