เอเจนซี - ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เมื่อวันพุธ (4) ออกหมายจับ นายโอมาร์ ฮัสซัน อัล-บาชีร์ ประธานาธิบดี ซูดาน ข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในดาร์ฟูร์ ในการตัดสินใจที่อาจก่อความยุ่งเหยิงให้กับภูมิภาค
ในหมายจับแรกในประวัติศาสตร์ต่อผู้นำประเทศที่อยู่ระหว่างสมัยดำรงตำแหน่ง ซึ่งออกโดยศาลกรุงเฮก ไม่รวมถึงข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในความขัดแย้งที่ทางสหประชาชาติ บอกว่า มีประชาชนถูกสังหารมากถึง 300,000 คน นับตั้งแต่ปี 2003
ศาลแห่งนี้ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2002 สั่งฟ้อง บาชีร์ วัย 65 ปี ในความผิดก่ออาชญากรรมสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชน 7 กระทง ซึ่งรวมไปถึงการฆาตรกรรม ข่มขืนและทรมาน แต่คณะลูกขุนบอกว่าทางศาลมีหลักฐานไม่พอเพียงสำหรับขัอหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
“เหยื่อของเขาคือพลเรือน ซึ่งในฐานะประธานาธิบดีเขาควรต้องปกป้องด้วยซ้ำ” หัวหน้าอัยการของไอซีซี หลุยส์ โมเรโน-โอคัมโบ บอกกับผู้สื่อข่าว พร้อมระบุว่ารัฐบาลซูดานจำเป็นต้องปฏิบัติตามหมายจับนี้ “มันอาจใช้เวลา 2 เดือนหรือ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดเขาจะต้องเผชิญกับกระบวนการยุติธรรม”
ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนออกมาร่วมตัวกันบริเวณใจกลางกรุงคาร์ทูม ประท้วงต่อต้านการออกหมายจับ ขณะที่ บาชีร์ ปฏิเสธความผิดและอ้างว่าข้อกล่าวหาของศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ คือส่วนหนึ่งของอุบายของชาติตะวันตก
“มันเป็นการตัดสินใจที่มีมลทิน” มาห์ยูบ ฟาดุล โฆษกประธานาธิบดีบอก “เราไม่ยอมรับมัน”
ขณะที่ ริชาร์ด ดิกเคอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศาลระหว่างประเทศของฮิวแมนไรท์วอตช์ บอกว่าหมายจับของไอซีซีมีข้อบกพร่อง “แน่นอนว่า ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศไม่มีกำลังตำรวจของตนเองที่จะออกไปและปฏิบัติตามคำสั่งศาล มันจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลซูดานว่าจะทำตามหมายจับนี้หรือไม่”
อย่างไรก็ตาม ทางสหรัฐฯ แสดงความยินดีต่อการออกหมายจับครั้งนี้ของศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ “สหรัฐฯ เชื่อว่าคนเหล่านั้ที่ก่อความชั่วร้ายควรถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” โรเบิร์ต วูด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุ
แต่ จีน สหภาพแอฟริกา และองค์การสันติบาติอาหรับ ชี้ว่า คำสั่งฟ้องนี้อาจก่อความไร้เสถียรภาพให้แก่ภูมิภาค ทำให้ความขัดแย้งในดาร์ฟูร์รุนแรงขึ้นและคุกคามต่อข้อตกลงสันติภาพระหว่างภาคเหนือของซูดานกับฝ่ายกึ่งปกครองตนเองทางใต้
บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องซูดาน ให้ความร่วมมือหลังมีหมายจับออกมาแล้ว “สหประชาชาติจะยังคงปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ดำเนินการด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนอันสำคัญยิ่ง รวมถึงกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ในซูดาน”
แม้ว่าเจ้าหน้าที่ยูเอ็นจะบอกว่ามีพลเรือนกว่า 300,000 คน ถูกสังหารในดาร์ฟูร์ นับตั้งแต่ปี 2003 แต่ รัฐบาลซูดานอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 10,000 คนเท่านั้น
หัวหน้าอัยการ กล่างถึงคำสั่งฟ้องเมื่อวันพุธ (4) ที่ไม่รวมถึงข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ว่า “หากมีหลักฐานเพิ่มเติมที่สามารถรวบรวมได้จากการสอบสวน” ทางอัยการอาจขอให้แก้ไขหมายจับนี้ก็เป็นได้