เอเจนซี - เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ซึ่งถูกซักฟอกไล่ต้อนอย่างหนักหน่วงที่สุดจากสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดี(25) ยังคงยืนยันว่าเขาไม่เคยข่มขู่จะไล่คณะผู้บริหารของ "แบงก์ออฟอเมริกา" ออก หากว่าพวกเขาไม่ยอมเดินหน้าแผนการควบรวม"เมอร์ริล ลินช์"ต่อไป
ในระหว่างการให้ปากคำที่กินเวลา 3 ชั่วโมง บรรดาส.ส.ทั้งหลายต่างกดดันเบอร์นันกีให้ตอบในประเด็นที่ว่า จริงหรือไม่ที่เขาบังคับ เคนเนธ ลิวอิส ซีอีโอของแบงก์ออฟอเมริกาให้เดินหน้าแผนการควบรวมกิจการกับเมอร์ริลต่อไป แม้ว่าจะเป็นที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่า ปัญหาด้านการเงินของเมอร์ริลย่ำแย่ลงไปทุกที
แต่เบอร์นันกีก็ยังคงยืนหยัด และบอกกับที่ประชุมคณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบและการปฏิรูปภาครัฐของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯว่า เฟดไม่เคยทำสิ่งที่ "นอกเหนือกฎหมายหรือผิดจริยธรรม"
"ผมไม่เคยบอกฝ่ายบริหารของแบงก์ออฟอเมริกาว่า ธนาคารกลางจะเล่นงานคณะกรรมการบริหารหรือฝ่ายบริหารเลย" เขากล่าว
เบอร์นันกียังพูดอีกว่า เขาหรือเจ้าหน้าที่ของเฟดคนอื่น ๆ ไม่เคย "กำกับ, สั่งการ, หรือ ให้คำแนะนำ" แก่แบงก์ออฟอเมริกา ให้ปิดบังข้อมูลการขาดทุนของเมอร์ริลต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาอีกข้อหนึ่ง ที่บรรดาส.ส.ได้หยิบยกขึ้นมาระบุว่าเฟดมีส่วนในเรื่องนี้
เฟดกำลังถูกจับตามองทั้งจากพวกพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในรัฐสภา ในการดำเนินการหลายๆประการที่เฟดตัดสินใจลงไป นับตั้งแต่วิกฤตการเงินปะทุขึ้นมาในช่วงหน้าร้อนปีที่แล้ว
ทั้งนี้มีข้อน่าคิดด้วยว่า หลังจากที่แบงก์ออฟอเมริกาตัดสินใจจะยังคงเดินหน้าการซื้อเมอร์ริลต่อไป ก็ได้รับเงินช่วยเหลือ 20,000 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาล รวมทั้งการประกันการขาดทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มั่นคง ที่รวมเป็นมูลค่าถึง 118,000 ล้านดอลลาร์
"ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าแบงก์ออฟอเมริกาถูกรัฐบาลบังคับให้เดินหน้าเข้าควบรวมกับเมอร์ริลลินช์ต่อไป หรือว่าเคน ลิวอิส พยายามดิ้นรนที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันการเงินครั้งยิ่งใหญ่" สส. อีดอลฟัส ทาวน์ส ประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้กล่าว
ในระหว่างการให้ปากคำ บรรดาส.ส.ได้อ้างถึงอีเมล์ที่เขียนโดย เจฟฟรีย์ แล็คเกอร์ ประธานธนาคารกลางสาขาริชมอนด์ ว่าน่าจะเป็นหลักฐานยืนยันการที่เฟดบีบลิวอิสให้ตัดสินใจเช่นนี้ ในอีเมล์ดังกล่าว แล็คเกอร์กล่าวว่าเบอร์นันกีบอกเขาว่ามีแผนจะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การล้มเลิกการควบรวมอาจทำให้ฝ่ายบริหารของแบงก์ออฟอเมริกาหลายคนต้องตกงาน
การสอบสวนเรื่องการควบรวมกิจการคราวนี้ สืบเนื่องจากการอภิปรายแผนของประธานาธิบดีบารัค โอบามาที่จะยกเครื่องการกำกับดูแลภาคการเงินทั้งหมด โดยที่จะขยายอำนาจของเฟดให้มากขึ้น สส.หลายคนบอกว่าคำถามที่ยังไม่มีคำตอบในเรื่องบทบาทของเฟดในกรณีนี้ ทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่าควรจะให้อำนาจเพิ่มแก่เฟดดีหรือไม่
ทางด้านพวกผู้เล่นในตลาดการเงิน ต่างจับต้องการให้ปากคำครั้งนี้อย่างไม่สบายใจนัก โดยมองว่ามันแสดงให้เห็นถึงการพยายามหาแพะมารับผิดชอบต่อวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้น รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าเบอร์นันกีอาจจะได้รับการสนับสนุนจากภาคการเมืองน้อยลงไป แม้ว่าเขาจะได้รับการยอมรับนับถือจากวอลล์สตรีทก็ตาม
"มันมีความรู้สึกคล้าย ๆกับคดีวอเตอร์เกตอยู่" คริส รัปคีย์ จากธนาคารโตเกียว/มิตซูบิชิ ยูเอฟเจในนิวยอร์คกล่าว โดยเขาหมายถึงการสอบปากคำของรัฐสภาในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งตามมาด้วยการลาออกของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน
เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับบทบาทของเฟดในการควบรวมระหว่างแบงก์ออฟอเมริกาและเมอร์ริล ลินช์ อาจจะกระทบกระเทือนการตัดสินใจของประธานาธิบดีโอบามา ที่จะต่ออายุให้เบอร์นันกีอยู่ในตำแหน่งประธานเฟดต่อไป เมื่อวาระสี่ปีวาระแรกของเขาหมดลงในวันที่ 31 เดือนมกราคมปีหน้า
แต่เท่าที่ผ่านมาโอบามาบอกว่าเบอร์นันกีนั้นทำงานน่าพอใจ ขณะที่รอเบิร์ต กิบส์ โฆษกทำเนียบขาวก็ยืนยันกับนักข่าวว่า ประธานาธิบดีโอบามายังคงเชื่อมั่นในตัวของเบอร์นันกีอยู่