xs
xsm
sm
md
lg

โอบามายับยั้งไม่ให้เพิ่มทหารอย่างเต็มที่ในอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Obama nixed full surge in Afghanistan
By Gareth Porter
23/02/2009

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯอนุมัติให้เพิ่มกำลังทหารในอัฟกานิสถานเพียง 17,000 คน ไม่ใช่ 30,000 คนตามคำขอของพวกผู้บัญชาการทหารอเมริกัน โดยว่ากันว่าเป็นเพราะพวกเขาไร้ความสามารถที่จะแจกแจงว่าจะเอากำลังทหารเหล่านี้ไปใช้ทำอะไรบ้าง อย่างไรก็ดี อย่าคาดหมายว่าพวกแม่ทัพใหญ่เหล่านี้จะยอมแพ้อย่างง่ายๆ แรงกดดันอันหนักหน่วงยิ่งขึ้นอีกยังจะติดตามมา ภายหลังการประเมินทบทวนนโยบายต่ออัฟกานิสถาน-ปากีสถานเสร็จสิ้นในเดือนหน้า บรรยากาศเช่นนี้ช่างชวนให้รำลึกถึงสมัยสงครามเวียดนาม ตอนที่ประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน ก็เผชิญกับข้อเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้

วอชิงตัน – ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะอนุมัติเพิ่มทหารให้เพียง 17,000 คน จากจำนวน 30,000 คนที่ร้องขอโดย พล.อ.เดวิด แมคเคียร์แนน ผู้บัญชาการระดับสูงที่สุดของกองทหารสหรัฐฯและของกองทหารองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้)ในอัฟกานิสถาน และ พล.อ.เดวิด เพเทรอัส ผู้บัญชาการทหารเขตกลางของสหรัฐฯ ซึ่งพื้นที่รับผิดชอบของเขาครอบคลุมทั้งอิรักและอัฟกานิสถาน ทั้งนี้หลังจากที่แมคเคียร์แนนไม่สามารถที่จะแจกแจงให้ประธานาธิบดีฟังได้ว่า จะเอากำลังทหารเหล่านี้ไปใช้ทำอะไรบ้าง แหล่งข่าวทำเนียบขาวหลายๆ รายเปิดเผย

อย่างไรก็ดี โอบามายังน่าที่จะถูกกดดันทั้งจากแมคเคียร์แนนและจากพวกผู้บัญชาการในคณะเสนาธิการทหารผสม ให้อนุมัติเพิ่มทหารที่เหลืออีก 13,000 คนตามที่ได้ขอไว้ ทั้งนี้หลังจากการประเมินทบทวนนโยบายต่ออัฟกานิสถาน-ปากีสถานเสร็จสิ้นลงในเดือนหน้า

การตัดสินใจของโอบามาที่อนุมัติให้เพิ่มทหารในอัฟกานิสถานเพียงประมาณเกินครึ่งนิดหน่อยของที่ขอมาเช่นนี้ ชวนให้ระลึกถึงการตัดสินใจทำนองเดียวกันของประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน ซึ่งยินยอมเพิ่มทหารสหรัฐฯเพียงบางส่วนของที่ผู้บังคับบัญชาทหารภาคสนามร้องขอมา ในสงครามเวียดนามเมื่อเดือนเมษายน 1965 ขั้นตอนในจังหวะเวลาดังกล่าวของสงครามคราวนั้นสามารถที่จะเปรียบเทียบกับปัจจุบันได้เป็นอย่างดี จอห์นสันนั้นต้องยอมอนุมัติคำขอเพิ่มกำลังทหารแม้จะด้วยความลังเลใจ ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังถูกกดดันทั้งจากตัวผู้บัญชาการทหารในภาคสนาม และตัวประธานคณะเสนาธิการทหารผสม

คำขอเพิ่มทหารอีก 30,000 คน ซึ่งจะทำให้จำนวนทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานเพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่า 60,000 คนนั้น ได้รับอนุมัติมาก่อนแล้วทั้งในขั้นคณะเสนาธิการทหารผสม และในขั้นรัฐมนตรีกลาโหม รอเบิร์ต เกตส์ ก่อนหน้าที่โอบามาจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคมด้วยซ้ำ โดยที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ได้เสนอข่าวในหน้าหนึ่งของฉบับวันที่ 13 มกราคมว่า โอบามาเตรียมพร้อมที่จะ “ลงนามอนุมัติ” ในคำขอเพิ่มกำลังทหารนี้

วันที่ 30 มกราคม พล.ร.อ.ไมก์ มุลเลน ประธานคณะเสนาธิการทหารผสม แถลงว่า “น่าที่จะ”มีการส่งกำลังทหารระหว่าง 20,000-30,000 คนเพิ่มเข้าไปในอัฟกานิสถาน โดยตัวเลขที่แน่นอนชัดเจน “น่าจะเอนเอียงไปข้างตัวเลขที่สูงกว่าของตัวเลขทั้งสองนี้”

