เอเจนซี -ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่าระบบการเงินของประเทศยังคงมีความเสี่ยงนานัปการและยังคงต้องการการแทรกแซงจากรัฐเพื่อป้องกันเศรษฐกิจมิให้เข้าสู่ภาวะถดถอยดิ่งลึกยิ่งขึ้นอีก ทั้งนี้หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นการโหมโรงของโอบามา ก่อนที่คณะรัฐบาลของเขาจะประกาศแผนการฟื้นฟูภาคการเงินการธนาคาร
นอกจากนี้ ความพยายามของเขาที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะการกอบกู้ภาคการเงินการธนาคารที่กำลังอ่อนแอ ยังได้รับการจับตาทั่วโลก ในขณะที่เขากำลังเตรียมตัวที่จะเข้าหารือกับผู้นำของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาในการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 20 ในต้นเดือนเมษายนนี้
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของโอบามาในการปฏิรูปต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งการใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแผนการใหม่ของเขาที่จะสะสางสินทรัพย์ "เน่าเสีย" จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ออกไปจากระบบการเงินการธนาคารของประเทศ กำลังถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากสมาชิกของรัฐสภาบางรายรวมทั้งพวกผู้บริหารของภาคธุรกิจบางส่วน
รัฐมนตรีคลังทิโมธี ไกธ์เนอร์มีกำหนดนำเสนอรายละเอียดมาตรการกอบกู้ภาคการธนาคารช่วงเช้าวันจันทร์(23)ในตามเวลาของสหรัฐฯ ซึ่งโอบามาก็กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อให้สาธารณชนยอมรับแผนนี้ให้ได้
"ผมคิดว่าความเสี่ยงของระบบยังคงอยู่" โอบามากล่าวในการให้สัมภาษณ์ของรายการ ซิกตี้มินิตส์ ของเครือข่ายโทรทัศน์ซีบีเอส ซึ่งนำออกอากาศในวันอาทิตย์(22)
"มีสถาบันการเงินจำนวนหนึ่งที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งหากปล่อยให้ล้มลงก็จะดึงเอาสถาบันการเงินอีกมากให้ล้มตามไปด้วย และหากว่าสถาบันการเงินต่าง ๆล้มลงพร้อม ๆกัน คุณก็จะได้เห็นภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลงไปอีก และอาจจะถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำร้ายแรงก็เป็นได้" เขากล่าว
โอบามาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีพร้อมรับเอามรดกวิกฤตเศรษฐกิจมาจากอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งโอบาม่ายอมรับว่าไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะร่วงรุนแรงและรวดเร็วเช่นนี้ โดยเฉพาะอัตราคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงทุกเดือน แต่เขาก็บอกว่าได้เห็น "แววแห่งความหวัง" ที่จะฟื้นตัวบ้างแล้ว
อันที่จริง ทีมเศรษฐกิจของโอบามาเองได้แถลงแสดง "ความเชื่อมั่นเปี่ยมล้น" ด้วยซ้ำไป ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเริ่มฟื้นตัวภายในเวลาหนึ่งปี อย่างเช่น คริสตินา โรเมอร์ ประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทำเนียบขาวที่ไปออกรายการ "ฟ็อกซ์ นิวส์ ซันเดย์" รวมทั้งรายการ "เสตท ออฟ เดอะ ยูเนียน" ทางซีเอ็นเอ็นด้วย
สำหรับตัวรัฐมนตรีคลังไกธ์เนอร์ ตามแผนการที่รัฐบาลจัดเตรียมเอาไว้นั้น ขั้นแรกเขาจะประกาศรายละเอียดการกอบกู้ภาคการเงินการธนาคารของเขาในวันจันทร์(23) จากนั้นในวันพฤหัสบดี(26) เขาจะไปให้รายละเอียดการปฏิรูประบบกำกับดูแลภาคการเงิน ในการให้ปากคำต่อหน้าคณะกรรมาธิการของรัฐสภา
ประธานาธิบดีโอบามาเองก็วางแผนที่จะเผยรายละเอียดของมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในการแถลงข่าวในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของวันอังคาร(24)
หลังจากปัญหาเรื่องการให้โบนัสของสถาบันการเงินที่แบมือขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ โดยเฉพาะกรณีเอไอจี ได้ทำให้ชาวอเมริกันโกรธเกรี้ยว ก็ได้ทำให้คณะรัฐบาลโอบามาต้องวางแผนรับมือกับเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง ไม่ผลีผลามประกาศมาตรการกอบกู้ภาคการเงินออกมา
ขุนคลังไกธ์เนอร์นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ที่ไม่สามารถสะกัดกั้นการให้โบนัสของเอไอจีที่อาจมีมูลค่าสูงถึง 218 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่เอไอจีขาดทุนอย่างหนักและต้องแบมือขอรับเงินอัดฉีดจากรัฐบาลไปแล้วถึง 180,000 ล้านดอลลาร์
ในรายการซิกตี้มินิตส์ โอบามาได้ออกโรงปกป้องไกธ์เนอร์ โดยกล่าวว่าเขาจะไม่ยอมรับใบลาออกของรัฐมนตรีผู้นี้เป็นอันขาด
ไกธ์เนอร์เองก็ออกมาปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้เขาลาออกจากกรณีอื้อฉาวของเอไอจี
แต่นอกจากเขาจะโดนโจมตีเรื่องเอไอจีแล้ว ไกธ์เนอร์ยังตกเป็นเป้าการโจมตีของหลายฝ่ายว่า เขาชักช้าเหลือเกินในการประกาศแผนการกอบกู้ภาคการเงินการธนาคาร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
"เขาสูญเสียความน่าเชื่อถือไปมาก รวมทั้งความศรัทธาทางการเมืองด้วย แต่ก็ยังไม่สายเขาสามารถพลิกสถานการณ์ให้กลับมาดีอีกครั้งได้" นาริแมน เบห์ราเวช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์กล่าว "หากว่าเขามีรายละเอียดของการพลิกฟื้นที่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าไม่ก็คงต้องเริ่มนับถอยหลังได้แล้ว"
??