xs
xsm
sm
md
lg

“สร้างงาน”ของโอบามายังไม่เป็นจริง

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ มอริซี

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Obama’s job claims don’t work
By Peter Morici
10/06/2009

ทำเนียบขาวน่าจะสร้างผลงานได้เพียงแค่เบรกไม่ให้อัตราว่างงานพุ่งกระฉูด โดยไปสร้างงานใหม่กับไปรักษาอัตราจ้างงานเดิมไว้ได้ประมาณ 150,000 ตำแหน่งสำหรับช่วง 100 วันแรกที่เริ่มดำเนินมาตรการ พร้อมกับจะมีศักยภาพที่จะเนรมิตงานได้อีกประมาณสี่เท่าสำหรับอีก 100 วันถัดไป โอบามาควรตระหนักเสียทีว่าการดำเนินงานในปัจจุบัน มิใช่เงื่อนไขแบบการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว ณ วันใดวันหนึ่งข้างหน้านี้ คำสัญญาจะต้องสามารถพลิกขึ้นไปเป็นการเติบโตรุ่งเรืองได้แล้ว

แม้รัฐบาลบารัค โอบามา จะอ้างตัวเลขกลุ่มใดๆ ก็ตาม แต่ในทางเป็นจริงแล้วแพ็กเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาสามารถสร้างงานได้ไม่มากนัก หรือกระทั่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเลิกจ้างก็แค่เล็กน้อย ดังเห็นได้ว่าการจ้างงานของภาครัฐไม่มีการขยายตัวเลย

นับจากธันวาคม 2007–กุมภาพันธ์ 2009 หรือก็คือ 14 เดือนแรกของยุคเศรษฐกิจถดถอย การจ้างงานภาครัฐทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเคยทำสถิติขยายตัวขึ้นมา 128,000 ตำแหน่ง พอมาถึงช่วงกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2009 ซึ่งเท่ากับประมาณ 100 วันแรกของการใช้แพ็กเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลโอบามา การจ้างงานภาครัฐทั้งประเทศลดลงไปราว 2,000 ตำแหน่ง ในเวลาเดียวกัน การจ้างงานในภาคเอกชนก็ทยอยถดถอยลงเรื่อยๆ

หลังจากนั้นมา สถานการณ์ด้านตลาดงานในภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นบ้างในแง่ที่ว่าอัตราถดถอยแสดงการชะลอตัว แต่นั่นเป็นกระบวนการปกติที่เกิดขึ้นในยามที่ระบบเศรษฐกิจปรับตัวและเตรียมพร้อมแก่การพลิกฟื้น ทั้งนี้ ประมาณการกันว่าจีดีพีจะแตะจุดต่ำสุดในไตรมาสสามนี้ โดยที่อัตราการว่างงานจะยังเพิ่มขึ้น(แม้จะเป็นไปในอัตราที่ไม่ดุเดือด)ต่อเนื่องไปในปี 2010

ระบบเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวได้เร็วเพียงพอที่จะรองรับแรงงานรุ่นใหม่ๆ ได้ทั้งหมด หรือก็คือการที่จำนวนงานที่เพิ่มขึ้นมารุ่นใหม่ๆ จะไม่เพียงพอกับจำนวนแรงงานที่เพิ่มเข้าสู่ระบบนั่นเอง

แพ็กเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งอานิสงส์ในทางที่ช่วยเพิ่มอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในปี 2010 กับ 2011 โดยจะช่วยเพิ่มปริมาณงานในระบบขึ้นมาประมาณ 2.5-3.0 ล้านตำแหน่ง ซึ่งนั่นย่อมไม่เพียงพอแก่การชดเชยงานที่หายไปทั้งสิ้น 7-8 ล้านตำแหน่งจากฤทธิ์เดชของวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ ยิ่งกว่านั้น ปริมาณงานที่เพิ่มเข้ามาด้วยแพ็กเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นงานชั่วคราวที่สามารถยืนระยะได้แค่ประมาณ 2 ปีโดยเฉลี่ยต่อหนึ่งแพ็กเก็จเท่านั้น

