เอเอฟพี - ทีมสืบสวนฝรั่งเศสยืนยันเมื่อวันพฤหัสบดี(2) เครื่องบินแอร์ฟรานซ์บรรทุกผู้โดยสารพร้อมลูกเรือ 228 ที่ตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อ 1 เดือนก่อน ไม่ได้ระเบิดกลางอากาศ พร้อมชี้ระบบจับความเร็วเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งแต่ไม่ได้เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สายการบินแอร์ฟรานซ์
“เครื่องบินไม่ได้ถูกทำลายขณะที่บินอยู่กลางอากาศ” อแลง บุยยาร์ จากสำนักงานวิเคราะห์และสอบสวน (บีอีเอ) ซึ่งรับผิดชอบในการสอบสวนด้านเทคนิคจากเหตุการณ์ที่เครื่องบินแอร์บัสตกกล่าวระหว่างแผยแพร่รายงานสืบสวนแรกต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบิน 447 จากริโอสู่ปารีส
“เครื่องบินได้กระทบกับผิวน้ำในตำแหน่งที่กำลังบินอยู่ด้วยอัตราความเร่งในแนวดิ่ง" เขากล่าว พร้อมระบุว่าส่วนของเครื่องบินที่ตกกระทบน้ำเป็นส่วนแรกคือท้องของเครื่องบิน "เครื่องบินยังอยู่ในสภาพดี ณ ช่วงเวลาที่มันกระแทกกับผิวน้ำ บุยยาร์ แถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ของบีอีเอ รอบนอกกรุงปารีสของฝรั่งเศส
มีการคาดเดาว่า ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องควบคุมความเร็วของแอร์บัสหรือเครื่องวัดความเร็ว อาจเป็นสาเหตุให้เครื่องบินสะดุดหรือบินเร็วเกินไปถึงระดับที่เป็นอันตราย จนเป็นสาเหตุให้เกิดระเบิดขึ้นในระดับความบินสูง
แต่ทีมสืบสวนบอกว่าพวกเขาได้ตัดประเด็นเครื่องบินระเบิดกลางอากาศไปแล้วหลังจากได้ตรวจอย่างถี่ถ้วนต่อซากของเครื่องบิน 640 ชิ้นที่กู้ขึ้นมาได้จากบริเวณที่เครื่องบินตกห่างจากชายฝั่งทะเลของบราซิลราว 1,000 กิโลเมตร
“เสื้อชูชีพที่พบพร้อมกับซากเครื่องบินอยู่ในสภาพปกติไม่มีการเป่าลมให้พอง” บุยยาร์ระบุ “ชัดเจนว่าผู้โดยสารไม่ได้เตรียมสำหรับลงจอดฉุกเฉินในทะเล”
ขณะเดียวกันบุยยาร์ก็ชี้ว่าเครื่องควบคุมความเร็วของแอร์บัสขัดข้องเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินแอร์บัสตกในแอตแลนติก
“มันเป็นปัจจัยหนึ่งแต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียว” เขากล่าว “มันเป็นปัจจัย แต่ไม่ใช่สาเหตุ”
บราซิลตัดสินใจเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน เรียกหน่วยกู้ภัยกลับ แต่ทางฝรั่งเศสยังคงเรือดำน้ำนิวเคลียร์และเรือค้นหาอื่นๆ ไว้ในพื้นที่เพื่อตามหากล่องดำครั้งสุดท้าย ส่วนทางบีอีเอ จะค้นหากล่องบันทึกการบินไปจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม
สำหรับกล่องดำจะส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ออกมาในทุกๆ วินาที อย่างน้อยเป็นเวลา 30 วันหลังเครื่องบินประสบอุบัติเหตุ และทางบีอีเอหวังว่ามันจะทำงานได้นานกว่าปกติเมื่ออยู่ใต้น้ำ