xs
xsm
sm
md
lg

ไอเอ็มเอฟชี้ภาคบริษัทแถบเอเชีย เจอวิกฤตการเงิน-ศก.แรงขึ้นทุกที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักธุรกิจในย่านการเงินกลางกรุงโตเกียว
เอเอฟพี – เจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาเตือนเมื่อวันอังคาร(12)ว่า วิกฤตการเงินโลกกำลังส่งผลกระทบต่อภาคบริษัทของเอเชียรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่เศรษฐกิจของเอเชียก็เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ถูกคลื่นวิกฤตซัดรุนแรงที่สุดของโลก

ทากาโตชิ คาโตะ รองกรรมการผู้จัดการของไอเอ็มเอฟชี้ว่า “ความเสี่ยงภาคบริษัทกำลังเพิ่มขึ้น และสัญญาณตัวบ่งชี้ในตลาดต่าง ๆก็กำลังกระพริบเตือนถึงอันตราย”

“มีสัญญาณหลายประการที่ชี้ให้เห็นว่า แม้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ชื่อดังของเอเชีย ก็กำลังถูกแบ่งสันปันส่วนไม่สามารถได้อะไรอย่างเต็มที่ในตลาดการเงิน และตอนนี้หลายบริษัทจึงกำลังพิจารณาเรื่องการขอความช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐบาล” คาโตะกล่าวในการประชุมของสภาความร่วมมือเศรษฐกิจเขตแปซิฟิก ซึ่งเป็นคลังคิดด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ที่จัดขึ้นในกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ

บรรดาบริษัทขนาดใหญ่ในเอเชียตอนนี้ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากบริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งเผชิญหน้ากับวิกฤตด้วยสภาพการเงินอันแข็งแกร่งในตอนแรก แต่เมื่อความต้องการซื้อสินค้าในตลาดลดลงอย่างรวดเร็ว พวกเขาก็ยังคงอ้อยอิ่งไม่เร่งลดกิจกรรมการผลิตหรือลดต้นทุนเพราะสภาพการณ์ทั่วไปยังไม่บีบให้ต้องทำเช่นนั้น

“แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านสภาพคล่องก็เริ่มแห้งหายไปนับตั้งแต่นั้น” คาโตะกล่าว

เขาชี้ด้วยว่าภาวะเศรษฐกิจโลกทรุดตัวส่งผลต่อเอเชียรุนแรงมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยในช่วงไตรมาสสี่ที่ผ่านมา ตัวเลขต่าง ๆด้านผลผลิตได้ถดถอยลง 15% ในประเทศเอเชียที่ไม่นับจีนและอินเดีย

นอกจากนี้ทาโตะยังชี้ด้วยว่า บริษัทขนาดกลางและเล็กทางเอเชียก็กำลังถูกน้ำหนักของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกกดดันจนหายใจไม่ออก เนื่องจากวิกฤตการเงินโลกทำให้บรรดานักลงทุนดึงเงินออกจากประเทศอื่น ๆเพื่อกลับมาหนุนสภาพคล่องในบริษัทของตนเอง ทำให้บริษัทในเอเชียต้องเผชิญหน้ากับเม็ดเงินที่ขาดแคลนอย่างรุนแรงจนกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท

ที่ตามมาก็คือหนี้เสียที่จากการที่บริษัทไม่สามารถจ่ายคืนได้นั้น จะทำให้งบดุลของธนาคารในเอเชียต้องติดลบไปด้วย

“ภาวะการส่งแรงสะเทือนไปมาระหว่างภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้น คาดหมายกันว่าจะเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว” คาโตะกล่าว

“เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่ว่าเศรษฐกิจน่าจะทรุดตัวไปอีกนาน เราเห็นว่าปริมาณหนี้เสียน่าจะเพิ่มขึ้นและส่งแรงสะเทือนต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร”

เขาชี้ว่าบริษัทขนาดใหญ่ของเอเชียจะต้องลดการผลิตลงอีก หากว่าภาวะขาดแคลนสภาพคล่องรวมทั้งความต้องการสินค้าลดลงรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป สภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้บริษัทที่แข็งแกร่งต้องซวนเซ กำไรที่เคยได้ก็จะมลายหายไป

คาโตะคาดว่าภายใต้สภาพเช่นนี้ ทางออกก็คือการควบรวมกิจการระหว่างกัน ในช่วงต่อไปกระแสการควบรวมน่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะเห็นการลดพนักงานในบริษัทต่าง ๆ

“ต่อไป สถานการณ์จะยิ่งเจ็บปวดมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการลดตำแหน่งงานจำนวนมาก” เขากล่าว “ปริมาณผู้ว่างงานกำลังเริ่มไต่ระดับขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค และอาจทำให้เกิดความเสียหายทางสังคมขึ้นได้” เขากล่าว

สำหรับศูนย์กลางการเงินในเอเชีย คาโตะบอกว่าสถานการณ์ก็ไม่ต่างจากที่อื่น ๆทั่วโลก คือธุรกรรมต่าง ๆด้านการเงินลดลงอย่างมาก เขายกตัวอย่างฮ่องกง ที่อุตสาหกรรมการเงินกำลังหดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการบริหารสินทรัพย์และบริการนายหน้าค้าหลักทรัพย์

ส่วนที่สิงคโปร์ การให้กู้แก่ลูกค้าที่ไม่ใช่ธนาคารก็เริ่มลดลงแล้ว โดยเฉพาะในตลาดเงินดอลลาร์ในเอเชีย

ที่ญี่ปุ่น การเข้มงวดด้านการกู้ยืมเงิน ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งตลาดหุ้นที่ดิ่งลงต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ทางการเงินในญี่ปุ่นตึงเครียดอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น