xs
xsm
sm
md
lg

สายสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียในวงโคจรใหม่(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

US-Russia ties on a new trajectory
By M K Bhadrakumar
03/04/2009

การพบหารือในสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดี ดมิตริ เมดเวเดฟ แห่งรัสเซีย ถึงแม้ในตัวมันเองจะยังไม่ใช่ปัจจัยซึ่งช่วยซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองที่ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่การหารือคราวนี้ก็เป็นหลักหมายแสดงถึงความพยายามอย่างสอดคล้องกัน ที่จะสร้างเงื่อนไขเบื้องต้นอันจำเป็นแก่การก้าวไปสู่สายสัมพันธ์ที่ดีขึ้นของพวกเขา ทั้งนี้ข้อตกลงของทั้งสองประเทศในเรื่องอัฟกานิสถาน น่าที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในเรื่องนี้

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

พวกนักรบสงครามเย็นอาจจะตีความว่า การเจรจาเพื่อทำข้อตกลงควบคุมอาวุธกันใหม่นี้ คือการอ่อนข้ออย่างสำคัญของโอบามา เนื่องจากเท่ากับเป็นการ “ยก” ฐานะของรัสเซียในประชาคมระหว่างประเทศ ให้ขึ้นสู่ระดับที่เป็นประเทศผู้เท่าเทียมกับสหรัฐฯ ทว่าโอบามานั้นตระหนักเป็นอย่างดีว่า ปราศเสียซึ่งความร่วมมืออย่างล้ำลึกของรัสเซียแล้ว วาระอันสำคัญยิ่งยวดของเขาในเรื่องการไม่ให้มีการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง ก็จะล้มครืนไม่สามารถผงาดขึ้นได้ ดังคำพูดของโอบามาที่กล่าวว่า “ทั้งสหรัฐฯและรัสเซียและมหาอำนาจนิวเคลียร์อื่นๆ จะอยู่ในฐานะอันแข็งแกร่งขึ้นเป็นอย่างมาก ในการส่งเสริมสนับสนุนสนธิสัญญาห้ามแพร่กระจายอาวุธที่กำลังกลายเป็นสิ่งอ่อนเปราะและขาดกระรุ่งกระริ่งไปเสียแล้ว ถ้าหากพวกเราออกมานำด้วยการกระทำเป็นตัวอย่าง และถ้าหากเราสามารถดำเนินฝีก้าวอันนักแน่นจริงจังเพื่อลดคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์”

จริงอยู่ ประธานาธิบดีทั้งสองยอมรับว่ามีความแตกต่างกันที่ยืดเยื้อมานานแล้ว เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่สหรัฐฯมุ่งจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธขึ้นในยุโรป แต่ก็พอจะมองเห็นได้ว่าพวกเขาไม่ได้มองว่ามันเป็นประเด็นปัญหาอันจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนอีกต่อไป และการร่วมมือกันระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซียในอนาคตในเรื่องนี้ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ ถึงอย่างไร มอสโกก็ทราบแล้วว่าโอบามาไม่ได้มีความปรารถนาอันแรงกล้าแบบเดียวกับบุช ที่จะผลักดันประเด็นปัญหานี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสหรัฐฯ นอกจากนั้น ประชามติในสาธารณรัฐเช็กก็กำลังคัดค้านการเข้าไปจัดตั้งส่วนประกอบระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทำนองเดียวกัน ความตึงเครียดในเรื่องการขยายตัวขององค์การนาโต้ก็ผ่อนคลายไปเช่นกัน เนื่องจากปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า การรับเอายูเครนหรือจอร์เจียเข้าไปในองค์การพันธมิตรร่วมป้องกันแห่งนี้ ยังจะกระทำไม่ได้เป็นเวลาอย่างน้อย 15 – 20 ปี เช่นเดียวกัน ยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ในประเด็นปัญหาอย่างเช่น ความขัดแย้งในภูมิภาคคอเคซัสเมื่อปีที่แล้ว (สงครามระหว่างจอร์เจียกับรัสเซีย) และความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคดังกล่าวที่ติดตามมา หรือเรื่องเอกราชของจังหวัดโคโซโว ทว่าประเด็นปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เป็น “จุดร้อน” จริงๆ ในความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย” ในเวลานี้เสียแล้ว

