เอเจนซี/เอเอฟพี – ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) และหน่วยกำกับตรวจสอบภาคธนาคารของสหรัฐฯ บอกให้แบงก์ขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ 10 แห่ง ต้องเพิ่มทุนรวมมูลค่า 74,600 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้สามารถรองรับภาวะวิกฤตที่อาจรุนแรงขึ้นอีก ด้วยความหวังว่าจะสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินของประเทศให้กลับคืนมา รวมทั้งกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
หลังจากที่ทางการสหรัฐฯเผยแพร่รายงานผลตรวจสอบความแข็งแกร่งของธนาคารใหญ่ที่สุดของประเทศ 19 แห่งเมื่อวันพฤหัสบดี(7) ได้ไม่นาน 10 แห่งที่ถูกระบุว่าต้องเพิ่มทุนต่างก็ออกมาแถลงแผนการระดมทุนของตนเอง โดยไม่ต้องการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากขึ้นอีก
ธนาคารแห่งอเมริกา (แบงก์ ออฟ อเมริกา อิงค์ หรือ BofA) ซึ่งถูกระบุให้เพิ่มทุนสูงที่สุด คือ 33,900 ล้านดอลลาร์ ประกาศว่าจะขายสินทรัพย์ออกมา รวมทั้งออกหุ้นสามัญมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์ และยังมีมาตรการอีกหลายอย่างเพื่อถมช่องว่างของเงินทุนให้เต็ม
ส่วนซิตี้กรุ๊ปบอกว่าจะแปลงหุ้นบุริมสิทธิ์เป็นหุ้นสามัญ เพื่อระดมทุนตามที่รัฐบาลกำหนดไว้
ขณะที่ เบน เบอร์นันกี ประธานเฟด กล่าวว่า “เราจะจับตาดูอย่างระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่า พวกเขาจะส่งแผนการระดมเงินทุนใหม่อันน่าเชื่อถือ และกลายเป็นกิจการของภาคเอกชนเหมือนเดิมอีกครั้ง”
ทั้งนี้ประธานเฟดพูดในลักษณะครอบคลุมธนาคารทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะบีออฟเอเท่านั้น ส่วนที่เขาพูดถึงกิจการของภาคเอกชนนั้น หมายถึงการที่แบงก์เหล่านี้น่าจะสามารถระดมเงินทุนจากตลาดได้เอง โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งจะต้องยกหุ้นบางส่วนให้แก่ทางการเป็นการตอบแทน
การตรวจสอบครั้งนี้ใช้เจ้าหน้าที่ถึง 150 คนเข้าตรวจสอบบัญชีของธนาคารใหญ่ทั้ง 19 แห่งเพื่อดูว่าแข็งแกร่งหรืออ่อนแอในที่ใดบ้าง รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นจำนวนของสินเชื่อที่ไม่เคลื่อนไหว เพื่อกำหนดปริมาณเม็ดเงินทุนที่ต้องระดมเพิ่มเติมเข้ามา
ตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สของดัชนีหุ้นสหรัฐฯได้ขยับขึ้น หลังจากการประกาศผลการตรวจสอบคราวนี้ ซึ่งทำให้เห็นว่านักลงทุนคลายความวิตกลงไปว่าทางการจะต้องเข้ามาอัดฉีดให้แก่สถาบันการเงินในวอลสตรีทเหล่านี้เพิ่มเติม นอกจากนี้ธนาคารทั้งหลายก็ไม่อยากจะรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มด้วย เนื่องจากกลัวว่าจะขาดอิสระ โดยเฉพาะจะต้องถูกจำกัดเรื่องเงินค่าตอบแทนที่ให้แก่บรรดาผู้บริหาร
