xs
xsm
sm
md
lg

‘ระเบิดนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ’หรือ ‘งานศพอดีตผู้นำเกาหลีใต้’

เผยแพร่:   โดย: สเปนเซอร์ เอช คิม

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Korea: It’s not the bomb, it’s the funeral
By Spencer H Kim
02/06/2009

ถ้าหากมรดกที่อดีตประธานาธิบดีโนห์มูเฮียนแห่งเกาหลีใต้ทิ้งเอาไว้ให้ ยังคงถูกกระทำอย่างผิดพลาดเลวร้าย ทำนองเดียวกับที่ได้ตั้งข้อกล่าวหาเอากับเขาด้วยความอาฆาตแค้นแล้ว ผลกระทบที่ติดตามมาก็อาจจะมีความสำคัญพอๆ กับการทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือทีเดียว เมื่อมองจากแง่มุมความสัมพันธ์ของสหรัฐฯที่มีอยู่กับคาบสมุทรแห่งนี้ ทั้งนี้การปฏิบัติต่อสิ่งที่โนห์ยืนหยัดปกป้องมาตลอด มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพของความเป็นพันธมิตรระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ เนื่องจากเขาผู้นี้เองคือผู้ที่วางกรอบโครงของความสัมพันธ์ดังกล่าวดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การทดลองอาวุธนิวเคลียร์และการยิงขีปนาวุธล่าสุดของเกาหลีเหนือ ยังคงกลายเป็นพาดหัวตัวโต แต่อันที่จริงแล้วมันก็เป็นเพียงอีกบทหนึ่งในนิยายโลดโผนเรื่องยาวที่ดำเนินต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว สำหรับสหรัฐฯ ยังมีสิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นอีก ซึ่งได้บังเกิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีเมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม นั่นคือ การเสียชีวิตและการประกอบพิธีศพของอดีตประธานาธิบดีโนห์มูเฮียนแห่งเกาหลีใต้ นี่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจใคร่ครวญกันอย่างลึกซึ้ง สิ่งต่างๆ หลังจากนี้จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากสำหรับอเมริกา

การที่โนห์สามารถคว้าชัยชนะเมื่อปี 2002 จนได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเวลา 5 ปี นั้น คือเรื่องช็อกชวนให้สั่นสะท้านสำหรับ “ระบบ” ของเกาหลีใต้ เขาก้าวมาจากความยากจน, ไม่เคยเข้ามหาวิทยาลัย, และผ่านการสอบเป็นเนติบัณฑิตอันเลื่องลือเรื่องความโหดความหินมาได้ก็โดยการศึกษาด้วยตนเอง เมื่อเขาประกอบอาชีพทนายความ เขาก็เป็นตัวแทนว่าความให้กับพวกนักศึกษาที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย, ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับทางการ, และพวกนักเคลื่อนไหวแรงงาน ในศาลแห่งต่างๆ ที่ต่างเอนเอียงเข้าข้างคณะผู้เผด็จการทหารที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปกครองประเทศ

เมื่อการเลือกตั้งเสรีเริ่มต้นขึ้นในปี 1987 เขาก็เข้าสู่วงการเมือง ในหมู่ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ แม้กระทั่งพวกที่ไม่ได้ลงคะแนนให้แก่เขา ความรู้สึกภาคภูมิใจที่ว่าพวกเขาได้ทำลายเรื่องต้องห้ามทางการเมือง ด้วยการเลือกใครคนหนึ่งที่แทบไม่มีทรัพย์สินเงินทองอะไรและก้าวมาจากภายนอกแวดวงอำนาจอิทธิพลเก่าๆ เดิมๆ นั้น เป็นความรู้สึกที่สามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจน และสามารถเปรียบเทียบได้กับอารมณ์ตื่นเต้นสะเทือนใจของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามาเมื่อปีที่แล้ว

