ซีเอ็นเอ็น/เอเจนซี/เอเอฟพี - เจเนอรัลด์ มอเตอร์(จีเอ็ม) พยายามขอความช่วยเหลือทางการเงิน 6 พันล้านดอลลาร์ จากรัฐบาล 5 ชาติ ในจำนวนนั้นรวมไปถึงไทย เพิ่มเติมจากเงินกู้ที่ได้รับจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในแผนปฏิรูปโครงสร้างของบริษัทเพื่อความอยู่รอด
ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯบอกว่าพวกเขากำลังเจรจากับทางการของเยอรมนี สหราชอาณาจักร สวีเดน แคนาดา และไทย ประกันความช่วยเหลือในวันที่ 31 มีนาคม ตามเส้นตายจากรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับคงและขยายความช่วยเหลือ เพื่อปกป้องบริษัทแห่งนี้ให้รอดพ้นจากภาวะล้มละลาย
จีเอ็ม จัดเตรียมรายละเอียดแผนความอยู่รอดต่างๆในสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายกู้ยืมเงินอีก 1.2 พันล้านดอลลาร์เพื่อปกป้องปฏิบัติการในยุโรป ขณะเดียวกันก็บอกว่าแผนขยายโรงงานในเอเชียจะไม่สามารถเดินหน้าได้หากปราศจากการสนับสนุนจากรัฐบาลชาติอื่นๆ
เจเนอรัลด์ มอเตอร์ ได้ระงับแผนขยายโรงงาน 2 แห่งในไทย "อย่างไม่มีกำหนด" และบอกว่าอาจต้องยกเลิกแผนขยายงานในอินเดียหากไม่มีทุนส่วนตัว
บริษัทแห่งนี้บอกว่ามีแผนลดคนงาน 47,000 ตำแหน่งและในจำนวนนั้นมีถึง 26,000 ตำแหน่งที่เป็นพนักงานนอกสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังได้เตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่ต้องปิดโรงงานหรือแยกธุรกิจ ณ โรงงานในยุโรป "ในที่ตั้งซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง"
สื่อมวลชนรายงานชวนให้คิดว่าจีเอ็มอาจปิดโรงงาน 4 ใน 9 แห่งในยุโรป พร้อมกันนั้นทางบริษัทแห่งนี้ยังคาดการณ์ยอดจำหน่ายอุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กของโลกจะลดลงเหลือ 57.5 ล้านคันในปีนี้ จาก 67.2 ล้านคันในปี 2008 ก่อนฟื้นตัวเป็น 62.3 ล้านคัน และ 68.7 ล้านคันในปี 2010 และ 2011 ตามลำดับ
จีเอ็ม มีเป้าหมายหาแหล่งกู้ยืมที่ไม่ใช่รัฐบาลสหรัฐฯ 6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2010 แม้แผนดังกล่าวไม่สามารถรับประกันได้ว่าเงินทุนจะมีออกมาในไม่ช้านี้
อย่างไรก็ดี ในกรณีประเทศไทยนั้น ทางรัฐบาลได้แสดงท่าทีตั้งแต่ต้นเดือนนี้แล้วว่า จะไม่ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทลูกของจีเอ็มในประเทศไทย โดยที่มีรายงานว่า กิจการลูกของจีเอ็มในไทยนั้น หาทางขอเงินช่วยเหลือเป็นมูลค่า 15,000 ล้านบาท (429 ล้านดอลลาร์) ในโครงการผลิตรถกระบะ
ตอนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทยแถลงข่าวระหว่างการเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 วันเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นั้น เมื่อถูกสอบถามเรื่องนี้ เขาก็ตอบว่า "ผมเข้าใจซาบซึ้งเป็นอย่างดีถึงความยากลำบากที่อุตสาหกรรมนี้กำลังต้องก้าวผ่าน แต่แผนการของเราในขณะนี้ ไม่ได้มีการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่บริษัทเป็นรายๆ "
โฆษกรัฐบาลไทยยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ในวันพุธ(18)
เช่นกันเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อวันพุธ(18) ยืนยันท่าทีของรัฐบาลในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ที่ปฏิเสธคำร้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากจีเอ็ม แดวูออโต แอนด์ เทคโนโลโนยี บริษัทในเครือของเจเนรัลด์มอเตอร์สคอร์ปในเกาหลีใต้
สำหรับบริษัทแม่ของจีเอ็มที่อเมริกา ตลอดจนบริษัทไครสเลอร์ เมื่อวันอังคารต่างก็ได้ยืนยันในบันทึกรายงานความสามารถที่จะปรับตัวตลอดจนแผนการปรับโครงสร้าง ซึ่งจัดส่งไปให้กระทรวงการคลัง ว่าพวกตนมีความสามารถจ่ายคืนเงินช่วยเหลือของรัฐบาลได้
