xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯลั่นเสนอกฎเหล็กแก้เหตุฉ้อฉล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีการคลังของสหรัฐฯ
เอเอฟพี - สหรัฐฯจะเสนอกฎระเบียบที่เข้มแข็งกว่าเดิมในความพยายามขัดขวางการฉ้อฉลและล่วงละเมิดตลาดเงิน ส่วนหนึ่งในข้อปฏิบัติร่วมกันทั่วโลกเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตการเงินครั้งใหม่ รัฐมนตรีคลัง ทิโมธี ไกธ์เนอร์ กล่าว

“ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราจะมีข้อเสนอใหม่และกฎระเบียบที่เข้มแข็งกว่าเดิมเพื่อปกป้องผู้บริโภคและนักลงทุนสหรัฐฯต่อการฉ้อฉลและล่วงละเมิดทางการเงิน” ไกธ์เนอร์ ระบุ

“กฎระเบียบนี้จะช่วยเราจัดการกับบทเรียนสินเชื่อปล่อยกู้แก่ลูกหนี้คุณภาพต่ำในอนาคต ซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตในปัจจุบัน” เขาบอก

ไกธ์เนอร์ บอกต่อว่า แผนดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่พุ่งเป้าไปที่วางกฎระเบียบทางการเงินในสหรัฐฯเพียงอย่างเดียว “แต่ -- จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของประเทศต่างๆและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับองค์กรนานาชาติด้วย”

รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯจะเดินทางไปกับประธานาธิบดี บารัค โอบามา เข้าร่วมประชุม จี20 ในลอนดอน วันที่ 2 เมษายน ซึ่งมีเป้าหมายค้นหากลไกรับประกันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและปฏิรูประบบการเงินโลก

ไกธ์เนอร์ และ เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้เรียกร้องสภาคองเกรสเมื่อวันอังคาร (24) ขอให้รัฐสภาสหรัฐฯเพิ่มอำนาจรัฐบาลเพื่อให้สามารถปิดสถาบันการเงินที่มีปัญหาอย่างเช่นเอไอจี จะได้ไม่ต้องเอาเงินมหาศาลเข้าไปช่วยชีวิตกันอีกในเวลาต่อไป หากยังต้องการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐฯมีอำนาจเพียงเข้าควบคุมกิจการของธนาคารต่างๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือ และคำร้องขอใหม่นี้จะใช้ให้ทางการสามารถเข้ายึดบริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ บริษัทด้านการลงทุนและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ระหว่างวิกฤตทางการเงิน

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับ AIG ทำให้เราเห็นว่าสภาวะตึงตัวด้านการเงินส่งผลกระทบต่อกันและกันในอุตสาหกรรมการเงิน และทำให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ” ไกธ์เนอร์ กล่าว ขณะที่ เบอร์นันกี กล่าวเสริมว่า “สถานการณ์ของ AIG ทำให้เราเล็งเห็นความจำเป็นในการหาทางออกเรื่องกระบวนการกำกับดูแล”

ไกธ์เนอร์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการเครื่องมือเพื่อเข้าจัดการกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารที่กำลังจะล้มลงมา เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้เช่นเดียวกับธนาคาร ที่รัฐบาลมีเครื่องมือพร้อมอยู่แล้ว ภายใต้ข้อเสนอของไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเข้าแทรกแซงในสถาบันการเงินได้เมื่อไร ด้วยการหารือกับธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

“ดังที่เราได้เห็นแล้วในกรณีของเอไอจี สถาบันการเงินที่ไม่ได้รับฝากเงินแต่มีการเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่นๆ สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงในเชิงระบบได้เช่นเดียวกับธนาคาร” เขาบอก

ทั้งนี้ ในปัจจุบันบรรษัทประกันเงินฝากสหรัฐฯ (เอฟดีไอซี) มีอำนาจที่จะแก้ปัญหาธนาคารที่ล้มครืนลงมาอย่างอินดี้แมค แบงก์ได้ ทว่า ไม่มีอำนาจที่จะปิดสถาบันการเงินชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร

ไกธ์เนอร์ บอกกับผู้สื่อข่าวต่อว่าโลกกำลังเผชิญหน้ากับ “ความท้าทายที่พิเศษ” และจำเป็นต้อง “ปฏิบัติการอย่างพิเศษ” เพื่อต่อสู้กับแรงเขย่าทางการเงินในปัจจุบัน ซึ่งมีต้นตอมาจากหนี้เสียสินเชื่อบ้านในสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น