เอเจนซี่-สืบเนื่องจากเมื่อวันพุธ(4 มี.ค.) ศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้ออกหมายจับประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-เบซีร์แห่งซูดาน ข้อหาอาชญากรสงคราม วันรุ่งขึ้น โฆษกจีนแถลงเบรกการออกหมายจับดังกล่าว พร้อมเตือนว่าหมายจับจะสะเทือนกระบวนการสันติภาพที่มีความคืบหน้าบ้างแล้ว
“จีนขอแสดงความเสียใจ และวิตกกังวล ต่อการออกหมายจับประธานาธิบดีแห่งซูดานโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ และขอให้ศาลโลกระงับการออกหมายจับไว้ก่อนในเวลานี้” นาย ฉิน กัง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน แถลงในวันพฤหัสฯ(5 มี.ค.)
ทั้งนี้ การออกหมายจับประธานาธิบดีเบซีร์วัย 65 ปีในข้อหาอาชญากรสงครามครั้งนี้ นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ โดยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไอซีซี ออกหมายจับผู้นำรัฐที่ยังอยู่ในตำแหน่ง สำหรับความผิดของเขา ได้การก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมืองดาร์ฟูร์ โดยรัฐบาลเบซีร์ ซึ่งครอบงำโดยกลุ่มอาหรับนั้น ได้ส่งกองกำลังเข้าปราบกบฏชนกลุ่มน้อย ที่จับอาวุธขึ้นมาสู้กับรัฐบาล เพื่อขอส่วนแบ่งแหล่งทรัพยากรน้ำและพลังงานมากกว่าที่เป็นอยู่
จากรายงานของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุนับจากปี 2546 ที่ศึกดาร์ฟูร์ระเบิดขึ้นนั้น มีผู้คนล้มตายไปมากถึง 300,000 คนแล้ว
เมื่อนานาชาติกดดันหนักเข้า ทั้งสองฝ่ายก็ได้บรรลุสัญญาหยุดยิง แต่การปะทะเข่นฆ่าก็ยังดำเนินต่อไป
สำหรับจีนเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเบซีร์ เป็นลูกค้านำเข้าน้ำมันจากซูดาน และคอยป้อนความช่วยเหลือทางทหารให้ซูดานด้วย จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากตะวันตก ว่าจีนรักษาสัมพันธ์กับรัฐบาลซูดานเพราะผลประโยชน์ด้านทรัพยากร
ทั้งนี้ จีนยังเป็น 1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่ที่ครองเสียงวีโต้หรือเสียงคัดค้านในยูเอ็นในฐานะสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น โดยข้อตกลงปฏิบัติการใดๆของยูเอ็น ไม่อาจเดินหน้าได้หากมีเสียงวีโตจาก 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงนี้ แม้แต่เสียงเดียว
ในการแถลงครั้งนี้ โฆษกจีนยังได้โต้กลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ที่กล่าวหาว่าจีนไม่ได้ออกแรงเพียงพอในการยุติศึกดาร์ฟูร์ ว่าจีนได้ส่งกำลังกว่า 300 นาย สมทบกองกำลังรักษาสันติภาพในดาร์ฟูร์
“เราไม่อยากเห็นหมายจับ ทำลายความคืบหน้ากระบวนการสันติภาพในดาร์ฟูร์ ซึ่งจีนก็ได้ออกแรงช่วยอย่างมาก ดังนั้น จึงรู้สึกเสียใจต่อความเคลื่อนไหวของยูเอ็น” นายฉิน แถลง พร้อมเตือนว่า การออกหมายจับผู้เบซีร์ จะยิ่งสร้างความยุ่งยากในแดนสงครามแห่งแอฟริกานี้ นอกจากนี้ การออกหมายจับนี้ยังขัดต่อหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นจุดยืนที่จีนยึดถือมาหลายสิบปี
นาย ฉิน ไม่ยอมตอบคำถาม เมื่อโดนถามว่า “เบซีร์จะถูกจับกุมหรือไม่ หากหลบหนีมาอยู่ในดินแดนจีน?” บอกเพียงว่า “มันเป็นคำถามกรณีสมมุติ” นอกจากนี้ โฆษกจีนไม่เผยว่าจีนมีแผนอย่างใดต่อไปเกี่ยวกับหมายจับประธานาธิบดีซูดาน โดยบอกเพียงว่าจีนจะรักษามิตรภาพกับซูดาน
“หากจีนสนับสนุนหมายจับนี้ ก็นับเป็นการเสียฟอร์มอย่างสิ้นเชิง ทั้งจะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ และผิดปกติสำหรับกลุ่มการนำจีนที่ไม่ทำอะไรต่อกรณีนี้” นาย พอล แฮริส นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประจำมหาวิทยาลัยหลิ่งหนัน ในฮ่องกงชี้
ปฏิกิริยาต่อการออกหมายจับผู้นำซูดานของจีน ยังขัดแย้งกับผู้นำสหรัฐอเมริกา โดยนาง ฮิลลารี่ คลินตันรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ บอกว่า “การออกหมายจับของไอซีซี นั้น มีฐานจากการตรวจสอบเป็นเวลานานมาก และขณะนี้ ก็เป็นเวลาของศาลยุติธรรม เป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว”
ส่วนกลุ่มสันนิบาตอาหรับ ชี้ว่า “มันจะก่อความวุ่นวายมาก” พร้อมเรียกร้องให้เลื่อนกระบวนการออกหมายจับออกไป.