เอเอฟพี -วิกฤตการเมืองไทยล่าสุด จะส่งผลกระทบให้ธุรกิจท่องเที่ยวเสียหายอย่างมหาศาล อีกทั้งฉุดตลาดหุ้นให้ดิ่งลง และจะทำให้เศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยอยู่แล้วยิ่งลำบากหนัก ทั้งนี้เป็นความคิดเห็นพวกนักวิเคราะห์ที่สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมมาและนำออกเสนอเมื่อวานนี้ (15)
"รัฐบาลจะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเมืองให้กลับคืนมาโดยเร็ว ช่วงสามเดือนข้างหน้าจะเป็นจุดวิกฤต" ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็น
การที่ผู้ประท้วงรัฐบาลเข้าไปขัดขวางการจัดประชุมอาเซียนซัมมิต และจัดชุมนุมปิดกั้นการจราจรในถนนสำคัญๆ ทั่วกรุงเทพฯ ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เป็นการทดสอบฝีมือการบริหารงานของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชีวะครั้งสำคัญที่สุด หลังจากที่เขารับตำแหน่งได้สี่เดือน และการที่ทหารใช้แผนกดดันกลุ่มผู้ประท้วงจนต้องสลายตัวไปในที่สุด ก็เห็นกันว่าทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในการต่อสู้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้วางแผนกโลบายเพื่อให้ตนเองกลับคืนสู่อำนาจ
อย่างไรก็ดึ ตลาดหุ้นไทยก็จะเป็นผู้ให้คะแนนผลงานของนายกฯอภิสิทธิ์ด้วย หลังเปิดทำการอีกครั้งในวันนี้ (16)
"โดยภาพรวมแล้ว ความรู้สึกคงออกมาเป็นเชิงลบทั้งหมด แต่เหตุการณ์ช็อกครั้งนี้อาจสะท้อนให้เห็นความหดหู่มากขึ้นในตลาดหุ้น" จุน ตรินิแดด นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคของซิติแบงค์กล่าว กระนั้น เขาก็คาดว่ามี "ความเป็นไปได้ในระยะอันใกล้" ที่จะเห็นการขานรับอภิสิทธิ์ในตลาด
"แต่ผมไม่คิดว่าความขัดแย้งได้ยุติแล้วจากการที่กองทัพเข้ามาแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือนายกฯ ในที่สุดแล้วประเด็นปัญหานี้จะต้องมีการชำระสะสางให้จบกันไปอย่างเด็ดขาด"
สำหรับ ธนวรรธน์ มีความเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเสียหายกว่า 100,000 ล้านบาท หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกรณีปิดสนามบินเมื่อปีที่แล้ว
"สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว แต่การประท้วงก็ยุติลงเร็วกว่าที่เราคาดคิดไว้ รัฐบาลยืนยันใช้มาตรการสันติและไม่มีการนองเลือด ตรงนี้เป็นแง่บวกและจะช่วยให้รัฐบาลฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจให้กลับดีขึ้นง่ายขึ้น"
ทั้งนี้เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงการคลังคาดหมายว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงราวสองหรือสามเปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบทศวรรษ ทว่าภาคเอกชนกลับคาดหมายในทิศทางที่แย่กว่านั้นอีก
ตรินิแดดบอกว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 117,000 ล้านบาทของอภิสิทธิ์ที่ออกมาในเดือนมกราคมนั้นจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ แต่นายกฯ ของไทยก็ยังถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง หลังจากศาลพิพากษาให้อดีตผู้นำของไทย ซึ่งอยู่ข้างทักษิณต้องพ้นจากตำแหน่ง
"ตลอดสี่เดือนที่ผ่านมาแผนการในเรื่องเศรษฐกิจชัดเจนมาก และตลาดก็ตอบรับเป็นอย่างดี" เขาบอก "แต่ตอนนี้คำถามไม่ใช่เรื่องของเทคนิควิธีการ หรือแผนการวางเกม หรือการขาดทรัพยากรสนับสนุน แต่เป็นประเด็นเรื่องการเมืองแท้ๆ มากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นโชคร้ายที่มันมาเกิดในเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังตกต่ำ เป็นห้วงเวลาที่แย่เอามากๆ"
จูเลีย โก๊ะ นักเศรษฐศาสตร์ของ ซึไอเอ็มบี-จีเค รีเสิร์ช ก็มีความเห็นทำนองเดียวกันว่าการจัดการอย่างละมุนละม่อมของนายกฯอภิสิทธิ์ในครั้งนี้ ยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งก็คือการประสานรอยร้าวในสังคมที่แตกแยกกันอย่างรุนแรงในขณะนี้
"ความรู้สึกโดยรวมยังเป็นไปในเชิงลบอย่างมาก เพราะว่าการเมืองยังไม่แน่นอน ซึ่งจะขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย" เธอบอก
"ในไตรมาสที่สอง จีดีพีมีแนวโน้มหดตัวลง ยิ่งธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองอีก การฟื้นตัวก็คงเนิ่นช้าออกไป"