ส.ท.ช.กระทุ้ง “อัยการสูงสุด” อืดเป็นเรือเกลือ คดี “มานิตย์” ทุจริตต่อหน้าที่ไม่คืบ
วันนี้ (6 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. นายณัชพล โรจน์ถาวร ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) นำคณะกรรมการ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายถาวร พานิชพันธ์ รองอัยการสูงสุด ณ สำนักงานอัยการสูงสุด สนามหลวง เพื่อขอให้เร่งรัดคดีที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือที่ ปช.0006/สคด/699 ลงวันที่ 7 ธ.ค.49 ส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีและฟ้องร้องนายมานิตย์ สุธาพร อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมบังคับคดี ในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
นายณัชพลกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้เนื่องจาก ส.ท.ช.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ที่เห็นความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับเรื่องที่ นายมานิตย์ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตในการส่งเงินคืน 70 ล้านบาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน 897 ล้านบาท โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดธนบุรีตามกฎหมาย ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการส่งฟ้องศาลแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.49 ซึ่งจะครบ 3 ปี ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แต่คดีก็ยังไม่มีการส่งฟ้องศาลแต่อย่างใด
ด้าน นายถาวรกล่าวว่า หลังจากนี้จะรับเรื่องเอาไว้เพื่อตรวจสอบพยานหลักฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป แม้ว่า ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดและส่งหนังสือให้ฟ้องแล้ว แต่หากอัยการเห็นว่าหลักฐานไม่พอก็สามารถลงความเห็นแตกต่างได้ จากนั้นก็จะมีการตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันกับ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการต่อโดยตนขอยืนยันว่าจะรายงานเรื่องนี้ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องทราบอย่างรวดเร็วที่สุดและจะให้ความเป็นธรรมกับทุกผ่ายอย่างแน่นอน
คดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้พิจารณาว่า นายมานิตย์ สุธาพร อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดี ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตในการสั่งคืนเงิน 70 ล้านบาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน 897 ล้านบาท โดยไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดธัญบุรีตามกฎหมาย จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะทำการส่งเรื่องให้แก่ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย พร้อมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาล
หลัง ป.ป.ช.ชี้มูงแล้ว ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงยุติธรรม ได้พิจารณาใน 3 ประเด็น คือ 1.การส่งเรื่องกลับไปยังป.ป.ช. ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถทำได้ 2.การเปลี่ยนคำวินิจฉัย ป.ป.ช.ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ให้เป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลมาว่าเป็นการผิดวินัยร้ายแรง ปฏิบัติหน้าที่ทุจริต 3.การพิจารณาโทษ ซึ่งตามระเบียบของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มี 2 ระดับ คือ ไล่ออกหรือให้ออก ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายเสียงข้างมากพิจารณาว่าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดบรรทัดฐานว่า หากพบข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องลงโทษด้วยการไล่ออกเพียงสถานเดียว ส่วนฝ่ายเสียงข้างน้อยเห็นว่ามติ ครม. เป็นแนวนโยบาย ไม่ใช่กฎหมายในการกำหนดโทษ หากมีเหตุผลที่สมควร อ.ก.พ.กระทรวงก็อาจจะกำหนดโทษปลดออกด้วย อย่างไรก็ตามคณะกรรมการมีมติ 4 ต่อ 1 ให้ไล่ออกจากราชการ