xs
xsm
sm
md
lg

Animal Fantasia เพราะเมืองไทยไม่ได้มีแค่หมีแพนด้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพนด้าน้อยกำลังก่อกวนกระแสข่าว ไม่ว่าจะลุก จะเดิน จะมีแต้มดำชัดขึ้น ล้วนต้องถูกตีเป็นข่าว แต่ที่ไม่ค่อยพูดถึงมากนักคือประเทศไทยต้องจ่ายเงินจำนวน 1.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4-5 ล้านบาท สำหรับเจ้าแพนด้าน้อย โดยแบ่งจ่าย 2 งวด งวดแรกจ่ายภายใน 30 วันหลัง ส่วนงวดที่ 2 จ่ายภายในปีที่สอง ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงของโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทยที่ทำตาม ข้อตกลงของรัฐบาลไทย-จีน ที่ให้แพนด้าเป็นทูตสันถวไมตรี และเพื่อบริจาคเงินช่วยเหลือแพนด้าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในประเทศจีน

แล้วไหนจะเงินอีกร้อยกว่าล้านที่ใช้ไปเพื่อแพนด้าน่ารัก อาจดูใจร้าย แต่ก็น่าคิดเหมือนกันว่าเงินจำนวนนี้จะเอาไปช่วยช้าง หรือสุนัข-แมวจรจัด หรือสัตว์ป่าเมืองไทยที่ใกล้สูญพันธุ์ได้อีกเท่าไหร่ ความเอาใจใส่แพนด้าในระดับล้นเกินนี้เองเป็นสาเหตุให้สัตว์ต่างๆ ในสวนสัตว์เชียงใหม่และที่อื่นๆ น้อยอกน้อยใจ บรรดาสัตว์ดาวเด่นตามสวนสัตว์ที่เคยเป็นขวัญอกขวัญใจคุณหนูก็เลยถูกหลงถูกลืมไป

‘ปริทรรศน์’ จึงคิดว่าคงจะเป็นการดี ถ้าเราจะรื้อฟื้นความทรงจำถึงสัตว์ดาวเด่นเหล่านั้น ซึ่งหลายคนเคยชื่นชม เคยสนใจ แทนที่จะเททุกอณูความสนใจไปที่แพนด้าน้อยเพียงอย่างเดียว

จุดเด่น ดาวเด่น

ถ้าใครเคยไปเที่ยวสวนสัตว์ทั้ง 5 แห่งที่อยู่ในการดูแล องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และช่างสังเกตก็อาจจะรับรู้ได้ถึงจุดเด่นของสวนสัตว์แต่ละแห่ง รวมไปถึงสัตว์ดาวเด่นของสวนสัตว์นั้นๆ อย่าง สวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดิน ข้อจำกัดของพื้นที่ทำให้เขาดินไม่สามารถขยายพื้นที่ได้อีก หนำซ้ำในช่วงที่ผ่านมายังต้องเผชิญกับสถานการณ์การเมือง มีการปิดถนน ล้อมทำเนียบฯ จนส่งผลกระทบต่อจำนวนที่มาเที่ยวสวนสัตว์ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นอย่างหนึ่งของเขาดินตามบริบทของสถานที่ตั้ง เราก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นปอด เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งความรู้นอกห้องเรียนที่อยู่ใกล้ที่สุด เป็นที่ที่พ่อแม่พาเด็กๆ มาเที่ยวไม่น้อยไปกว่าห้างสรรพสินค้า

เนื่องจากเป็นสวนสัตว์ที่อยู่มานานดาวเด่นก็เลยอาจจะมีมากหน่อย เช่น เสือขาว นำเข้าจากอินเดีย ถือเป็นสัตว์หายากอีกชนิดของโลก ปัจจุบันนี้ สวนสัตว์ดุสิตสามารถเพาะพันธุ์ได้เกือบ 10 ตัวแล้วเก้งเผือก ทั่วโลกมีเพียง 3 ตัว เท่านั้น และทั้งหมดอยู่ในสวนสัตว์ดุสิแพนด้าแดง 2 ตัว ซึ่งส่งตรงมาจากประเทศจีน และ ‘แม่มะลิ’ ฮิปโปโปเตมัสขวัญใจเด็ก

