xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง ศก.โลกเข้าสู่ “แดนสนธยา” ปลายทางการตกต่ำ-เริ่มต้น “ฟื้น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจแสดงถึงเปอร์เซ็นต์ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น แต่การเติบโตของประเทศชั้นนำยังคงติดอยู่ในภาวะขาลง บริษัทต่างๆ รายงานผลขาดทุนมหาศาลและประกาศลอยแพพนักงาน กระนั้น ผู้บริหารบางคนยังคงเชื่อว่าสถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว

หลังจากระบุว่า กำลังเห็น “หน่ออ่อน” ของการฟื้นตัว ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า เศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังเข้าสู่ “แดนสนธยา” โดยดัชนีชี้วัดบางตัวสะท้อนถึงการพลิกฟื้น แม้ยังมีปัญหาความยากลำบากรออยู่ก็ตาม

นักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ป ระบุในรายงานว่า ตลาดหุ้นโลกกำลังคืนกลับสู่ “แดนสนธยา” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาสู่ปลายทางของการตกต่ำ เมื่อรายได้ของบริษัทต่างๆ ยังคงลดลงแต่ราคาหุ้นมีเสถียรภาพมากขึ้น

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวร้ายของประเทศชั้นนำบางแห่งออกมาเป็นระลอก แต่พร้อมกันนี้ก็ปรากฏสัญญาณการฟื้นคืนชีพของเศรษฐกิจ

เริ่มจากสหรัฐฯ ที่รายงานว่า เศรษฐกิจหดตัว 6.1% ในไตรมาสแรก ตามด้วยธนาคารกลางญี่ปุ่นคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รอบ 12 เดือนข้างหน้าจะหดตัว 3.1% และเยอรมนี เผยว่า ภาวะถดถอยทำให้พนักงานตกงานนับหมื่น

อย่างไรก็ตาม ทางการโตเกียว ระบุว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคอเมริกันประจำเดือนเมษายนก็ออกมาว่าดีขึ้น ส่วนในสหภาพยุโรป และเยอรมนี การสำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น

สัปดาห์ที่แล้ว บริษัทน้ำมัน รถยนต์ และสายการบินทยอยออกมารายงานว่า ผลกำไรดิ่งลงหรือขาดทุนมโหฬาร แต่บางแห่งก็มีการส่งสัญญาณแง่บวกให้ใจชื้น อาทิ อาร์เซเลอร์มิตตัล ผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่สุดของโลก ที่คาดว่า จะสามารถฟื้นตัวได้ในไตรมาสสอง หลังจากขาดทุนกว่า 1,000 ล้านยูโร และต้องปลดพนักงานหลายพันคน

ออเรลิโอ มักคาริโอ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในยูโรโซนของยูนิเครดิต ธนาคารแดนมะกะโรนี้ ชี้ว่า สัญญาณแรกของการปรับตัวของวงจรธุรกิจในยูโรโซนปรากฏชัดเจนในเดือนเมษายน

โรเบิร์ต บรัสกา จากเอฟเอโอ อิโคโนมิกส์ ขานรับว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจฟื้นตัวเร็วและแข็งแกร่งกว่าที่หลายคนคาด โดยแจงว่า มีสัญญาณบวกปรากฏขึ้นหลายอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นจากภาวะถดถอย และจะตามมาด้วยการขยายตัวสี่ไตรมาส ที่อาจเป็นการขยายตัวอย่างร้อนแรง

นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า อัตราจ้างงาน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และตลาดที่อยู่อาศัยเมืองลุงแซม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาวิกฤตคราวนี้ คือปัจจัยสำคัญที่จะบ่งชี้สัญญาณการฟื้นตัว

โฮเวิร์ด วีลดอน นักยุทธศาสตร์อาวุโสของบีซีจี พาร์ตเนอร์ส ขานรับว่า อัตราว่างงานเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และปรากฏสัญญาณว่าการลงทุนของนายจ้างช่วยส่งเสริมการฟื้นตัว นอกจากนี้ ความพร้อมด้านสินเชื่อจะมีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อมีการเริ่มต้นสร้างบ้านใหม่ และยอดขายบ้านที่มีอยู่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน แม้ตลาดหุ้นซวนเซจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก คุกคามการฟื้นตัวอันละเอียดอ่อน ทว่า นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้กังวลกับเรื่องนี้มากนัก

นักวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษา แคปิตอล อิโคโนมิกส์ มองว่ามาตรการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพที่ทั่วโลกดำเนินการอยู่ และประสบการณ์การรับมือกับโรคระบาดในอดีต ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่ล่าสุดนี้ไม่น่าส่งผลกระทบมากมายนักต่อเศรษฐกิจ

โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์มรณะเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตที่ปะทุขึ้นในสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2007 และผลักดันให้โลกเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า จีดีพีโลกจะหดตัว 1.3% ในปีนี้

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้นำทางอุตสาหกรรม 7 ชาติ (จี7) กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า สัญญาณการฟื้นตัวเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว และโดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟ เรียกร้องให้มีแผนการร่วมกันเพื่อเตรียมการสำหรับการฟื้นตัว

รายงานของซิตี้ ทิ้งท้ายว่า ทิศทางแนวโน้มพื้นฐานในเรื่องผลกำไรยังเลวร้าย และเชื่อว่าแนวโน้มที่รายได้ของธุรกิจจะตกลงมานั้น ยังจะไม่ถึงจุดต่ำสุดในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี รายงานบอกว่า ภาวะ “แดนสนธยา” มักจะอยู่ในสภาพเช่นนี้แหละ
กำลังโหลดความคิดเห็น