เมื่อมองกันโดยภาพรวม การพบปะหารือกันโอบามา-เมดเวเดฟในกรุงลอนดอนกลายเป็นเรื่องที่มีชีวิตชีวาทรงความสำคัญขึ้นมาได้ ที่สำคัญแล้วก็เนื่องจากความร่วมมือกันระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียในอัฟกานิสถานนั่นเอง คำแถลงร่วมของประธานาธิบดีทั้งสองอ้างถึงเรื่องนี้ว่า พวกเขาตกลงเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันในอัฟกานิสถาน เนื่องจาก “พวกอัลกออิดะห์ และผู้ก่อการร้ายตลอดจนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอื่นๆ ซึ่งกำลังปฏิบัติการอยู่ในอัฟกานิสถานและปากีสถานนั้น ต่างเป็นภัยคุกคามร่วมกันของประเทศจำนวนมาก รวมทั้งสหรัฐฯและรัสเซียด้วย” คำแถลงร่วมยังกล่าวต่อไปว่า มอสโกและวอชิงตันจะ “ทำงานตลอดจนสนับสนุนให้เกิด การตอบโต้ที่เป็นการประสานร่วมมือกันระดับระหว่างประเทศ โดยที่มียูเอ็นเป็นผู้แสดงบทบาทอันสำคัญ”

สิ่งที่สำคัญมากก็คือ ฝ่ายรัสเซียมีการปล่อยไพ่ตัวเอซทีเดียว ในช่วงวันก่อนหน้าการพบปะหารือลอนดอนคราวนี้ เมื่อพวกเขาตัดสินใจที่จะเสนอให้ฝ่ายอเมริกันใช้สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งอย่างเต็มที่ไม่มีปิดกั้น เพื่อการขนถ่ายสินค้าทางทหารทั้งหมดของสหรัฐฯ(และของนาโต้)ผ่านดินแดนรัสเซียโดยทางอากาศและทางรถไฟไปสู่อัฟกานิสถาน เรื่องนี้โดยสาระแล้วเท่ากับว่า ฝ่ายรัสเซียกำลังเสนอว่า สหรัฐฯจะไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาเส้นทางขนส่งอื่นๆ อีกเลย อาทิ การผ่านปากีสถานซี่งเต็มไปด้วยความลำบากยุ่งยาก

เรื่องที่กำลังปรากฏขึ้นมาก็คือ มอสโกคาดเก็งว่าความวิตกสำคัญที่สุดในด้านนโยบายการต่างประเทศของคณะรัฐบาลโอบามา คือเรื่องการสร้างเสถียรภาพขึ้นในอัฟกานิสถาน และดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่จะสามารถทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียบังเกิดเสถียรภาพ ได้ดีกว่าการที่รัสเซียจะเสนอให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่แก่สหรัฐฯในเขตเทือกเขาฮินดูกูช อันเป็นเขตพรมแดนระหว่างอัฟกานิสถานกับปากีสถาน (น่าสังเกตว่า ข้อเสนอของฝ่ายรัสเซียเช่นนี้สอดคล้องกันพอดีกับการวินิจฉัยคาดคะเนของคณะกรรมการฮาร์ต-แฮเกิล)

นี่ต้องถือเป็นการขบคิดพิจารณาอย่างฉลาดของฝ่ายมอสโก ซึ่งมีพื้นฐานจากการวิเคราะห์อย่างระมัดระวังว่า ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียนั้นไม่ได้มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อะไรจริงๆ ในอัฟกานิสถานเลย ตราบเท่าที่ความสัมพันธ์โดยองค์รวมระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซีย ยังคงวางพื้นฐานอยู่ที่การตระหนักถึงความอ่อนไหวในผลประโยชน์แกนกลางและความกังวลอันสำคัญยิ่งของแต่ละฝ่าย

มีหลักฐานชัดเจนในเรื่องนี้เมื่อเราตรวจสอบดูสมมุติฐานพื้นฐานของยุทธศาสตร์อัฟกานิสถานใหม่ของโอบามาที่ระบุว่า “เข้มแข็งขึ้น, ฉลาดหลักแหลมขึ้น, และรอบด้าน” โดยเนื้อแท้แล้วก็มีพื้นฐานมาจากสมมุติฐานต่างๆ 9 ประการ