อย่าง น้อง คริสตินา ฟลอริดา วัย 2 ขวบ ซึ่งมาเที่ยวสวนสัตว์เขาดินเกือบทุกอาทิตย์ เล่าจุดเริ่มต้นของการมาสวนสัตว์ว่าคุณแม่เป็นคนพามา โดยสถานที่ที่น้องชอบไปที่สุดก็คือ ‘น้ำพุ’ ยิ่งเวลาที่มีน้ำออกมา ก็ยิ่งชอบมาก รู้สึกตื่นเต้นดี และที่สำคัญคือมีปลาว่ายอยู่ในน้ำด้วย

ขณะที่ผู้ดูแลน้องคริสตินา อย่าง ธีรกานต์ แปลงไธสง แม่บ้านวัย 40 ปี กล่าวว่า น้องจะชอบสัตว์ที่น่ารักๆ อย่างยีราฟ กวาง หรือแพนด้าแดง ขณะที่สัตว์ที่ดูน่ากลัวอย่างเสือ หรือสิงโต จะไม่ชอบเท่าใดนัก
….......

สวนสัตว์แห่งที่ 2 ในเมืองไทยอยู่ที่เชียงใหม่ สวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อดูจากสถานที่ตั้งอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อของประเทศแล้ว ต้องยอมรับว่าทุกอย่างลงตัว นอกจากนี้ยังมีสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี ให้เที่ยวชม สัตว์ดาวเด่นของที่นี่ไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าเป็น ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย หมีแพนด้าที่เช่ามาจากประเทศจีน ซึ่งตอนนี้ก็มีทายาทมาให้คนไทยได้ชื่นชมและยังมีสัตว์น้ำ ใน Chiangmai Zoo Aquarium ที่ว่ากันว่าที่นี่คือสวนสัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

..........

สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เป็นสวนสัตว์เปิดแห่งแรกในเมืองไทย และด้วยความที่อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมพู่ จึงทำให้สวนสัตว์แห่งนี้เป็นแหล่งวิจัยสัตว์ป่าสำคัญของเมืองไทย ด้วยเนื้อที่กว่า 5 พันไร่
สัตว์ดาวเด่นของที่นี่คือเสือ ถือเป็นแหล่งรวมเสือหลายสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนั้นก็มีกรงนกใหญ่, ละมั่ง ซึ่งที่นี่มีสวนเพาะพันธุ์ละมั่งโดยเฉพาะ โดยที่คุณสามารถเข้าชมเจ้ากวางน้อยเหล่านี้ได้อย่างใกล้ชิด, สัตว์แอฟริกัน ซาวันนา ที่นี่ถือเป็นแหล่งรวบรวมสัตว์แอฟริกาที่ใหญ่สุดแห่งหนึ่ง โดยสัตว์ในนี้มีหลากหลายประเภททั้ง ยีราฟ ม้าลาย นกกระจอกเทศ และแรดขาว และสำหรับคนที่ชอบความโรแมนติกที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวก็มีสวนผีเสื้อ ที่ได้รวบรวมผีเสื้อเอาไว้มากถึง 40 ชนิด ให้ผู้รักแมลงได้ชมกันอย่างมีความสุข

..........

สวนสัตว์โคราช เป็นสวนสัตว์น้องใหม่เมื่อเทียบกับสวนสัตว์รุ่นพี่ทั้ง 3 แห่ง และด้วยสภาพพื้นที่เป็นที่ราบกว้างใหญ่ สวนสัตว์โคราชจึงใช้ส่วนนี้ในการสร้างจุดเด่นของตัวเองขึ้น

