xs
xsm
sm
md
lg

ประธานเฟดชี้แบงก์ใหญ่อยู่รอดได้โดยรัฐไม่ต้องเข้าไปยึด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เบน เบอร์นานคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ
เอเจนซี- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เบน เบอร์นันกี กล่าวเตือนในวันอังคาร(24)ว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว "อย่างสาหัส" ของสหรัฐฯ แม้น่าจะสิ้นสุดลงในปีนี้ แต่ก็อาจจะลากยาวต่อไปจนถึงปีหน้า อย่างไรก็ตาม เขาบอกด้วยว่าบรรดาธนาคารในสหรัฐฯ น่าจะสามารถทนมรสุมเศรษฐกิจได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องโอนเข้ามาเป็นของชาติ ปรากฏว่าคำพูดเกี่ยวกับเรื่องแบงก์ของเขา ทำให้ตลาดหลักทรัพย์โล่งใจและราคาหุ้นกระเตื้องพุ่งขึ้น

"ผมไม่เห็นเหตุผลใดที่จะทำลายมูลค่าความนิยมในแบรนด์ในผลิตภัณฑ์ (franchise value)ของธนาคาร หรือพยายามสร้างให้เกิดความไม่แน่นอนทางด้านกฏหมายขึ้นมา จากความพยายามที่จะโอนกิจการธนาคารให้มาเป็นของรัฐอย่างเป็นทางการ ในเมื่อมันยังไม่ได้มีความจำเป็นเลย" เบอร์นันกีแถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐฯ

"สิ่งที่เราทำได้คือต้องสร้างความมั่นใจว่าพวกเขามีเงินทุนอย่างเพียงพอที่จะทำตามหน้าที่ของพวกเขา และในเวลาเดียวกัน เราก็จะต้องมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสมเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขากำลังกระทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้กลับมามีสุขภาพแข็งแรง และสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว" เบอร์นันกีกล่าว

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งร่วงลงต่ำสุดในรอบ 12 ปีเมื่อวันจันทร์(23) กลับกระโจนพรวดขึ้นในวันอังคาร(24) เนื่องจากคำพูดของเบอร์นันกีคราวนี้ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลว่า หุ้นธนาคารต่างๆ ที่บรรดานักลงทุนถือไว้จะต้องหมดค่า จากแนวทางที่รัฐบาลจะฟื้นฟูภาคการธนาคารด้วยการโอนเข้ามาเป็นของรัฐ โดยดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดวันอังคาร บวกขึ้นมา 3.32% ส่วนดัชนีสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ 500 พุ่งขึ้นถึง 4.01%

"แผนดำเนินการของคณะรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากเบอร์นันกี ดูเหมือนจะเป็นแผนการที่รอบคอบ และตลาดก็เริ่มมองเห็นว่ามีบางสิ่งที่น่าจะก่อให้เกิดผลดีได้" เกร๊ก พาล์มเมอร์ หัวหน้าฝ่ายซื้อขายหลักทรัพย์ของแปซิฟิค เครสต์ ในเมืองพอร์ตแลนด์ มลรัฐออริกอนให้ความเห็น

แม้กระนั้น เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯโดยรวม เบอร์นันกีก็ยังคงประเมินไว้ค่อนข้างมืดมน โดยเน้นว่าหากความพยายามในการรักษาเสถียรภาพของธนาคารล้มเหลว ระบบเศรษฐกิจที่กำลังหดตัวอย่างรุนแรง ก็อาจจะเข้าสู่วัฏจักรของการเติบโตที่เชื่องช้าพร้อมๆ กับมีความตึงเครียดทางการเงิน

"เพื่อตัดตอนมิให้เกิดวัฏจักรด้านกลับเช่นนั้น สิ่งสำคัญที่คือเราต้องเดินหน้าจัดสรรมาตรการกระตุ้นทางการคลัง ด้วยการปฏิบัติการอย่างแข็งขันของรัฐบาลเพื่อรักษาเสถียรภาพของสถาบันทางการเงินและตลาดการเงิน" เบอร์นันกีกล่าว

