เอเจนซี - องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ระบุเมื่อวันจันทร์(23)ว่า มูลค่าการค้าของโลกในปีนี้จะลดลงถึง 9% ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา สืบเนื่องจากพวกประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทรุดตัว จึงมีความต้องการสินค้าลดลงอย่างฮวบฮาบ
การคาดการณ์ของดับเบิลยูทีโอนี้ ย่ำแย่กว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ได้ทำนายไว้ในเดือนมกราคม ว่าการค้าโลกจะลดลงราว 2.8% ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจของโลกนั้นย่ำแย่ลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงเพียงใด
ตามรายงานในวันจันทร์ของดับเบิลยูทีโอนั้น มูลค่าการค้าของบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วจะร่วงลงถึง 10% ในปีนี้ ส่วนของพวกประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก การส่งออกจะลดลงในราว 2-3%
ทั้งนี้ การค้าระหว่างประเทศร่วงลงอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2008 ซึ่งทำให้อัตราการขยายตัวของปีที่แล้ว ลดเหลือเพียง 2% เทียบกับการพุ่งขึ้น 6% ของปี 2007
ตามปกติแล้วการค้าจะขยายตัวเร็วกว่าภาคการผลิต และเมื่อยามหดตัวก็จะลดอย่างรุนแรงกว่าภาคการผลิตด้วยเช่นกัน
ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอ ปาสกาล ลามีชี้ว่า ในปัจจุบันการผลิตสินค้าหลายชนิดนั้น มีการแบ่งแยกกันผลิตชิ้นส่วนตามที่ส่วนต่าง ๆของโลก ดังนั้นเมื่อความต้องการสินค้าลดลง ผลกระทบต่อผู้ผลิตจึงกว้างขวาง รุนแรงและรวดเร็วอย่างน่าตกใจ
"รัฐบาลจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก โดยการใช้มาตรการกีดกันการค้า ซึ่งแท้จริงแล้วมาตรการเหล่านี้ไม่ใช่การปกป้องใครทั้งสิ้น แต่ผลเสียก็คือจะทำให้สูญเสียตำแหน่งงานไปอีก" ลามีกล่าว
เขาชี้ว่าดับเบิลยูทีโอกำลังเฝ้าระวังการใช้มาตรการกีดกันการค้าของประเทศต่าง ๆ และภาพรวมที่พบเห็นก็คือ กำลังมีการใช้มาตรการเหล่านี้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะทำให้การค้าระหว่างประเทศชะงักงัน
นับตั้งแต่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวในครึ่งหลังของปีที่แล้ว ดับเบิลยูทีโอก็มองว่าการค้าจะไม่สามารถขยายตัวในอัตราปกติได้ต่อไป
ยิ่งกว่านั้นวิกฤตภาคการเงินการธนาคาร ยังทำให้เงินทุนที่ใช้ในการค้าขาดแคลน ทำให้ธุรกิจต่าง ๆไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ขณะที่ราคาหลักทรัพย์ต่าง ๆซึ่งร่วงลง ก็ทำให้ภาคครัวเรือนไม่อยากจะซื้อสินค้าคงทนต่าง ๆอย่างเช่น รถยนต์ นอกจากนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ดิ่งเหว ก็ทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องรัดเข็มขัดไปด้วย รายงานขององค์การการค้าโลกระบุ
ดับเบิลยูทีโอยังชี้ว่า แม้แต่จีนที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งก็ยังไม่อาจรอดพ้นจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกทรุดตัวได้ เพราะประเทศคู่ค้าที่สำคัญต่างพากับเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอตัวกันหมด
ในขณะที่ พวกประเทศค้าขายส่วนใหญ่ต่างรายงานว่ายอดส่งออกและนำเข้าตัวสินค้าได้อย่างมากในสองเดือนแรกของปีนี้ แต่ก็มีเศรษฐกิจทางเอเชียบางแห่ง อย่างเช่น จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม รายงานว่าการนำเข้ากลับเพิ่มขึ้น หลังจากทรุดต่ำเรื่อยมา
ดับเบิลยูทีโอเตือนว่าตัวเลขสำหรับระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนเช่นนี้ จะต้องตีความอย่างระมัดระวัง เพราะอาจจะหมายความถึงสัญญาณแห่งการชะลอตัวต่อไปอีก หรืออาจจะแปลว่าภาวะได้ตกต่ำถึงที่สุดและเตรียมจะฟื้นตัวแล้ว
นอกจากนี้ ดับเบิลยูทีโอก็เห็นว่าตัวเลขการส่งออกของประเทศต่าง ๆคงไม่ดิ่งลงในระดับตัวเลขสองหลักกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ยอดการส่งออกของจีนก็จะเหลือเท่ากับ 0% ภายในเวลาเพียง 10 เดือน
"นี่เห็นชัดเจนว่าเป็นสถานการณ์ที่เป็นไปได้ยากมาก อีกทั้งเป็นการตอกย้ำให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า การดิ่งฮวบลงของการส่งออกที่เราได้เห็นในช่วงก่อนหน้านี้ จะไม่ดำรงคงอยู่ไปอย่างยืดเยื้อ" รายงานกล่าว