ทว่าเมื่อถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ มุลเลนก็แสดงท่าทีว่า ในเร็วๆ นี้เพนตากอนจะประกาศให้ทราบว่า จะมีการส่งกำลังทหารอีก 3 กองพลน้อย หรือเท่ากับประมาณ 16,000 คนไปประจำการในอัฟกานิสถานในระยะเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือในช่วงเวลา 9 วันที่คั่นระหว่างคำแถลงทั้งสองครั้งนี้ของมุลเลน เรื่องนี้แหล่งข่าวทำเนียบขาวรายหนึ่งเผยว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ก็คือในระหว่างเวลาดังกล่าว โอบามาได้โทรศัพท์คุยกับแมคเคียร์แนนโดยตรง และสอบถามว่าเขาวางแผนที่จะใช้ทหาร 30,000 คนอย่างไร แล้วปรากฏว่าไม่ได้รับคำตอบที่สมเหตุสมผลจากคำถามดังกล่าว

หลังจากการสนทนาครั้งนั้นแหละ โอบามาจึงได้ถอนการสนับสนุนให้เพิ่มกำลังทหารเต็มจำนวนตามที่ขอมา

นอกจากนั้น ยังมีรายงานด้วยว่า ก่อนหน้าเหตุการณ์การตอบสนองอย่างไม่น่าพึงพอใจจากแมคเคียร์แนน ก็ได้เกิดกรณีที่ฝ่ายทหารไม่สามารถตอบคำถามของโอบามาได้อีกกรณีหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว โดยระหว่างที่เขาประชุมหารือกับเกตส์และคณะเสนาธิการทหารผสม ณ เพนตากอนเมื่อวันที่ 28 มกราคมนั้น โอบามาถามพวกคณะเสนาธิการทหารผสมว่า การปิดเกมในอัฟกานิสถานนั้นจะออกมาในลักษณะไหน และได้รับคำตอบว่า “พูดกันอย่างตรงไปตรงมา เรายังไม่มีแผนเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย” ทั้งนี้ตามรายงานเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของ จิม มิกลาสซิวสกี้ ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงกลาโหมของ เอ็นบีซีนิวส์

โอบามายังน่าจะได้ทราบภายในเวลาไม่เกินต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่า คำรับรองด้วยความมั่นอกมั่นใจหลายต่อหลายครั้งจากเพเทรอัสก่อนหน้านั้น ในเรื่องการทำข้อตกลงกับคีร์กิซสถานเพื่อใช้ฐานทัพที่เมืองมานาสนั้น ผู้บัญชาการทหารเขตกลางของสหรัฐฯผู้นี้กลับกำลังพูดออกมาโดยเรื่องยังไม่ทันจะแน่นอน นอกจากนั้นอีกเรื่องหนึ่งที่โอบามาน่าจะได้เรียนรู้ในเวลาใกล้ๆ กัน ก็คือ ความสามารถของสหรัฐฯที่จะส่งกำลังบำรุงให้แก่กองทหารในอัฟกานิสถาน เป็นเรื่องที่ต้องพึ่งพาอาศัยความเอื้อเฟื้อในทางการเมืองจากรัสเซียและอิหร่าน

การที่คณะผู้นำทางทหารขอเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯในอัฟกานิสถานขึ้นอีกเท่าตัว โดยกระทั่งว่ายังไม่ได้มียุทธศาสตร์หรือแนวความคิดว่าสงครามครั้งนี้จะยุติลงอย่างไรด้วยซ้ำนั้น พื้นฐานแห่งเหตุผลในวิธีคิดของพวกเขาก็คือ เป็นการ “ซื้อเวลา” ในขณะที่กำลังใช้ความพยายามเพื่อสร้างกองกำลังรักษาความมั่นคงปลอดภัยของชาวอัฟกันเองขึ้นมา ทั้งนี้จากการคำพูดบ่งบอกของมุลเลน ในการแถลงเมื่อวันที่ 30 มกราคม

ในอีกด้านหนึ่ง ตัวเลขกำลังทหาร 17,000 คนนี้ ก็คือขีดจำกัดขั้นสูงในคำมั่นสัญญาที่โอบามาให้ไว้ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง ว่าจะเพิ่มเข้าไปในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของ ลอว์เรนซ์ คอร์บ แห่งศูนย์กลางเพื่อความก้าวหน้าของอเมริกัน (Center for American Progress) ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งของโอบามา

