xs
xsm
sm
md
lg

"เฟด"ถอดใจมองศก.สหรัฐฯปีนี้ไม่พ้นติดลบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เบน เบอร์นันกี ประธานเฟด
เอเจนซี - บรรดาผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ส่วนใหญ่ทำท่าถอดใจหมดหวังที่เศรษฐกิจอเมริกันจะกลับมาเติบโตได้โดยไม่ติดลบในปี 2009 นี้เสียแล้ว นอกจากนั้นยังได้มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับในเรื่องควรที่จะกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อหรือไม่ ในระหว่างการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนที่แล้ว สืบเนื่องจากเศรษฐกิจที่ยิ่งถดถอยหนัก ก่อให้เกิดความวิตกว่ารดับราคาจะดิ่งลงอย่างรุนแรงกระทั่งอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

ในรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายเมื่อวันที่ 27-28 มกราคม ซึ่งเพิ่งนำออกมาเผยแพร่วันพุธ(18) เฟดบอกว่าจากการที่สหรัฐฯเผชิญปัญหาเศรษฐกิจหนักหน่วงขึ้นทุกที อาทิ อัตราการจ้างงานติดลบลงเรื่อย ๆ, ตลาดที่อยู่อาศัยยังไร้เสถียรภาพ และสินเชื่อยังขาดแคลนแม้ว่าเฟดจะพยายามลดอัตราดอกเบี้ยลงไปใกล้ 0%แล้วก็ตาม เหล่านี้ส่งผลให้เฟดต้องปรับเปลี่ยนประมาณการเศรษฐกิจใหม่ โดยคาดว่าปีนี้จะหดตัวระหว่าง 0.5 - 1.3%

ก่อนหน้านี้คือเมื่อเดือนตุลาคม เฟดคาดไว้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของสหรัฐฯปีนี้ จะมีอัตราเติบโตอยู่ในระหว่าง เพิ่มขึ้นได้ 0.2% จนถึงติดลบ 1.1%

วิธีคาดการณ์ของเฟดนั้นจะนำเอาตัวเลขที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดรวม 16 คนมาหักเอาผู้ที่ให้ตัวเลขสูงสุดและต่ำสุดออกไป จากผลการคาดการณ์ครั้งล่าสุดนี้ชี้ให้เห็นว่า ยังมี 2 ใน 16 เจ้าหน้าที่เฟดดังกล่าว ที่มองว่าในปี 2009 เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจยังอาจจะเติบโตเป็นบวกอยู่

ทางด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯมีปฏิกิริยาต่อการปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้น้อยมาก นักเศรษฐศาสตร์บางรายชี้ว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะการปรับลดประมาณการของเฟดนั้นยังไม่เลวร้ายเท่ากับภาคเอกชนทำนายเอาไว้ด้วยซ้ำ

รายงานการประชุมคราวนี้ยังชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจที่หดตัวได้กดให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลงไปอย่างน่ากลัวในสายตาของเฟด แต่เฟดก็ยังมิได้ตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่พึ่งปรารถนาไว้อย่างชัดเจน แม้ว่ากรรมการนโยบายการเงินบางรายจะเห็นว่าเป้าหมายเงินเฟ้อนี้เป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการบรรลุถึงเสถียรภาพด้านราคา

อย่างไรก็ดี ในการประชุมครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เฟดได้นำเสนอสัญญาณบางประการเพื่อบอกให้รู้ว่าเฟดมีความคาดหมายต่อสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างไรในระยะเวลานานกว่าสามปี หลังจากที่เคยจำกัดการพยากรณ์อยู่เฉพาะภายในช่วงสามปีเรื่อยมา

รายงานการประชุมบอกว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติไปจนตลอดปี 2010 และอาจจะเลยไปถึงปี 2011 เสียด้วยซ้ำ

ขณะที่อัตราคาดการณ์ในระยะยาวกว่านั้น กำหนดให้เงินเฟ้ออยู่ในระหว่าง 1.7-2.0% ซึ่งมากกว่าอัตราเฉลี่ยของปี 2009 ที่เฟดคาดว่าจะอยู่ที่ 0.3-1.0% ทั้งนี้อัตราการคาดการณ์ในระยะยาวมากขึ้นของเงินเฟ้อ คือเครื่องบ่งชี้ว่าทางการปรารถนาจะให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับไหนนั่นเอง

ระหว่างที่ เบน เบอร์นันกี ประธานเฟด ไปกล่าวสุนทรพจน์สโมสรผู้สื่อข่าวแห่งชาติที่กรุงวอชิงตันวันพุธ เขาก็ได้อธิบายว่า อัตราคาดการณ์ในระยะยาวมากขึ้นของเงินเฟ้อ (the longer-term projections of inflation ) อาจตีความได้ว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินเห็นเป็นอัตราที่สอดคล้องที่สุดกับภารกิจ 2 อย่างที่รัฐสภาที่กำหนดให้แก่คณะกรรมการฯ นั่นก็คือเป็นอัตราเงินเฟ้อที่จะกระตุ้นการจ้างงานอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็สร้างเสถียรภาพด้านราคาอันเหมาะสม

เบอร์นันกีกล่าวอีกว่าอัตราคาดการณ์ในระยะยาวมากขึ้นของเงินเฟ้อ จะช่วยเป็นหางเสือให้แก่ความคาดหวังของสาธารณะชนเกี่ยวกับแนวโน้มของเงินเฟ้อ ซึ่งจะช่วยป้องกันการกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อหรือเงินฝืดในเชิงจิตวิทยาได้

ภาวะเงินฝืดซึ่งก็คือช่วงที่ราคาสินค้าลดลงเรื่อย ๆ นับเป็นช่วงที่อันตรายต่อเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะว่าจะทำให้ธุรกิจและบรรดาผู้บริโภคไม่ยอมที่จะซื้อสินค้าใด ๆ จากความหวังที่ว่าราคาน่าจะลดลงไปอีก และทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ

เมื่อเบอร์นันกีเข้ารับตำแหน่งประธานของเฟด เขาก็พยายามเรียกร้องให้มีการตั้งเป้าหมายสำหรับเงินเฟ้อเป็นตัวเลขที่ชัดเจนออกมา อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่บางรายยังคงวิตกว่าการตั้งเป้าหมายเช่นนี้อาจจะทำให้ความยืดหยุ่นของธนาคารกลางลดลง

การที่ผู้กำหนดนโยบายแสดงความกังวลว่าราคาที่ลดลงเรื่อย ๆจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืด และทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวยาวนานขึ้น แต่ขณะเดียวกันการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อให้ชัดเจนเสียเลย ก็ยังเป็นสิ่งที่มีเสียงคัดค้านมาก ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์บางรายจึงคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่า เฟดคงจะใช้วิธีประนีประนอม ด้วยการออกอัตราคาดการณ์ในระยะยาวมากขึ้นของเงินเฟ้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น