ในฐานะประธานาธิบดี โนห์เริ่มดำเนินการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นระลอก เป็นต้นว่าการผลักดันเรื่องต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น การดำเนินการเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่ทำให้สังคมและเศรษฐกิจดีงามยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือการโจมตีเล่นงานการประพฤติมิชอบและการใช้อำนาจตามอำเภอใจของระบบอัยการที่ทรงอำนาจยิ่ง พวกอัยการนั้นดูเหมือนกับมีความยินดีที่จะใช้เล่ห์กะเท่ห์เล่นงานคนตัวเล็กๆ แต่พรักพร้อมที่จะเอาอกเอาใจชนชั้นนำ อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เรียกร้องของเขาบางประการที่ดูเพ้อฝันเกินไป บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดตัว ทำให้เมื่อถึงช่วงปลายๆ วาระของเขา โนห์ก็ถูกมองถูกเข้าใจไปว่าขาดความสามารถในการปกครองประเทศ กระนั้นก็ตาม ภาพลักษณ์ของเขาในฐานะเป็นนักต่อสู้เพื่อคนด้อยสิทธิ์ก็ไม่เคยถูกลบเลือนไปเลย

ในหมู่พวกผู้สนับสนุนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของโนห์อย่างแข็งขันที่สุดนั้น มีส่วนที่เป็นผู้ประกาศตัวเองว่า “ต่อต้านอเมริกัน” และกล่าวหาว่าการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้ คือสิ่งที่คอยค้ำจุนแวดวงชนชั้นนำผู้ทรงอำนาจอิทธิพล ซึ่งได้ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันกลายเป็นเรื่องถาวรไม่อาจเปลี่ยนแปลง ตลอดจนคอยขัดขวางปราบปรามความเคลื่อนไหวเพื่อการรวมชาติเกาหลี ทว่าโนห์ปฏิเสธทัศนะเหล่านี้ โดยโต้แย้งว่าถึงแม้พันธมิตรสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ดังกล่าว อาจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งขึ้น แต่มันก็ยังคงเป็นฐานรากของนโยบายการต่างประเทศของเกาหลีใต้ นอกจากนั้น การค้ากับสหรัฐฯคือกุญแจสำคัญสำหรับอนาคตทางเศรษฐกิจของโสมขาว เขาได้ส่งทหารเกาหลีใต้ไปยังอิรักและอัฟกานิสถาน รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มให้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ซึ่งถ้าหากมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ก็จะทำให้อุตสาหกรรมที่ปิดแน่นของเกาหลีใต้ต้องยอมเปิดกว้างออกมาเผชิญกับการแข่งขันจากอุตสาหกรรมอเมริกัน

ทายาทผู้สืบตำแหน่งต่อจากโนห์ ซึ่งก็คือ ประธานาธิบดีลีเมียงบัค ผู้ขึ้นครองอำนาจในปี 2008 เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีแนวทางอนุรักษนิยมยิ่งกว่า อีกทั้งวาดภาพตัวเองว่ากำลัง “กอบกู้ช่วยชีวิต” พันธมิตรสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ให้หลุดออกจากความตึงเครียดต่างๆ ซึ่งบังเกิดขึ้นจากการมุ่งปรับปรุงให้ทันสมัยที่โนห์พยายามดำเนินการ

สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ ในปีนี้พวกอัยการได้เริ่มสอบสวนการติดต่อดำเนินการด้านการเงินของโนห์อย่างละเอียดถี่ยิบ และก็ได้พบว่าขณะที่เขายังดำรงตำแหน่งอยู่นั้น ภรรยาของเขาได้ชักชวนเพื่อนเก่าแก่ที่ร่ำรวยผู้หนึ่ง ให้ช่วยลงนามค้ำประกันเรื่องการศึกษาในสหรัฐฯของลูกๆ ของโนห์ ตลอดจนร่วมลงทุนในธุรกิจของบุตรชายของโนห์ รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 6.4 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ไม่ได้มีการระบุว่าเพื่อนคนนั้นได้รับอะไรเป็นการตอบแทน โนห์ถูกนำตัวจากหมู่บ้านชนบทที่เขาพำนักอาศัยหลังเกษียณมายังกรุงโซล ซึ่งอยู่ห่างออกไปเป็นระยะทาง 280 ไมล์ และถูกซักถามเป็นเวลา 13 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน ลูกๆ ของเขาและผู้ช่วยที่ภักดีต่อเขาก็ถูกสอบสวนด้วย รวมทั้งภรรยาของเขาก็มีกำหนดจะถูกซักฟอกรีดเค้นทำนองเดียวกัน

โนห์ปลิดชีวิตตัวเองเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม บางทีส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องจากความละอายใจที่ภาพลักษณ์การเป็นนักปฏิรูปของเขาต้องแปดเปื้อนมัวหมอง แต่ก็อาจจะเป็นดังที่จดหมายสั่งเสียก่อนฆ่าตัวตายของเขาระบุเอาไว้ก็ได้ นั่นคือ เพื่อช่วยให้ภรรยาของเขา, ลูกๆ, และเพื่อนๆ ไม่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดต่อไปอีก เขาทราบดีจากประสบการณ์ว่า การติดตามไล่ล่า, การปล่อยข่าวรั่วไหลไปถึงสื่อมวลชนเป็นระยะๆ, และบางทีกระทั่งการจำคุก คือทั้งหมดที่จะติดตามมา

ประชาชนชาวเกาหลีใต้ทราบดีว่าโนห์ตกเป็นเป้าถูกเล่นงาน และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ให้เกียรติแม้มีฐานะเป็นอดีตประธานาธิบดี สืบเนื่องจากเขาได้เคยพยายามปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการประพฤติมิชอบในแวดวงอัยการ รวมทั้งได้เคยตบตีหน่วยงานทรงอำนาจอิทธิพลแห่งนี้ ประชาชนจำนวนมหาศาลเข้าร่วมพิธีศพของโนห์ ปฏิกิริยาในหมู่มหาชนอาจจะแข็งแกร่งและยืนยาวเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานแบบปิดบังซ่อนเร้นไร้ความโปร่งใสของพวกอัยการ รวมทั้งกดดันให้มีการติดตามตรวจสอบการทำงานด้านสอบสวนของพวกอัยการอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นในอนาคต

ขอให้เราร่วมกันตั้งความหวังว่า รัฐบาลลีเมียงบัคจะปฏิบัติต่อมรดกที่โนห์ทิ้งเอาไว้ ด้วยค่านิยมแบบ “อนุรักษนิยม” อันแท้จริง นั่นคือปฏิบัติต่อมรดกเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง, สุขุมเอาจริงเอาจัง, ให้ความเคารพ, และไม่แสดงปฏิกิริยาออกมาในทางที่ทำให้ประชาชนระลึกถึงระบอบเผด็จการในอดีต ถ้าหากรัฐบาลลีเมียงบัคปฏิบัติต่อมรดกของโนห์อย่างผิดพลาดเลวร้ายแล้ว จากการที่รัฐบาลนี้มีอัตลักษณ์ที่สนิทใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มันก็ย่อมจะแสดงผลในทางสร้างความเสียหายให้แก่ความเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ รวมทั้งเป็นการบ่อนทำลายความสนับสนุนที่มีต่อพันธมิตรนี้ หลังจากที่โนห์ได้แสดงบทบาทในการขยายพันธมิตรนี้ให้เติบใหญ่กว้างขวางขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก

สเปนเซอร์ คิม (spencer@cbol.com) นักธุรกิจชาวแคลิฟอร์เนอร์ เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสภาธุรกิจสหรัฐฯ-เกาหลี (US-Korea Business Council) และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันศตวรรษแปซิฟิก (Pacific Century Institute) เขาเป็นตัวแทนของสหรัฐฯในสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปก (APEC Business Advisory Council) ปี 2006-2008
กำลังโหลดความคิดเห็น