ส่วนธนาคารอีก 9 แห่งที่ไม่ถูกสั่งให้เพิ่มทุน ก็ออกมาแสดงท่าทีว่าอยากจะคืนเงินรัฐบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะไม่อยากจะอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลนานๆ
เม็ดเงินที่รัฐบาลกำหนดให้ธนาคารทั้ง 10 แห่งระดมทุนนี้ ยังต่ำกว่าจำนวนที่หลายฝ่ายได้เคยคาดเอาไว้ ดังนั้นจึงทำให้มีทั้งเสียงชื่นชมโดยเฉพาะจากนักลงทุนที่เชื่อว่าภาวะเลวร้ายที่สุดกำลังผ่านพ้นไปแล้ว และเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่เชื่อว่ามาตรฐานการตรวจสอบของรัฐบาลย่อหย่อนไป ผลที่ออกมาจึงยังไม่ได้แสดงถึงปัญหาทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น หากวิกฤตรุนแรงซ้ำเติมขึ้นอีกในอนาคต
“ตอนนี้ความกลัวที่แบงก์จะถูกควบรวมเข้าเป็นของรัฐนั้นหมดไป หรือความกลัวที่จะมีการล้มครืนลงมาก็น้อยลงไป ตอนนี้เราก็มีแต่ข้อมูลที่ว่าธนาคารไหนจะต้องระดมทุนเท่าไรเท่านั้น” อีริค คูบี หัวหน้านักลงทุนแห่งนอร์ธ สตาร์ อินเวสเมนท์ แมเนจเมนท์ ในชิคาโก กล่าวอย่างรู้สึกสบายใจ
ทว่า โรเบิร์ต แอนเดรส ประธานของแอนเดรส แคปิตอล แมเนจเมนท์ในฟิลาเดลเฟีย บอกว่า “ผมยังสงสัยนะ เพราะไม่คิดการผลการตรวจสอบบัญชีนี้จะให้ภาพตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขาเล่นเกมการตลาดกันหนักมากในช่วงหลัง”
“ประธานาธิบดี, ไกธ์เนอร์ และเบอร์นันกี ต่างก็พยายามสร้างมวลแห่งความเชื่อมั่นขึ้นมา และก็กำลังเดินเตะกระป๋องไปตามถนนเพื่อถ่วงเวลาเท่านั้นเอง”
ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายธนาคารเองมองว่าผลการตรวจสอบของรัฐบาลให้ภาพที่มัวมนเกินกว่าความเป็นจริง ธนาคาร เวลส์ ฟาร์โก ชี้ว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจกับที่ธนาคารบอกว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตเลย และเรียกการประเมินของธนาคารกลางสหรัฐฯว่าเป็นแนวทาง “อนุรักษ์นิยมจนเกินเหตุ” ส่วนซิตี้กรุ๊ป อิงค์ก็คาดว่าจะมีรายได้มากกว่าที่รัฐบาลทำนายเอาไว้
ในบรรดาแบงก์ทั้ง 19 แห่งที่ถูกทดสอบคราวนี้ ธนาคารแห่งอเมริกาถูกระบุว่าต้องเพิ่มทุนใหม่สูงสุดคือ 33,900 ล้านดอลลาร์, รองลงมาได้แก่ เวลส์ ฟาร์โก 13,700 ล้าน, จีแมค ซึ่งเป็นอดีตบริษัทการเงินในเครือเจนเนอรัลมอเตอร์ส(จีเอ็ม) ควรต้องเพิ่มทุนอีก 11,500 ล้าน, ซิตี้กรุ๊ป 5,500 ล้าน, รีเจียนส์ ไฟแนนเชียล (2,500 ล้าน), ซันทรัสต์ (2,200 ล้าน), คีย์คอร์ป (1,800 ล้าน), มอร์แกนสแตนลีย์ (1,800 ล้าน), ฟิฟธ์เธิร์ด (1,100 ล้าน), และ พีเอ็นซี (600 ล้าน)
สำหรับพวกที่ผ่านการตรวจสอบโดยไม่ถูกระบุให้เพิ่มทุนได้แก่ อเมริกันเอกซ์เพรส, บีบีแอนด์ที, แบงก์ออฟนิวยอร์กเมลลอน, แคปิตอลวัน, โกลด์แมนแซคส์, เจพีมอร์แกนเชส, เมตไลฟ์, สเตทสตรีท, และยูเอสแบนคอร์ป