เอเอฟพี - นานาชาติส่งแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อฮอนดูรัสเมื่อวันจันทร์ (29) ให้คืนอำนาจแก่ มานูเอล เซลายา ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ผู้ชุมนุมขัดขืนประกาศเคอร์ฟิวออกมาประท้วงทหารผู้ก่อรัฐประหารจนเกิดเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ กล่าวว่าอเมริกาเชื่อว่า เซลายา “ยังคงเป็นประธานาธิบดีของฮอนดูรัส” หนึ่งวันหลังจากทหารบุกขับไล่เขาทั้งชุดนอนและจากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา
โอบามากล่าวว่า รัฐประหารประเทศในอเมริกากลางไม่เป็นไปตามกฎหมายและเรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกันคลี่คลายวิกฤตนี้ด้วยสันติวิธี ขณะที่ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบอกว่าเป้าหมายลำดับแรก ณ ขณะนี้ของประชาคมนานาชาติคือคืนประชาธิปไตยและระเบียบตามรัฐธรรมนูญในฮอนดูรัส
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเซลายาถูกเนรเทศ รัฐสภาฮอนดูรัสได้เปิดประชุมและลงมติเลือกโรแบร์โต มิเชเลตตี เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ โดยที่เขาจะดำรงตำแหน่งในวาระที่เหลืออยู่ของเซลายาไปจนถึงเดือนมกราคมปีหน้า
หน้าที่แรกของตำแหน่งประธานาธิบดี มิเชเลตตี ได้ประกาศเคอร์ฟิวในเมืองหลวงเป็นเวลา 48 ชั่วโมงและยืนยันว่าเขาก้าวสู่อำนาจผ่านกระบวนการทางกฎหมาย นอกจากนี้เขายังได้เริ่มแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีในวันจันทร์(29)
แต่ทาง เซลายา อ้างว่าเขายังคงเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง และได้มีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนหนึ่ง --หลายคนโพกผ้าพันคอปิดบังใบหน้า -- ออกมาชุมนุมกันในเมืองหลวงเตกูชิกัลปา และในเวลาต่อมามีรายงานว่าพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม
เหตุรัฐประหาร เซลายา จุดชนวนมาจากการเผชิญหน้ากับทหารและขนบธรรมเนียมทางกฎหมาย หลังเขาพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองสามารถลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เป็นสมัย 2 ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้
เซลายา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2009 ในวาระนั่งเก้าอี้ 4 ปี มีแผนจัดให้มีการลงประชามติในวันอาทิตย์ (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
ก่อนหน้านี้ ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายาประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลดพลเอก โรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ก่อนเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว
บรรดาผู้นำฝ่ายซ้ายของละตินอเมริหาซึ่งหารือกันในนิการากัวเมื่อวันจันทร์(29) ได้สนับสนุน เซลายา และบอกว่าพวกเขาได้เรียกตัวทูตแต่ละประเทศประจำฮอนดูรัสกลับเพื่อประท้วงเหตุรัฐประหารขับไล่ เซลายา
ทั้งนี้ กลุ่มอัลบา -- เขตเศรษฐกิจของประชาชน -- ก่อตั้งโดยประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา และฟิเดล คาสโตร ผู้นำคิวบา ในปี 2004 และยังร่วมด้วย โบลิเวีย นิการากัว กับโดมินิกัน
รัสเซียและแคนาดา ก็เป็นอีก 2 ชาติที่ออกมาร่วมกับนานาประเทศประณามเหตุรัฐประหารครั้งนี้ ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้เรียกประชุมด่วนโดยมีทูตจากชาติอเมริกากลางเข้าร่วมเพื่อพิจารณาถึงการเจรจาทางการค้าในอนาคต
ด้านสหประชาชาติได้ประชุมฉุกเฉินเมื่อวันจันทร์(29) ต่อวิกฤตดังกล่าว และ เซลายา บอกว่าเขาอาจจะไปกล่าวสุนทรพจน์ ณ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในวันอังคาร(30)
ชาเวซ กล่าวว่าประชาคมนานาชาติควรให้บทเรียนแก่รัฐบาลฮอนดูรัส หลังจากแสดงความสนับสนุน เซลายา ส่วน ดาเนียล ออร์เตกา ประธานาธิบดีนิการากัว บอกว่าบรรดาผู้นำควรหลีกเลี่ยงเหตุนองเลือด
ทว่าในฮอนดูรัส มิเชเลตตี ไม่สนใจต่อเสียงประณามของนานาชาติต่อการก้าวสู่อำนาจของเขา โดย มิเชเลตตี บอกว่าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาไม่ได้มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจ แต่มาถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างครบถ้วนตามที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายของประเทศ
ประธานาธิบดีชั่วคราวรายนี้ยังได้เตือนชาเวซ ว่าประเทศของเขาพร้อมเข้าสู่สงครามหากถูกแทรกแซงโดย “ชายผู้นี้” ทั้งนี้ มิเชเลตตี อ้างว่าเขาได้รับข้อมูลว่ามีทหารหลายกองพันกำลังเตรียมตัวอยู่นอกดินแดนของฮอนดูรัสเพื่อปฏิบัติการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ
สำหรับ เซลายา ได้รับเลือกในฐานะฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่กลับเปลี่ยนมาอยู่ฝ่ายซ้ายอย่างประหลาดระหว่างดำรงตำแหน่ง โดยเขาเป็นผู้นำในแถบละตินอเมริการายล่าสุด ในจำนวนนั้นรวมไปถึง ชาเวซ ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขยายเวลานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อไป นอกจากยังพยายามผ่อนคลายข้อกำหนดวาระดำรงตำแหน่งด้วย