สัตวแพทย์ เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์ ตำรวจสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และอีกตำแหน่งคือแฟนพันธุ์แท้สวนสัตว์ไทยบอกว่า "ถ้าพูดถึงสวนสัตว์โคราชจะมีจุดเด่นในเรื่องซาฟารี มี Open Area สัตว์ที่เด่นๆ จึงเป็นสัตว์ที่อยู่ตามทุ่งหญ้าซาฟารีในแอฟริกา อย่างยีราฟ แรด แอนธิโรป”
ที่นี่เป็นที่เดียวเท่านั้นที่คุณจะสามารถสัมผัสราชาของสัตว์ซาฟารี 5 ประเภทพร้อมกัน ทั้งช้างแอฟริกา สิงโต แรดขาว ควายป่าแอฟริกา และเสือดาว-เสือดำ และยังมีนกกระเรียนพันธุ์ไทย ซึ่งใกล้สูญพันธุ์ แต่ที่ได้เพาะพันธุ์จนเพิ่มจำนวนเป็น 99 ตัวแล้ว

...........

สวนสัตว์สงขลา แม้จะเป็นสวนสัตว์น้องใหม่สุด แต่ที่นี่ก็มีสัตว์ดาวเด่นกับเขาอยู่ไม่น้อย ขอยกตัวอย่างดังนี้ นกหายากนานาชนิด ซึ่งคุณจะหาที่อื่นดูไม่ได้ ทั้งไก่ฟ้าหน้าเขียว นกกระตั้วดูคอร์ป นกกะรางหัวหงอก นกกาเหว่า และยังมีสัตว์หายากอย่างสมเสร็จและสัตว์ป่าพื้นเมืองในภาคใต้

นานาทัศนะจากคนเที่ยวสวนสัตว์

สวนสัตว์ถือเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวหนึ่ง ที่ผู้คนนิยมพาบุตรหลานไปเที่ยวอยู่สม่ำเสมอ เพราะสวนสัตว์เป็นแหล่งบันเทิงที่ในวันนี้เราขอพาทุกคนไปพูดคุยกับบรรดานักเที่ยวสวนสัตว์ ว่าเพราะอะไรเขาถึงชอบไปสวนสัตว์กัน และพวกเขาคิดว่ามีเรื่องอะไรอีกไหม ที่สวนสัตว์ควรจะต้องปรับปรุงแก้ไข

ภาณุวัฒน์ ศรีสิทธิ์ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว เล่าว่าตนมักจะพาครอบครัวมาที่นี่บ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะตนมองว่าสวนสัตว์เป็นแหล่งสร้างกิจกรรมและสานความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ที่สำคัญ น้องเนสท์ ลูกสาวของเขาก็ชอบสัตว์เหล่านี้มาก โดยเฉพาะยีราฟและช้าง ในขณะที่เขาก็ชอบบรรยากาศภายในสวนสัตว์มาก เนื่องจากร่มรื่นดีและปราศจากมลพิษ นับเป็นแหล่งพักผ่อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ที่คนกรุงเทพฯ ควรจะพาครอบครัวมาเที่ยว

ขณะเดียวกัน ภาณุวัฒน์ยังได้ฝากข้อเสนอให้สวนสัตว์ช่วยรับไปพิจารณาด้วย คือการเพิ่มกิจกรรมให้แก่เด็กๆ มากขึ้น เพราะมองว่าในปัจจุบันนี้ กิจกรรมที่มีอยู่นั้นน้อยเกินไป ไม่หลากหลาย และเพียงพอต่อความต้องการของเด็กๆ ขณะเดียวกันก็อยากให้สวนสัตว์จัดหาสัตว์แปลกๆ จากต่างประเทศ มาใส่ให้เยอะขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้แก่เด็กๆ

อาทิตย์ โชติสัจจานันท์ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่นิยมเที่ยวสวนสัตว์ ที่ผ่านมาเขาเคยไป ทั้งสวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์พาต้าปิ่นเกล้า และสวนสัตว์เปิดเขาเขียว สำหรับสาเหตุที่ชอบไปนั้นเป็นเพราะเขารู้สึกว่าสวนสัตว์มีสถานที่ที่มีเสน่ห์ ไปแล้วรู้สึกสดชื่น สบายใจ และโดยส่วนตัวก็มองว่า จริงๆ แล้วสวนสัตว์ก็คือสวนสาธารณะดีๆ นั่นเอง แต่สิ่งที่สวนสัตว์โดดเด่นเหนือสวนสาธารณะทั่วไปก็คือการมีสัตว์นานาชนิดบรรจุอยู่ในนั้น

อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ก็มีข้อแนะนำถึงองค์กรสวนสัตว์ คืออยากจะให้ช่วยกำจัดกลิ่นในสวนสัตว์ให้ด้วย เพราะบางครั้งเวลาเดินไปสัตว์บางประเภทก็มักได้กลิ่นที่แรงมาก จนบางทีต้องเอามืออุดจมูก“ผมเข้าใจว่าเรื่องกลิ่นคงแก้ไขลำบาก เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติของสัตว์ แต่ยังไง หากทางสวนสัตว์จะหาวิธีกำจัด หรือลดให้เหม็นน้อยกว่านี้ ก็จะดีมาก”

อีกเรื่องหนึ่งที่อาทิตย์ฝากเอาไว้ ก็คือการดูแลสัตว์ เพราะที่ผ่านมา เขาพบว่าสัตว์หลายชนิดดูซูบผอม บางตัวก็ไม่ยอมเล่น นั่งเงียบเหมือนไม่ใส่ใจสิ่งรอบข้างเลย

“บางครั้งที่ไป ผมก็อดรู้สึกสงสารสัตว์ต่างๆ ขึ้นมาไม่ได้เหมือนกัน เพราะหลายๆ ครั้ง สัตว์บางตัวดูไปก็รู้สึกว่ามันหงอยๆ ยังไงชอบกล ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าน่าจะมาจากความเครียดของสัตว์ หรือไม่ก็สถานที่ซึ่งคับแคบเกินไป โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าทางสวนสัตว์ควรจะหาทางแก้ไขในเรื่องเหล่านี้โดยด่วน อาจจะจำกัดจำนวนคนที่เข้าดู หรือจัดสร้างสถานที่ให้กว้างขึ้น”

สุดท้าย สัตวแพทย์ เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์ ฝากไว้อย่างน่าคิดต่อคิดเติมว่า
“อีกข้อหนึ่งที่สัตว์ป่าเมืองไทยควรจะทำคือการสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กๆ ไทยสนใจสัตว์ป่าเมืองไทยมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่ถ้าเราถามว่ารู้จักยีราฟ ฮิปโปฯ หรือเปล่า จะตอบว่ารู้จัก แต่ถ้าถามถึงชะมดแผงหางปล้อง อีเห็นข้างลาย ซึ่งเป็นสัตว์ป่าบ้านเรา แต่คนไทยไม่รู้จัก นี่คือจุดด้อยของสวนสัตว์บ้านเราที่ยังมองคุณค่าสัตว์ป่าของเราน้อยกว่า ทั้งที่บางชนิดสถานะหายากมากกว่าหมีแพนด้าด้วยซ้ำ”

ปัจจุบัน สวนสัตว์ในเมืองไทยที่อยู่ในการดูแลขององค์การสวนสัตว์ฯ ต้องเรียกว่าอยู่ในระดับที่ได้มาตรฐาน ขณะที่สวนสัตว์ของเอกชนบางแห่งก็ดี แต่บางแห่งก็ไม่ ไหนจะมีเรื่องการลักลอบนำเข้าสัตว์ป่า ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามต่อความโปร่งใสและมาตรฐานการจัดการมากยิ่งขึ้น คงจะดีถ้าเราจะใช้สถานการณ์ตอนนี้ในการยกเครื่องสวนสัตว์เมืองไทยโดยโหนกระแสเจ้าแพนด้าน้อยนี้เสียเลย

**********

แพนด้าน้อย จะเอายังไงกันต่อ?