เมื่อตรวจสอบพลังทางเศรษฐกิจของตัวแพ็กเก็จพบว่าไม่ฉูดฉาด ดีไซน์ของแพ็กเก็จนี้ทุ่มเทให้แก่โครงการที่เป็นรูปธรรมแรงๆ ในสัดส่วนที่ไม่มากเพียงพอ และแทบจะไม่มีส่วนที่กระตุ้นการจับจ่ายหมวดที่จะไปส่งผลแก่การเติบโตแบบถาวร แพ็กเก็จของรัฐบาลโอบามาน่าจะส่งผลได้เพียงแค่เบรกไม่ให้อัตราว่างงานพุ่งกระฉูด โดยไปสร้างงานใหม่กับรักษาอัตราจ้างงานเดิมไว้ได้ประมาณ 150,000 ตำแหน่งสำหรับช่วง 100 วันแรกนี้ พร้อมกับมีศักยภาพที่จะเนรมิตงานได้อีกประมาณ 600,000 ตำแหน่งสำหรับอีก 100 วันถัดไป

ด้วยประมาณการเพียงเท่านั้น โอบามาควรได้ตระหนักว่าการดำเนินงานในปัจจุบัน มิใช่เงื่อนไขแบบการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว มันถึงเวลาที่จะต้องสร้างของจริงเป็นการเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนขึ้นมา กลยุทธ์แบบเดิมๆ ที่โอบามาเคยใช้จนคุ้นชินนั้น ไม่เหมาะกับกาลขณะนี้ ไม่ว่าจะการชโลมใจผู้คนด้วยสโลแกนกินใจ การยิงโวหารคมคายหักล้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือการทั่งการหว่านเม็ดเงินตอบแทนผู้ให้การสนับสนุนทางการเมือง เพราะกลยุทธ์เหล่านี้ไม่อาจช่วยฟื้นพลังการเติบโตหรือช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้

ในเวลาเดียวกัน ตัวเลขเศรษฐกิจหลายหมวดยังต้องจับตาให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยอดขาดดุลการค้าซึ่งยังเดินหน้าบวมขยายมากขึ้นเรื่อยๆ ในการนี้ การค้ากับจีนและการนำเข้าน้ำมันมีสัดส่วนสูงกว่า 90% ของยอดขาดดุลรวม และการขาดดุลการค้าให้กับจีนนั้นมีแนวโน้มแต่จะเพิ่มสูงขึ้นในยามที่อำนาจซื้อของผู้บริโภคฟื้นตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าน้ำมันก็อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นตามการไต่ระดับของราคาน้ำมัน

การขาดดุลการค้า ณ อัตรา 2.5% ของจีดีพีนั้น ส่งผลไปลดทอนความต้องการใช้สินค้าและบริการในประเทศในสัดส่วนที่มากกว่าที่ตัวแพ็กเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจไปช่วยเพิ่มให้ ยิ่งกว่านั้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาด้วยอานิสงส์ของแพ็กเก็จนั้นมีระยะส่งผลแค่ชั่วคราว ขณะที่การฉุดถ่วงที่เกิดจากการขาดดุลการค้าเป็นอะไรที่ถาวร

ในปี 2009 ยอดขาดดุลการค้าเฉือนจีดีพีหายไป 4-6 แสนล้านดอลลาร์ และในระยะยาว มันจะทำลายศักยภาพการเติบโตของจีดีพีในแต่ละปีได้ถึง 3%-4%

ภาคการผลิตเป็นกลุ่มที่ถูกกระทบรุนแรงเป็นพิเศษจากเรื่องนี้ ยิ่งเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจหดตัวบ้าง ฟื้นตัวบ้าง งานในภาคการผลิตเสียหายไปแล้ว 5.3 ล้านตำแหน่งนับจากเมื่อปี 2000 ประมาณการข้างหน้ามีอยู่ว่าเมื่อระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมา ภาคการผลิตน่าจะสร้างงานกลับขึ้นมาได้แค่ 2.7 ล้านตำแหน่ง ต่อให้ประสิทธิภาพการผลิตมีการขยายตัวได้อย่างมากมายก็ตาม

สำหรับประมาณการสถานการณ์ของระบบเศรษฐกิจโดยรวม พบว่าเนื่องจากพลังการเติบโตที่สูญหายไปนั้นมีลักษณะสะสมตัว และเนื่องจากการขาดดุลการค้าที่สะสมไว้ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ น่าจะเล็กลงราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลเป็นมูลค่าเท่ากับประมาณ 10,000 ดอลลาร์ต่อแรงงานหนึ่งคน

ปีเตอร์ มอริซี สอนอยู่ที่ Smith School of Business ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ และเคยเป็นประธานคณะนักเศรษฐศาสตร์ของคณะกรรมาธิการการค้าต่างประเทศที่เรียกกันว่า United States International Trade Commission
กำลังโหลดความคิดเห็น