xs
xsm
sm
md
lg

รพ.เกาหลีใต้ประเดิม “การุณยฆาต” ถอดเครื่องช่วยหายใจคนไข้โคม่าแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ห้องฉุกเฉินในโรงพยาลแห่งหนึ่งในกรุงโซล
เอเอฟพี - โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ จัดการถอดอุปกรณ์ช่วยชีวิตทั้งหมดออกจากคนไข้อาการโคม่ารายหนึ่งเมื่อวานนี้ (23) โดยเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งศาลสูงสุดที่พิพากษาอนุญาตตามคำร้องขอทำการุณยฆาตรายแรกของประเทศ

โฆษกของโรงพยาบาลเซฟเวอแรนซ์ในกรุงโซล ระบุว่า โรงพยาบาลได้ถอดเครื่องช่วยหายใจของคนไข้หญิงวัย 76 ปีผู้หนึ่ง ในช่วงสายของวานนี้ แต่จะต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถแจ้งว่าผู้ป่วยได้เสียชีวิตลงแล้ว

นายแพทย์ ปาร์กมูซก เป็นผู้ถอดเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวออกหลังจากที่ครอบครัวของผู้ป่วยได้สวดมนต์สั้นๆ ให้กับผู้ป่วยที่ข้างเตียง

“ผมรู้สึกปนๆ กันนะ” ปาร์ก บอก “แต่ผมหวังว่าเธอจะได้พักผ่อนอย่างสงบอยู่ในอ้อมกอดของพระเจ้า”

เมื่อเดือนที่แล้ว ศาลสูงสุดของเกาหลีใต้ ได้พิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ที่ได้อนุญาตตามคำร้องของครอบครัวของผู้ป่วย ซึ่งต้องการให้ผู้ป่วยได้เสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

ทั้งนี้ ตามกฎหมายปัจจุบัน การถอดเครื่องช่วยหายใจให้กับคนไข้ที่มีอาการสมองตาย ยังถือว่าเป็นการฆาตกรรม แต่ครอบครัวของผู้ป่วย ระบุว่า การยืดชีวิตของผู้ป่วยด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นการยืดภาวะการมีชีวิตอย่าง “ทรมานและไร้คุณค่า” ออกไป

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แพทย์ระบุว่า ผู้ป่วยหญิงคนดังกล่าวมีอาการสมองตาย หลังจากป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมและถึงขั้นโคม่าในระหว่างเข้ารับการตรวจการทำงานของปอดที่โรงพยาบาล

หลังจากนั้น 3 เดือน ลูกๆ ของเธอได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อโรงพยาบาลปฏิเสธคำขอของญาติที่ต้องการให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างสงบและมีเกียรติ

ในเดือนพฤศจิกายน ศาลชั้นต้นได้พิพากษาอนุญาตตามคำร้องดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาว่าผู้ป่วยไม่มีโอกาสที่จะฟื้นสภาพกลับมาตามปกติ ดังนั้น ความประสงค์ที่จะตายของผู้ป่วยจึงควรได้รับการพิจารณา

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามคำตัดสินใจของศาลชั้นต้น แต่โรงพยาบาลดำเนินการยื่นเรื่องจนถึงศาลสูงสุด

ในเดือนพฤษภาคม ศาลสูงสุดก็พิพากษายืนเช่นกัน แต่ระบุด้วยว่า การจะหยุดการรักษาเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยจำเป็นต้อง “พิจารณาอย่างรอบคอบ” ทั้งนี้ การหยุดการรักษาสามารถกระทำได้ หากมีการสันนิษฐานถึงความประสงค์ของผู้ป่วย อีกทั้งการให้ผู้ป่วยคงสภาพสมองตายไว้ก็เป็นการทำลาย “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” หากผู้ป่วยดังกล่าวไม่มีโอกาสฟื้นสภาพตามปกติได้อีก

นอกจากนั้น ศาลยังระบุด้วยว่า ในกรณีของผู้ป่วยรายนี้ได้เคยบอกกับคนในครอบครัวไว้แล้วว่า เธอไม่ต้องการมีชีวิตอยู่อย่างปลอมๆ ต่อไป หากการรักษาอาการของเธอเกิดปัญหาขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น