คอร์บบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) ว่า แทนที่จะรอให้ได้ความชัดเจนเกี่ยวกับคำถามทางยุทธศาสตร์สำคัญๆ เสียก่อน จึงค่อยพิจารณาเรื่องจะส่งทหารเพิ่มเข้าไปในอัฟกานิสถานอีกหรือไม่ โอบามากลับตัดสินใจประกาศเรื่องเพิ่มทหารกันตั้งแต่ตอนนี้ โดยที่สำคัญแล้วเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า เขาต้องแสดงให้ผู้คนทั้งอัฟกานิสถานและปากีสถานเห็นว่าสหรัฐฯไม่ได้กำลังถอยออกไปจากอัฟกานิสถาน ในเรื่องนี้คอร์บอธิบายว่า มีคนจำนวนมากทีเดียวในทั้งสองประเทศนี้ ที่คิดหาทางเลือกอื่นๆ เผื่อเอาไว้ด้วย ไม่ใช่เอาแต่ทุ่มแทงพนันข้างใดข้างหนึ่ง

ระหว่างการแถลงข่าวในวันพุธ(18) แมคเคียร์แนนพูดเตือนให้พวกผู้สื่อข่าวระลึกไว้ว่า ทหาร 17,000 คนยังเป็นเพียงประมาณสองในสามของจำนวนทหารที่เขาร้องขอ ท่าทีการร้องเรียนกลายๆ เช่นนี้บ่งชี้ว่า เขาไม่ได้รับหลักประกันใดๆ ว่าจะได้รับอนุมัติกำลังทหารส่วนที่ยังขาดอยู่นี้ แม้ภายหลังเสร็จสิ้นการทบทวนด้านนโยบายแล้ว

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลได้อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่คณะรัฐบาลผู้หนึ่งเมื่อวันพุธ(18) โดยที่บุคคลผู้นี้บอกว่า การอนุมัติเรื่องเพิ่มทหารครั้งนี้มีความมุ่งหมายที่จะตอบสนอง “ความจำเป็นทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางภาคพื้นดินในระยะใกล้อันเร่งด่วน” ทว่า “ไม่ได้มีการตัดสินล่วงหน้าหรือมีการจำกัดทางเลือกต่างๆ ซึ่งการทบทวนด้านนโยบาย [เรื่องอัฟกานิสถาน]อาจเสนอแนะออกมาเมื่อทำกันเสร็จสิ้นแล้ว”

โอบามาอาจจะรู้สึกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องการถลำเข้าไปติดหล่มสงครามที่ไม่สามารถชนะได้ในอัฟกานิสถาน ถึงแม้เขาได้เคยให้คำมั่นสัญญาอย่างแข็งขันในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ว่าจะเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในประเทศนั้น

ซบิกนิว เบรซซินสกี อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ผู้ซึ่งมีรายงานว่าโอบามาไปพึ่งพาขอคำแนะนำในเรื่องนโยบายการต่างประเทศนั้น ได้บอกกับ แซม สไตน์ แห่ง ฮัฟฟิงตันโพสต์ เมื่อวันพุธ(18)ว่า “เราจะต้องตัดสินกันให้ชัดเจนแม่นยำกว่านี้ ว่าวัตถุประสงค์ในการเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันของเราคืออะไร เพราะเรากำลังเพิ่มความเสี่ยงยิ่งขึ้นทุกทีที่จะเจอปัญหายุ่งยากทั้งในอัฟกานิสถานและในปากีสถาน จากการมุ่งดำเนินการตามวัตถุประสงค์ต่างๆซึ่งเรายังคงขาดพลังอำนาจที่จะบรรลุได้”

เบรซินสกีบอกด้วยว่า คณะรัฐบาลโอบามาจำเป็นต้องมี “วัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง และแคบๆ เป็นอย่างยิ่ง”

ทางด้านคอร์บกล่าวกับไอพีเอสว่า การประเมินทบทวนนโยบายที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น จะพิจารณาทั้งประเด็นด้านนโยบายทางการเมือง-การทูต และนโยบายทางการทหาร รวมถึงการศึกษาถึงทางเลือกที่เสนอให้หาทางรวมเอาพวกผู้ก่อความไม่สงบอย่างน้อยก็บางกลุ่ม เข้ามาร่วมรัฐบาลอัฟกานิสถาน ทั้งนี้โดยผ่านการเจรจากัน เขาพูดทบทวนความจำด้วยว่า ประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ของอัฟกานิสถาน ก็เป็นผู้ที่เสนอมา 2 ปีแล้ว ในเรื่องให้ดำเนินการเจรจากับตอลิบาน