"หากการปฏิบัติการทั้งของรัฐบาล รัฐสภา และธนาคารกลางประสบความสำเร็จในการกอบกู้ดัชนีสำคัญบางตัวของความมีเสถียรภาพทางการเงิน และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็เห็นว่ามีเหตุผลพอที่จะเชื่อได้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้จะสิ้นสุดในปี 2009 และในปี 2010 จะเข้าสู่ปีแห่งการฟื้นฟู" เขากล่าวต่อ

ตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯที่อยู่ในสภาพฟองสบู่แตก ได้ส่งผลให้ธนาคารทั่วโลกประสบภาวะขาดทุนกันทั่วหน้า นำไปสู่การตัดลดการอนุมัติเงินกู้ของธนาคารทั้งหลาย, เศรษฐกิจโดยรวมอ่อนแอลง ดังนั้นตอนนี้รัฐบาลหลายประเทศพยายามหามาตรการดีที่สุด ที่จะกอบกู้ระบบการเงินเพื่อทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งและเติบโตต่อไปได้

ในสหรัฐฯ บรรดาผู้กำหนดนโยบายกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงที่สองของโครงการกอบกู้ภาคการเงินการธนาคารมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยแผนการที่จะเข้าลงทุนในธนาคารที่ต้องการเงินทุน โดยที่แบงก์เหล่านั้นต้องตอบแทนทางการ ด้วยการมอบหุ้นบุริมสิทธิ์ที่สามารถจะแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้เมื่อเวลาผ่านไป
เบอร์นันกีระบุชัดเจนว่ารัฐบาลนั้นมีภาระจะต้องรับประกันความอยู่รอดของสถาบันการเงินหลักทั้งหลาย

เมื่อวันพุธ หน่วยงานกำกับดูแลได้เริ่มเข้าไปทำการ "ตรวจสอบความเครียด" (stress tests) ในธนาคารใหญ่ที่สุด 19 แห่ง เบอร์นันกีกล่าวว่าเป้าหมายของการตรวจสอบก็คือดูว่าธนาคารเหล่านั้นยังสามารถให้กู้ได้ต่อไปหรือไม่ในภาวะที่เศรษฐกิจเกิดจะตกต่ำต่อไป

เขาแสดงความมั่นใจว่าทางการผู้รับผิดชอบกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องในการใช้เวลาตรวจสอบสุขภาพของธนาคารหลักทุกแห่งเพื่อให้แน่ใจ

"ธนาคารใหญ่ๆ ของเราต่างมีมูลค่าความนิยมในแบรนด์ในผลิตภัณฑ์" เบอร์นันกีกล่าว "แม้ว่าจะไม่มีสัญญาประชาคมใด ๆว่าเราจะไม่ปิดธนาคารใหญ่ ๆเหล่านี้ แต่ผมก็เชื่อว่าพวกเขาสามารถยืนอยู่อย่างมีเสถียรภาพได้"

ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯยังได้เตือนอีกว่าเศรษฐกิจโลกที่กำลังตกต่ำ จะทำให้การส่งออกของสหรัฐฯย่ำแย่ตามไปด้วย และส่งผลสะเทือนต่อสภาวการณ์ทางการเงินในอนาคตมากกว่าที่ได้คาดกันไว้

การดิ่งลงของการส่งออกของสหรัฐฯจะทำให้ผู้บริโภคภายในประเทศยิ่งไม่ยอมใช้จ่ายมากขึ้นไปอีก และจะตามมาด้วยเศรษฐกิจที่ยิ่งอ่อนแอมากกว่าเดิม

เบอร์นันกีกล่าวว่าเฟดซึ่งลดอัตราดอกเบี้ยจนเกือบใกล้ศูนย์แล้ว จะต้องทำให้ต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำมากต่อไปอีกสักพัก และเรียกร้องให้รัฐบาลใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทุกชนิดกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาตลาดการเงิน
กำลังโหลดความคิดเห็น