xs
xsm
sm
md
lg

"แบงก์อิสลาม" ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเมื่อยังยืนผงาดท้าวิกฤต "แฮมเบอร์เกอร์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - กิจการธนาคารอิสลามส่วนใหญ่ ต่างสามารถรอดพ้นความหายนะจากวิกฤตการเงินในปัจจุบัน เนื่องจากกฎข้อบังคับต่างๆ ของระบบธนาคารซึ่งผูกติดกับหลักการของศาสนาอิสลาม ทำให้พวกเขาละเว้นการดำเนินธุรกิจด้วยความเสี่ยงสูง ที่เป็นตัวการทำให้แบงก์และสถาบันการเงินกระแสหลักทั้งหลาย พากันซวนเซและล้มครืนกันมากมายทั่วโลกในขณะนี้

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคน ชี้ว่า เนื่องจากธนาคารอิสลามต้องพึ่งพาอย่างหนักกับการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ และการร่วมลงทุนกับกิจการต่างๆ ดังนั้น อุตสาหกรรมประเภทนี้ที่กำลังเฟื่องฟูในทั่วโลกโดยมีมูลค่ารวมกันถึงราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯนั้น ก็ย่อมต้องกระทบกระเทือนไปด้วย ถ้าหากวิกฤตการเงินขณะนี้เลวร้ายลงอีก และมูลค่าของทรัพย์สินที่แท้จริงเริ่มทรุดฮวบ

"ในวิกฤตการเงินปัจจุบัน น่าสังเกตว่าระบบการเงินการธนาคารอิสลาม สามารถหลีกเลี่ยงจากความยุ่งเหยิงครั้งมหึมา ที่ก่อขึ้นโดยพวกธนาคารและสถาบันการเงินที่ดำเนินการตามแบบแผนธรรมดา" ธนาคาร คูเวต ไฟแนนซ์ เฮาส์ กล่าวในรายงานฉบับหนึ่ง

"ทิศทางอนาคตของระบบการเงินอิสลามมีความสดใส และอาจก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการระดมทุนในโครงการใหญ่ๆ ขณะที่บรรดาธนาคารตามแบบแผนธรรมดา ยังอยู่ในสภาพที่ต้องทบทวนประเมินโมเดลทางธุรกิจของตนเองกันอยู่"

กฎเกณฑ์ต่างๆ ของธนาคารและระบบการเงินอิสลาม ซึ่งเป็นการผสมผสานหลักการต่างๆ ของชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม เมื่ออ่านดูแล้วจะเหมือนกับเป็นคู่มือให้คำแนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงความหายนะอย่างที่กำลังรุมเร้าตลาดการเงินทั่วโลกอยู่ขณะนี้

ทั้งนี้กฎหมายอิสลามนั้นห้ามทั้งการจ่ายและเก็บดอกเบี้ย โดยมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการพนัน ขณะที่พวกเครื่องมือทางการเงินที่สลับซับซ้อน อาทิ ตราสารอนุพันธ์ หรือวิธีการจัดทำบัญชีแบบใช้เทคนิคพิเศษต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งต้องห้ามเช่นกัน

การทำธุรกรรมต่างๆ จะต้องหนุนหลังโดยสินทรัพย์ที่แท้จริง มิใช่โดยสินทรัพย์มีเงื่อนงำไม่ชัดเจน อย่างเช่นสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ซึ่งถูกจัดแพกเกจใหม่แล้วนำออกขายในรูปแบบของตราสารหนี้ นอกจากนั้น การที่ธนาคารและผู้ฝากเงิน ต่างฝ่ายต่างต้องแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนร่วมกัน จึงทำให้สถาบันการเงินแบบอิสลาม มีแรงจูงใจที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบให้เกิดความมั่นใจว่า ข้อตกลงร่วมลงทุนต่างๆ ที่จะไปทำนั้น มีความมั่นคงน่าเชื่อถือ

ขณะเดียวกัน ผู้ฝากเงินหรือในระบบการเงินอิสลามก็มีฐานะเหมือนกับนักลงทุนนั่นเอง ก็มีสิทธิที่จะทราบว่า เงินลงทุนของตนถูกนำไปใช้อย่างไร นอกจากนั้น ระบบการเงินอิสลามยังมีระบบการตรวจสอบอันถี่ถ้วน ทั้งจากคณะกรรมการกำกับดูแล ตลอดจนหน่วยงานคุมกฎระดับชาติ

"กระทั่งตอนนี้ ธนาคารอิสลามยังดูดีมีความแข็งแกร่ง ถึงแม้ภาวะแวดล้อมทางการเงินของทั่วโลกกำลังสะบักสะบอมอยู่ในปัจจุบัน" ซีตี อัคตาร์ อาซิส ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งมาเลเซีย กล่าว ทั้งนี้มาเลเซียคือประเทศที่เป็นผู้นำกิจการด้านแบงก์อิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าระบบการเงินการธนาคารอิสลามจะไม่ได้รับความระคายเคืองจากพายุร้ายวิกฤตการเงินในปัจจุบันเอาเสียเลย ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียได้พูดไว้เองในเดือนนี้ว่า การที่เศรษฐกิจโลกกลับมาอยู่ในภาวะชะลอตัว ได้ส่งผลให้หลายๆ บริษัทที่วางแผนการออกตราสารหนี้แบบอิสลาม ที่เรียกกันว่า "ซูกูก" ต้องประกาศเลื่อนออกไปหรือกระทั่งยกเลิกเลย อาทิ บริษัท อับยาอาร์ เรียลเอสเตท ดีเวลอปเมนต์ ของคูเวต และเปอริซัย ปิโตรเลียม ของมาเลเซีย

