xs
xsm
sm
md
lg

G7-G20หารือขณะสัญญาณศก.เริ่มดี แต่ปัญหาภาคธนาคารยังชวนปวดหัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ย่านการค้าในกรุงโซล เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มจี 20
เอเจนซี – รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มจี 7 และจี 20 ซึ่งไปประชุมกันที่กรุงวอชิงตันในวันศุกร์(24) น่าจะแถลงว่ามองเห็นสัญญาณความก้าวหน้าบางประการแล้ว จากการลงแรงพยายามทำงานกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจของพวกเขา อย่างไรก็ตามความอดทนของประชาชนและตลาดก็กำลังลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในเรื่องที่มีความคืบหน้าช้ามาก ในการสางปัญหาสินทรัพย์เน่าเสียออกจากธนาคารต่าง ๆ

สิ่งที่ออกจากพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเงินการคลังของกลุ่ม 7ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี 7) รวมทั้งกลุ่มจี 20 (ซึ่งมีจี 7 บวกด้วยประเทศเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ทั้งที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา อาทิ จีน, อินเดีย, รัสเซีย, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย) ที่จะมาประชุมต่อเนื่องกันคราวนี้ น่าจะมีการพูดถึงความคืบหน้าอะไรออกมาบ้าง อันเป็นสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่เริ่มจะดีขึ้นบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในสภาพที่สินทรัพย์เน่าเสียยังคงกองพะเนินเทินทึก ก็กำลังทำให้บรรดาธนาคารทั่วโลก ไม่เต็มใจและไม่สามารถที่จะอำนวยสินเชื่อแก่ลูกค้าได้ ถึงแม้จะได้ดึงดูดเอาเงินอัดฉีดแก้ปัญหาเศรษฐกิจมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ของรัฐบาลต่าง ๆ ไปแล้ว ทั้งนี้ โดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) กล่าวย้ำว่า ปัญหาของภาคการเงินการธนาคารเหล่านี้จ ะต้องถูกแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดก่อน จึงจะสามารถทำให้เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัว

“จากประสบการณ์ทั้งหลายที่เรามีในอดีตเกี่ยวกับวิกฤตภาคการธนาคาร บอกให้ทราบว่าเราไม่จะสามารถฟื้นตัว ได้หากว่าไม่ทำความสะอาดภาคการเงินให้ปลอดจากสินทรัพย์เน่าเสียก่อน”

“และถ้าเลื่อนการแก้ไขออกไป ก็เท่ากับว่าเราเลื่อนการฟื้นตัวออกไปด้วยเช่นกัน”

คาดหมายกันว่า เรื่องนี้จะเป็นหัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่งของการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม จี 7 และ จี 20 ในวันศุกร์ อันเป็นการหารือ 1 วันก่อนหน้าการประชุมรอบครึ่งปีของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก โดยที่ผู้เข้าร่วมการประชุม ก็ยังดูจะมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับความหนักหนาสาหัสของสถานการณ์

“ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหานั้นมีน้อยมาก ซึ่งหมายความภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะอยู่กับเรานานขึ้นอีกหนึ่งไตรมาส นอกจากนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็จะเป็นไปอย่างเงียบเชียบและเชื่องช้ามาก” ผู้ว่าการธนาคารกลางของแคนาดา มาร์ค คาร์นีย์ กล่าวที่กรุงออตตาวาเมื่อวันพฤหัสบดี (23)

ในขณะที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจฝรั่งเศส คริสตีน ลาการ์ด กลับให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า ธนาคารของฝรั่งเศสอยู่ในสภาพดี และไม่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอีกแล้ว

รายงานภาวะเสถียรภาพระบบการเงินโลกฉบับล่าสุดของไอเอ็มเอฟที่ออกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร(21) ได้คาดการณ์ว่าความเสียหายจากสินเชื่อทั่วโลกน่าจะสูงถึง 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้ทางการจะต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา เท่าที่ผ่านมาธนาคารทั่วโลกได้ระดมทุนไปแล้วถึง 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อมาประคองธุรกิจ และครึ่งหนึ่งนั้นเป็นเงินช่วยเหลือที่มาจากรัฐบาล

กองทุนฯคิดว่าธนาคารของสหรัฐจะยังคงมีการตัดยอดขาดทุนต่อไปอีก 550,000 ล้านดอลลาร์ในอีกสองปีข้างหน้า ในขณะที่ยูโรโซนจะต้องตัดยอดขาดทุน 750,000 ล้านดอลลาร์ และอังกฤษ 200,000 ล้านดอลลาร์

ทางการสหรัฐฯนั้นได้เสร็จสิ้นการประเมินสถานะทางการเงินของธนาคารใหญ่ที่สุด 19 แห่งไปแล้ว และจะประกาศรายละเอียดว่าทำการตรวจสอบอย่างไรออกมาในวันศุกร์(24)
แต่ผลลัพธ์องการประเมินนี้กว่าจะออกมาก็คงต้องรอกันจนถึงเดือนพฤษภาคม จากนั้นธนาคารที่ไม่ค่อยแข็งแรง จะมีเวลา 6 เดือนในการหาทางระดมเงินทุนมาเสริมความแข็งแกร่งจากภาคเอกชน หรือไม่ก็ยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล จังหวะเวลาเช่นนี้หมายความว่า อาจจะต้องไปถึงปลายปีนี้ พวกธนาคารใหญ่ในสหรัฐฯจึงจะมีการเพิ่มทุนกันเสร็จสิ้นสมบูรณ์

เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการคลังสหรัฐฯผู้หนึ่งเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในการประชุมจี 7 คราวนี้ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ทิโมที ไกธ์เนอร์ จะแจ้งกรอบโครงของขั้นตอนต่างๆ ที่สหรัฐฯกระทำลงไป เพื่อทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพ

“เรากำลังเผชิญหน้ากับการทรุดตัวครั้งร้ายแรง ทั้งในด้านการเงิน การถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก และเงินทุนก็ถูกดึงออกจากประเทศตลาดเฟื่องฟูใหม่ ในขณะเดียวกับการค้าก็หดตัวลงรุนแรงด้วย” เจ้าหน้าที่ผู้นี้ชี้

“มีข้อมูลตัวเลขบางประการที่บ่งชี้ว่า อัตราการทรุดตัวของประเทศเรากำลังชะลอลงแล้ว และมีสัญญาณที่ยังไม่แน่นอนนักบางประการซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัว ทว่าก็ยังคงมีความเสี่ยงด้านขาลงดำรงอยู่ ตัวอย่างเช่น สืบเนื่องจากกระบวนการลดหนี้สินทั่วโลกที่กำลังดำเนินอยู่ จึงยังคงมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่องในระบบการเงิน”
กำลังโหลดความคิดเห็น