การยื่นรายงานเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดขึ้น เมื่อตอนอนุมัติแผนช่วยเหลือก้อนแรกไปในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
ทางด้านท่าทีของรัฐบาลอเมริกันนั้น รอเบิร์ต กิบส์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงในวันเดียวกัน โดยมุ่งมองภาพในองค์รวมว่า เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า บริษัทรถยนต์เหล่านี้จะอยู่รอดได้ จำเป็นที่จะต้องมีหลายๆ ฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่เจ้าหนี้, ซัปพลายเออร์, ดีลเลอร์, พนักงาน และผู้บริหารบริษัททั้งหมด
ในรายงานที่ส่งถึงกระทรวงการคลัง จีเอ็มได้พูดถึงแผนการปรับตัวของบริษัทว่า จะลดจำนวนพนักงานทั่วโลกลง 47,000 ตำแหน่ง, ปิดโรงงาน, ยกเลิกแบรนด์ที่ไม่ค่อยทำเงิน, ลดกำลังการผลิต, รวมทั้งปรับเปลี่ยนข้อเสนอผลิตภัณฑ์เสียใหม่ เพื่อให้บริษัทกลับมาแข็งแกร่งและทำกำไรได้อีกภายในเวลา 24 เดือน
"นี่เป็นสิ่งที่เราต้องทำหากว่าต้องการอยู่รอดในวิกฤตปัจจุบัน รวมทั้งทำให้จีเอ็มกลับมาประสบความสำเร็จอย่างยืนยงอีกครั้ง" ริค แวกอนเนอร์ ประธานจีเอ็มและซีอีโอ กล่าว
จีเอ็มบอกด้วยว่าอาจต้องการเงินอีก 16,600 ล้านดอลลาร์ในรูปของเงินกู้จากรัฐบาลภายในปี 2011 เพิ่มเติมจาก 13,400 ล้านดอลลาร์ที่ได้มาแล้ว
จีเอ็มขู่ด้วยว่าหากไม่ทำอะไร มูลค่าความเสียหายจะสูงกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้ล้มละลาย จีเอ็มก็คาดว่าเม็ดเงินที่ใช้ในการปรับโครงสร้างจะสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ และคนงานจะต้องตกงานราว 3 ล้านคน
ในขณะเดียวกัน ทางด้านไครสเลอร์ ก็แจ้งว่าจะต้องขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯเพิ่มอีก 5,000 ล้านดอลลาร์
"เราเชื่อว่าเงินกู้ที่จะนำมาเป็นเม็ดเงินดำเนินการซึ่งเราร้องขอไปนี้ เป็นทางเลือกที่ใช้เงินน้อยที่สุดแล้ว และจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯรวมทั้งก่อให้เกิดผลในททางบวกแก่ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันทั้งหลาย" ประธานของไครสเลอร์ บ๊อบ นาร์เดลลีกล่าว
"การปรับโครงสร้างอย่างเป็นระเบียบโดยไม่เข้าสู่ภาวะล้มละลาย เมื่อรวมกับแผนการที่จะทำให้บริษัทอยู่รอด และการเป็นพันธมิตรแน่นแฟ้นกับเฟียตก็ทำให้มันเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด" เขาชี้
ไครสเลอร์มีแผนจะยกเลิกโมเดลรถ 3 แบบ, ลดกำลังการผลิตลง 100,000 คันต่อปี, ลอยแพคนงาน 3,000 คน, และลดต้นทุนประจำลงไป 700 ล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านี้ "บิ๊กทรี" หรือบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่สามแห่งในดีทรอยท์ ซึ่งมีจีเอ็ม, ไครสเลอร์และฟอร์ด ต่างก็สามารถตกลงเบื้องต้นได้กับสหภาพแรงงานบริษัทรถยนต์ (ยูเอดับเบิลยู) ให้ช่วยลดต้นทุนด้านค่าแรง ซึ่งทางสหภาพบอกว่าตามข้อตกลง บริษัทสามารถปรับสัญญาว่าจ้างให้เปลี่ยนไปจากของเมื่อปี 2007 อันจะช่วยให้บริษัทสามารถฝ่าฟันสถานการณ์ยากลำบากไปได้
ทางด้านกระทรวงการคลังแจ้งว่าจะพิจารณาแผนการที่บริษัทรถยนต์ทั้งสองส่งมา และตัดสินใจภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ว่าจะให้เงินกู้ต่อไป หรือจะเรียกคืน ซึ่งนั่นจะทำให้บริษัทล้มละลาย แต่รัฐบาลก็จะเข้ามาดูแลเพื่อให้มีการถ่ายโอนสินทรัพย์และปรับโครงสร้างได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
สำหรับอีก 1 "บิ๊กทรี" ที่เหลือ คือ ฟอร์ด ยังคงยืนยันว่ามีเม็ดเงินสำรองเพียงพอต่อการดำเนินงานโดยไม่ต้องพึ่งเงินกู้ แม้ว่าจะขาดทุนไปถึง 5,900 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสสี่ของปีที่แล้ว
นักวิเคราะห์ทำนายว่ายอดขายรถยนต์ในปีนี้จะอยู่ที่ 10 - 11 ล้านคัน ซึ่งเป็นยอดขายที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งสองเป็นต้นมา