การให้กำเนิดแพนด้าน้อยของหลินฮุ่ย ทำเอาหลายๆ ฝ่ายวุ่นวายไปตามๆ กัน ไหนจะต้องมาคอยตามข่าว คอยเฝ้าดูอาการ คอยติดตามพัฒนาการทุกระยะ ดร.โสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าให้ทาง ‘ปริทรรศน์’ ฟังว่าขณะนี้กำลังปรึกษาหารือวางแผนเรื่องการดูแลและการจัดกิจกรรมในช่วง 100 วันแรกของแพนด้าน้อยกับทางเมืองจีน

“ส่วนหลินฮุ่ย หลังจากนี้ก็ต้องคอยดูสุขภาพต่อไปในช่วง 100 วันนี้เหมือนกันว่าเราจะดูแลอย่างไร ก็มีการปรึกษากับทางสัตวแพทย์และประเทศจีน ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องทำเรื่องการตลาด การประชาสัมพันธ์ ต้องมีการวางแผนว่าจะทำยังไงจึงสามารถมีรายได้เข้ามาจนสามารถบริหารจัดการสวนสัตว์ได้ และให้เพียงพอกับรายจ่ายที่ต้องทำหิมะเทียมซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง หรือเรื่องบุคลากร การจัดการผู้คนที่เข้าไปเที่ยว”

ดร.โสภณอธิบายต่อว่า ขณะนี้ได้มีการทำแผนการตลาดถึง 2 ปีในการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ โดยการประสานงานกับบริษัททัวร์เพื่อจัดแพกเกจนักท่องเที่ยวจากเฉินตู ประเทศจีน บ้านเกิดของช่วงช่วง-หลินฮุ่ย มาชมแพนด้าน้อยในเมืองไทย ส่วนกรณีที่จะขอให้พ่อ-แม่-ลูก ตระกูลแพนด้า ได้อยู่ในเมืองไทยต่อนั้น ดร.โสภณบอกว่า

“ตอนนี้เราก็ได้ทำหนังสือไป โดยได้รับคำสั่งจากประธานองค์การสวนสัตว์และรัฐมนตรี โดยในเบื้องต้นให้ทางองค์การสวนสัตว์ฯ ประสานไปก่อน ผมจึงได้ทำหนังสือไปทางอธิบดีกรมป่าไม้จีนเป็นการประสานเบื้องต้น ซึ่งเขาก็ได้รับหนังสือแล้ว เขาก็ถามมาแล้วว่าประเด็นที่จะหารือมีอะไรบ้าง เราก็ตอบเขาไปว่าประเด็นที่จะมีการพูดคุยกันซึ่งน่าจะส่งระดับของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยฯ และประธานบอร์ดที่จะไปคุยกัน จะมี 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยกับจีนจะทำศูนย์การเพาะและขยายพันธุ์หมีแพนด้าร่วมกันที่เชียงใหม่ ประเด็นที่ 2 ก็คือเรื่องการต่อเวลา ถ้าเกิดครบกำหนดส่งคืนแล้ว แต่จะขอต่อเวลาได้มั้ย”

ด้าน กรรณิการ์ นิ่มตระกูล สัตวแพทย์ 5 โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย สวนสัตว์เชียงใหม่ ผู้มีหน้าที่ดูแลหมีแพนด้าในบ้านเราทั้งช่วงช่วงและหลินฮุ่ย โดยเธอบอกว่าได้เข้ามาดูแลหมีแพนด้าในปีที่ 2 หลังจากนำ เข้ามาในประเทศไทย ช่วงแรกเธอต้องศึกษาพฤติกรรมของหมีแพนด้าจากหนังสือทั่วไป และศึกษาจากพฤติกรรมที่สัมผัสโดยตรงจากหมีแพนด้า และมีการวิจัยฮอร์โมนจากทีมสัตวแพทย์สวนสัตว์เชียงใหม่ ศึกษาพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของแพนด้า ซึ่งก็พบว่าหมีแพนด้าแต่ละตัวมีนิสัย ใจคอที่แตกต่างกันออกไป