ขณะที่ เจนนิเฟอร์ ชาง พนักงานระดับหุ้นส่วนของบริษัทไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย กล่าวว่า ด้วยขอบข่ายของวิกฤตทั่วโลกขณะนี้ แบงก์อิสลามก็อาจต้องประสบความเสียหายกันบ้าง แม้จะดูอยู่ในฐานะมั่นคงก็ตาม

"อิสลามิกแบงก์ เฉพาะอย่างยิ่งในแถบตะวันออกกลาง พึ่งพาอย่างหนักในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และการร่วมลงทุนกับกิจการต่างๆ ขณะเดียวกันเงินที่ปล่อยกู้จำนวนมากก็ค้ำประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น หากตลาดบ้านและที่ดินล้มลงละก้อ ธนาคารอิสลามทั้งหลายก็ต้องถูกกระทบไปด้วย"

"ยกตัวอย่างเช่น หากผู้กู้รายหนึ่งไม่สามารถชำระคืนเงินได้ ธนาคารอิสลามก็ต้องยึดหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันไว้ คำถามก็คือ คุณจะสามารถขายสินทรัพย์ที่ยึดมาในตลาดได้หรือเปล่า และจะขายได้ซักเท่าไร? เหล่านี้คือประเด็นต่างๆ ที่ธนาคารทุกแห่งต่างต้องประสบกันทั้งสิ้น" ชางกล่าว

ด้วยเหตุผลนานัปการ จึงมีหลายๆ ฝ่ายเรียกร้องให้พวกอุตสาหกรรมธนาคารตามแบบแผนทุนนิยมธรรมดา นำเอาแบบอย่างบางประการของระบบการเงินอิสลามไปใช้ ทั้งนี้ ระบบการเงินอิสลามยังมีด้านที่เน้นการลงทุนอย่างมีจริยธรรม หลีกเว้นการลงทุนในกิจการการพนัน, แอลกอฮอล์, ตลอดจนสิ่งลามกอนาจาร

เชค ยูซุฟ อัลกอราดาวี นักการศาสนาชื่อดังกล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ เรียกร้องให้ชาวมุสลิมใช้โอกาสที่เกิดวิกฤตการเงินเช่นนี้ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับหลักการอิสลาม

"การล่มสลายของระบบทุนนิยมที่ตั้งอยู่บนการกู้ยืมที่คิดดอกเบี้ยสูง ตลอดจนการซื้อขายแลกเปลี่ยนกระดาษ และสิ่งที่ไม่ใช่สินค้าจริงๆ ในตลาด กำลังพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าระบบนี้กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต และก็แสดงให้เห็นว่า ปรัชญาเศรษฐกิจอิสลามกลับยังคงแข็งแกร่ง" นักการศาสนาซึ่งเกิดในอียิปต์ และเวลานี้พำนักอยู่ที่กาตาร์ผู้นี้กล่าว

อันที่จริงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาคการเงินอิสลามได้แตกหน่อขยายตัวจากการเป็นแค่กิจการในตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยที่พวกธนาคารกระแสหลักก็ให้การต้อนรับเปิดแผนกธนาคารอิสลามขึ้นมากันบ้าง ขณะเดียวกัน กิจการการเงินการธนาคารอิสลามก็มีการเติบโต จากเดิมที่ทำแค่บริการรับฝากเงินและเข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทต่างๆ ทั่วไป ปัจจุบันนี้แบงก์อิสลามหลายแห่งได้รุกทำธุรกิจอย่างเช่น กองทุนเพื่อการลงทุนภาคเอกชน (อิควิตี้ ฟันด์),การออกตราสารหนี้ และกระทั่งกองทุนเฮดจ์ฟันด์แบบอิสลาม

อภิเชษฐ์ กุมาร นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งไฟแนนเชียล อินไซต์ส ซึ่งเป็นกิจการในเครือบริษัทวิจัยและวิเคราะห์ชื่อก้อง อินเตอร์เนชั่นแนล ดาตา คอร์ป (ไอดีซี) ให้ความเห็นว่า ความปั่นป่วนผันผวนของภาคการเงินโลกในช่วงหลังๆ มานี้ อาจยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้ภาคการเงินอิสลาม

"สถาบันการเงินจำนวนมากขึ้นทุกทีจะมีความสนใจในการให้บริการต่างๆ แบบอิสลาม เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนของพวกเขา" กุมารกล่าว ขณะเดียวกันก็เตือนว่า พายุการเงินขณะนี้ ยังไม่มีที่หลบภัยใดที่จะปลอดภัยอย่างสิ้นเชิง

"เรายังไม่มั่นใจจริงๆ ว่า ขอบเขตผลกระทบที่แท้จริงของวิกฤตคราวนี้จะไปถึงขนาดไหน และเราข้ามผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดมาแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตาม ขอบเขตผลกระทบในระบบการเงินอิสลาม น่าจะไม่เลวร้ายเท่ากับภาคธนาคารกระแสหลักหรอก"
กำลังโหลดความคิดเห็น