xs
xsm
sm
md
lg

การเงินอิสลามผงาดหลังวิกฤต ศก.เร่งเพิ่มกฎระเบียบ-สร้างมืออาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ธุรกิจการเงินแบบอิสลาม จะต้องเพิ่มความเข้มแข็งในเรื่องระเบียบกฎเกณฑ์ เพิ่มจำนวนพนักงานระดับมืออาชีพ และแตกแขนงธุรกิจออกไปให้มากขึ้น เพื่อรองรับบทบาทใหม่ภายหลังจากที่วิกฤตการเงินโลกระลอกนี้ผ่านพ้นไปแล้ว

ผลิตภัณฑ์ทางการเงินตามหลักกฎหมายชาริอะฮ์ของศาสนาอิสลามมีแนวโน้มเป็นที่นิยมกันมากขึ้น เพราะนักลงทุนต่างเล็งหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยกว่าเดิม หลังจากที่ตราสารอนุพันธ์ที่พวกธนาคารในโลกตะวันตกซื้อขายกันทำพิษ โดยในช่วงวิกฤตการเงินโลก กิจการธนาคารอิสลามได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะยึดหลักกฎหมายชาริอะฮ์ที่มีข้อห้ามไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงมาก ห้ามจ่ายและเรียกเก็บดอกเบี้ยซึ่งถือว่าเป็นการพนันรูปแบบหนึ่ง และดำเนินการตามหลักการเฉลี่ยความเสี่ยงกันระหว่างธนาคารและผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

ทว่า พวกผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าสถาบันการเงินของอิสลามจะต้องป้องกันตนเองไม่ให้ธุรกิจเดินหน้าไปอย่างไร้การควบคุม จนตกไปอยู่ในสภาพเดียวกับวอลล์สตรีทและพอกพูนปัญหาจนกระทบเศรษฐกิจโลกอีก

“การเงินแบบอิสลามไม่ได้มีภูมิคุ้มกันการตกหลุมพรางต่างๆ ดังนั้น เราจึงต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาแบบเดียวกันนี้ในอุตสาหกรรมการเงินอิสลาม” มุฮัมมัด สุไลมาน อัล-จัสเซอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางของซาอุดีอาระเบีย กล่าว

“สถาบันการเงินอิสลามกำลังลงทุนทั้งด้านเวลาและด้านความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงระบบธรรมาภิบาลขององค์กรและการบริหารความเสี่ยง ผมหวังว่าสถาบันเหล่านี้จะพยายามหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นจากการออกแบบตราสารให้สลับซับซ้อนจนเกินเหตุ”

ทั้งเขาและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ต่างพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ระหว่างการประชุมของคณะกรรมการบริการการเงินแบบอิสลาม ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่สิงคโปร์ ซึ่งก็มีความมุ่งหวังที่จะเป็นผู้เล่นสำคัญรายหนึ่งในแวดวงการเงินแบบอิสลาม

อัล-จัสเซอร์ และผู้ขึ้นพูดคนอื่นๆ บอกกับที่ประชุม ณ สิงคโปร์ ว่า การเงินแบบอิสลามน่าที่จะผงาดขึ้นแสดงบทบาทเด่น ภายหลังจากที่วิกฤตการเงินโลกผ่านพ้นไปแล้ว

“ผมเชื่อว่า การเงินแบบอิสลามได้ยกระดับขึ้นมาในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ในอดีตนั้นเป็นเรื่องของการตัดสินใจส่วนบุคคลที่ขึ้นอยู่กับความศรัทธา แต่ตอนนี้การเงินแบบอิสลามกำลังแข่งขันกับคนอื่นๆ ในตลาดโลก ด้วยคุณค่าความดีงามอันเข้มแข็งมากของตนเอง” อัล-จัสเซอร์ เสริม

ทุกวันนี้มีการเงินแบบอิสลามดำเนินการอยู่ใน 47 ประเทศทั่วโลก โดยมีสถาบันทางการเงินต่างๆ กว่า 600 แห่งด้วยกัน บริหาร “สินทรัพย์ตามบัญชีงบดุล” เป็นมูลค่ากว่า 630,000 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังมีส่วนที่บริหารแบบเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนอีกราว 200,000-300,000 ล้านดอลลาร์

เฮงซวีเกียต กรรมการผู้จัดการของทบวงการเงินสิงคโปร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของประเทศเกาะแห่งนี้ ชี้ว่าประเทศในเอเชียมีแนวโน้มหันมาใช้การเงินแบบอิสลามเพื่อระดมทุนมาใช้ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานกันมากขึ้น

ส่วนแผนกบริการนักลงทุนของมูดีส์ ก็ระบุในเดือนนี้ว่า มีการออกพันธบัตรอิสลามที่เรียกว่า “ซูกูก” เป็นสกุลเงินเอเชียรวมมูลค่าถึง 64,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2008 โดยลดลงราว 1.5 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2007 ที่เป็นปีซึ่งมีการขยายตัวถึง 50%

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการเงินแบบอิสลามยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะในขณะนี้มีสัดส่วนในตลาดการเงินโลกอยู่เพียงราว 1.0 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อาหมัด โมฮัมเหม็ด อาลี ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม เสริมว่า ธุรกิจการเงินของอิสลามควรเพิ่มบริการทางการเงินใหม่ๆ ให้มากขึ้น โดยชี้ว่าธุรกิจในส่วนวาณิชธนกิจนั้นคิดเป็นกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ที่มีอยู่

“ตลาดกำลังต้องการวาณิชธนกิจใหญ่ๆ ที่มีรูปแบบแตกต่างจากเดิม คือต้องสามารถก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในแบบที่ไม่มีการประนีประนอมระหว่างเสถียรภาพกับการยืดหยุ่นปรับตัว”

เขาเสริมอีกว่า “เรายังต้องการสถาบันเวนเจอร์แคปิตอลอันหลากหลาย สถาบันด้านการเงินขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีความชำนาญทางด้านการสนับสนุนทางการเงิน, การเช่าซื้อ ฯลฯ”

ทว่า ในขณะที่พวกหน่วยงานด้านการวางกฎระเบียบระดับโลกกำลังทบทวนข้อกำหนดต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการเงินซ้ำรอยอีก ธุรกิจการเงินของอิสลามเองก็ควรปรับปรุงข้อกำหนดและมาตรฐานด้านการบัญชีด้วยเช่นกัน จากเดิมที่มุ่งเน้นการควบคุมสถาบันการเงินอิสลามเป็นรายๆ ไป มาเป็การปรับยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุมกว้างขึ้นทั้งประเด็นเศรษฐกิจเชิงมหภาคและจุลภาค

มุไลมาน ฮาดัด รองผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งอินโดนีเซีย เสนอว่า ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ การสร้างมืออาชีพให้เพียงพอกับการขยายธุรกิจตามหลักการชาริอะฮ์ และขณะนี้ประเทศมุสลิมหลายแห่งก็กำลังมีโครงการฝึกอบรมบุคลากรส่วนนี้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น