ประการแรก มีความเชื่อมโยงกันในระดับรากฐานระหว่างอนาคตของอัฟกานิสถานและปากีสถาน ประการที่สอง อัลกออิดะห์เป็นภัยคุกคามที่ปรากฏให้เห็นกันอยู่แล้วของปากีสถาน ประการที่สาม ความสามารถของปากีสถานที่จะต่อสู้กับภัยคุกคามของอัลกออิดะห์ จะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งและความมั่นคงปลอดภัยของปากีสถานเอง ประการที่สี่ ปากีสถานจำเป็นต้องได้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ แต่ก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบชนิดให้ตรวจสอบได้ ขณะที่รับความช่วยเหลือดังกล่าว ประการที่ห้า จำเป็นจะต้องเปลี่ยนสถานการณ์ให้กลับตาลปัตร ไม่ให้พวกตอลิบานเป็นฝ่ายได้เปรียบในอัฟกานิสถาน และจำเป็นจะต้องส่งเสริมสนับสนุนรัฐบาลอัฟกันที่มีความสามารถและแสดงความรับผิดชอบให้ตรวจสอบได้มากกว่านี้ ประการที่หก “การเพิ่มทะยาน” (surge) ควรต้องมีทั้งส่วนการทหารและส่วนทางพลเรือน และจำเป็นที่ทั้งสองส่วนนี้จะต้องมีบูรณาการกัน ประการที่เจ็ด ก่อนที่จะมีสันติภาพอันถาวรได้นั้น ควรจะต้องมีการปรองดองกับบางส่วนในพวกที่เคยเป็นศัตรูกัน ประการที่แปด สามารถที่จะโดดเดี่ยวและพุ่งเป้าเล่นงานเจาะจงไปที่พวกอัลกออิดะห์ได้ ด้วยการใช้แบบแผนของกระบวนการสร้างกองกำลังอาวุธชาวสุหนี่ที่ไม่เอาอัลกออิดะห์ (ขบวนการ Sunni Awakening) ซึ่งดำเนินการอย่างประสบความสำเร็จในอิรัก ประการที่เก้า การเข้าร่วมของนานาชาติเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมของนาโต้

มอสโกไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับสมมุติฐานดังกล่าวนี้ไม่ว่าประการไหน ด้วยเหตุนี้เอง เครมลินจึงมีการประเมินอย่างหลักแหลมว่า ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของรัสเซียจะไม่ได้รับความเสียหายอะไรเลย ถ้าหากรัสเซียเข้าช่วยเหลือความพยายามของสหรัฐฯในการสร้างเสถียรภาพในอัฟกานิสถาน ยุทธศาสตร์อัฟกานิสถานของโอบามานั้นต้องถือว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จได้ค่อนข้างยาก ทว่านั่นก็ไม่ใช่ปัญหาของรัสเซียแต่อย่างใด การช่วยเพื่อนในยามลำบากย่อมจะทำให้รัสเซียกลายเป็นเพื่อนแท้ของคณะรัฐบาลโอบามา เหตุผลในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มองเห็นได้ง่ายๆ , ตรงไปตรงมา, และกระทั่งน่าจะใช้ปฏิบัติอย่างได้ผล ทั้งนี้เนื่องจากสหรัฐฯกำลังเผชิญกับสิ่งที่อาจกลายเป็นหล่มโคลนลึกทั้งทางการเมืองและทางการทหารในอัฟกานิสถาน และจำเป็นอย่างเหลือเกินที่จะต้องมองหาความช่วยเหลือไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหน

ในอีกด้านหนึ่ง หากรัสเซียประสบความสำเร็จในการยกระดับจากการแสดงเจตนารมณ์อันดีต่อสหรัฐฯไม่ว่าในเรื่องไหนๆ ให้กลายเป็นการสร้างบรรยากาศเชิงบวกในความร่วมมือกันในความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียโดยองค์รวมแล้ว ก็จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อระบบระหว่างประเทศทีเดียว พวกมหาอำนาจระดับภูมิภาคจะต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด และอาจจะพรักพร้อมเริ่มขบคิดพิจารณาหาวิธีการอันเหมาะสมของพวกเขาเองในการเดินหมากในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้เดิมพันในเรื่องนี้ต้องถือว่าสูงมากเป็นพิเศษทีเดียวสำหรับอิหร่านและปากีสถาน

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี

  • สายสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียในวงโคจรใหม่(ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น