“ทั้งช่วงช่วงและหลินฮุ่ย เป็นสัตว์เลี้ยงง่าย สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร มีแต่เรื่องพยาธิเท่านั้น แต่เราก็ทำการถ่ายพยาธิให้ ส่วนลักษณะนิสัยของแพนด้า จะมีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน บางตัวชอบนั่งกัดมือ บางตัวชอบปีนต้นไม้ บางตัวชอบว่ายน้ำ ซึ่งตอนแรกที่เอามาเลี้ยงจะไม่ชินกับนักท่องเที่ยว เพราะมีเสียงดังรบกวน ชอบหลบซ่อนอยู่หลังกรง เวลาคนมาดูเยอะๆ ไม่ค่อยมีปัญหาถ้าผู้เข้าชมให้ความร่วมมือในเรื่องของเสียง แต่ถ้าเสียงดังเมื่อไหร่ จะมีปัญหามาก แพนด้าจะหลบไปไกลๆ วิ่งไปมา ทีมแพทย์จะต้องเอาเขามาพักในห้องรับรอง เพื่อให้เขาสบายใจและไม่มีเสียงดัง ไม่มีสายตาผู้คนที่จ้องมอง เมื่อเขาอารมณ์ดีก็จะนั่งกินใบไผ่”

*********

กำเนิดสวนสัตว์เมืองไทย

ปี พ.ศ.2497 องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานทางราชการที่มีหน้าที่ดูแลสวนสัตว์โดยตรง โดยปัจจุบันองค์การสวนสัตว์มีสวนสัตว์อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ 5 แห่ง ประกอบด้วยสวนสัตว์ดุสิต, สวนสัตว์เปิดเขาเขียว, สวนสัตว์เชียงใหม่, สวนสัตว์นครราชสีมา และแห่งสุดท้ายคือสวนสัตว์สงขลา ซึ่งเปิดให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541

แต่สำหรับสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนพฤกษชาติขึ้นในเขตของพระราชอุทยานสวนดุสิต จึงโปรดเรียกว่า เขาดินวนา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 คณะรัฐบาลในสมัยนั้น ซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานที่บริเวณสวนดุสิต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เพื่อจัดทำเป็นสวนสัตว์ และเป็นที่พักผ่อนของประชาชน

ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2481 พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้พระราชทานอนุมัติในพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้สถานที่แห่งนี้ใช้ชื่อว่า สวนสัตว์ดุสิต อันเป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย ปัจจุบันสวนสัตว์ดุสิตได้เปิดดำเนินกิจการมาเป็นเวลากว่า 66 ปี มีสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมกว่า 1,600 ตัว มีผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ยปีละ 2.5 ล้านคน

สวนสัตว์เชียงใหม่เป็นสวนสัตว์ไทยอีกแห่งซึ่งถือได้ว่ามีความเก่าแก่ไม่น้อยเช่นกัน สวนสัตว์เชียงใหม่ก่อตั้งขึ้นโดย ฮาโรลด์ เมสัน ยังก์ ชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามาเป็นครูฝึกตำรวจตระเวนชายแดน นายยังก์ได้เลี้ยงสัตว์ต่างๆ ไว้ที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ในปี พ.ศ.2498 องค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงได้ใช้ที่ดินบริเวณนั้นประมาณหกสิบไร่เพื่อจัดสร้างเป็นสวนสัตว์เชียงใหม่ขึ้น เมื่อนายฮาโรลด์ เมสัน ยังก์ เสียชีวิตลง องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ติดต่อองค์การสวนสัตว์ เพื่อขอโอนสวนสัตว์เชียงใหม่ให้มาอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การสวนสัตว์ และองค์การสวนสัตว์ได้รับมอบสวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2520

สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ระบายสัตว์จากสวนสัตว์ดุสิต เป็นสวนสัตว์เปิดแห่งเดียวในประเทศไทยที่เลี้ยงสัตว์นานาพันธุ์กว่า 300 ชนิด จำนวนมากถึง 8,000 ตัว บนพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว–เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่ที่มีบทบาทในการสร้างความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมเสือนานาชนิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัย การอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2521

ในปีพ.ศ. 2532 องค์การสวนสัตว์ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดสร้างสวนสัตว์ในส่วนภูมิภาคขึ้นอีกสองแห่ง คือ สวนสัตว์นครราชสีมาและสวนสัตว์สงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อการศึกษา และเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับประชาชน

(ข้อมูลจาก www.zoothailand.org)

***********

เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์











กำลังโหลดความคิดเห็น