ทั้งเรื่องการตัดสินใจของโอบามาที่ยินยอมให้เพิ่มกำลังทหารเพียงแค่กว่าครึ่งนิดหน่อยจากที่ผู้บัญชาการทหารในภาคสนามขอมา และเรื่องสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ในมุมกว้าง ล้วนแต่มีความคล้ายคลึงอย่างน่าตระหนกกับการตัดสินใจของประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน ในเดือนเมษายน 1965 ที่อนุมัติให้เพิ่มทหาร 36,000 คนจากจำนวน 49,000 คนที่ขอกันมา เพื่อไปทำศึกในเวียดนาม

การตัดสินใจของจอห์นสันในตอนนั้น ก็ละม้ายกับการตัดสินใจของโอบามาในตอนนี้ นั่นคือต้องกระทำในท่ามกลางสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่เสื่อมทรามลงอย่างรวดเร็ว มีความกังวลกันว่าอาจจะต้องพ่ายแพ้สงครามในเร็ววัน ถ้าหากไม่มีการส่งทหารสหรัฐฯเข้าไป รวมทั้งมีการอภิปรายถกเถียงที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ในเรื่องที่ว่าจะใช้กองทหารเหล่านี้อย่างไรในเวียดนามใต้ ที่ปรึกษาของจอห์นสันบางคนยังคงชมชอบยุทธศาสตร์ที่มุ่งพิทักษ์คุ้มครองศูนย์รวมประชากรสำคัญๆ ขณะที่ผู้บัญชาการทหารในภาคสนาม คือ พล.อ.วิลเลียม เวสต์มอร์แลนด์ กำลังเรียกร้องให้ใช้ยุทธศาสตร์ที่แข็งกร้าวมากขึ้น นั่นคือ การมุ่งค้นหาและทำลายกองกำลังฝ่ายศัตรู

ความคล้ายคลึงอีกอย่างหนึ่งระหว่างสองสถานการณ์ของสองประธานาธิบดี ก็คือ มีความกังวลในระดับสูงว่า การที่มีทหารสหรัฐฯมากเกินไปจะกลายเป็นการกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านอเมริกัน เรื่องนี้เป็นความกังวลใหญ่ที่สุดของที่ปรึกษาจอห์นสันหลายๆ คน การส่งกำลังทหาร 3 กองพลเข้าไปในเวียดนามใต้จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง

ในทำนองเดียวกัน เกตส์ก็พูดไว้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมปีที่แล้วว่า เขาจะต้อง “มีความห่วงใยเป็นอย่างมาก” เกี่ยวกับการส่งกำลังทหารเข้าไปมากกว่าจำนวน 30,000 คนที่แมคเคียร์แนนขอมา เนื่องจาก “เมื่อไปถึงระดับบางระดับแล้ว เราก็จะมีรอยเท้าที่ใหญ่โตมหึมามาก เราก็จะเริ่มแลดูเหมือนกับเป็นผู้ยึดครอง” เกตส์กล่าวย้ำประเด็นนี้อีกระหว่างไปให้ปากคำต่อรัฐสภาในวันที่ 27 มกราคม โดยเขาเน้นอีกครั้งถึงความล้มเหลวของสหภาพโซเวียต แม้มีกำลังพลถึง 120,000 คน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง แมคเคียร์แนนพูดไว้เมื่อวันพุธ(18)ว่า “มักมีความโน้มเอียงอยู่เสมอที่จะเชื่อมโยงสิ่งที่เรากำลังทำอยู่กับสิ่งที่ชาติอื่นๆ เคยทำมาในอดีต” เขาบอก “ผมคิดว่านั่นเป็นการเปรียบเทียบที่แย่เอามากๆ”

จอห์นสันนั้นรู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับการถลำเข้าไปในคำมั่นสัญญาอันไม่รู้จุดสิ้นสุดที่จะทำสงครามซึ่งไม่อาจเอาชนะได้ ทว่าอีกสองเดือนต่อมาเขาก็ยอมแพ้ และทำตามคำขอของ พล.อ.วิลเลียม เวสต์มอร์แลนด์ ผู้บัญชาการทหารในเวียดนาม ที่เรียกร้อง “กำลังเสริมอย่างเร่งด่วน” ต่อจากนั้นการไต่บันไดสงครามเพิ่มกำลังทหารมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ดำเนินต่อไปอีก 2 ปี

โอบามาเวลานี้กำลังเผชิญสถานการณ์ที่ว่า คณะเสนาธิการทหารผสมจะกลับให้การสนับสนุนอีกครั้งต่อคำขอของแมคเคียร์แนนสำหรับทหารอีก 13,000 คนที่เหลือในเดือนหน้า และถ้ากำลัง 30,000 คนเต็มๆ ที่เพิ่มให้นี้ยังปรากฏว่าไม่เพียงพอแล้ว โอบามาก็น่าจะเผชิญกับคำขอครั้งต่อๆ ไป ด้วยเหตุผลว่า จำเป็นต้องได้รับ “กำลังเสริมอย่างเร่งด่วน”

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น