xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นเหตุดาวเทียมรัสเซีย-สหรัฐฯชนกันกระทบสถานีอวกาศนานาชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานีอวกาศนานาชาติ
เอเจนซี - เจ้าหน้าที่อวกาศในรัสเซียและสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดี(12) พบชิ้นส่วนลอยอยู่ในอวกาศหลายร้อย หลังดาวเทียมสื่อสารของเอกชนสหรัฐฯ ได้ชนปะทะกับดาวเทียมด้านการทหารของรัสเซียที่หมดอายุใช้งานแล้ว ที่บริเวณขั้วโลกเหนือของรัสเซีย ที่ได้ก่อความกังวลด้านความปลอดภัยของสถานีอวกาศนานาชาติ

การพุ่งชนกันครั้งนี้เกิดขึ้นที่ระดับความสูงราว 780 ก.ม. จากพื้นโลก เมื่อวันอังคาร(10) เวลา 17.00 น.จีเอ็มที (ตรงกับเมืองไทย 00.00 น.เช้าวันพุธ) เหนือบริเวณตอนเหนือของไซบีเรีย นับเป็นอุบัติเหตุลักษณะนี้ครั้งแรกที่เกิดขึ้น

เหตุชนกันครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในเส้นทางโคจรดาวเทียวและยานอวกาศที่ใช้กันอย่างหนาแน่น และหน่วยบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ หน่วยงานดูแลด้านอวกาศของเพนตากอนระบุว่าหลายประเทศควรยักย้ายยานอวกาศของพวกเขาเพื่อหลีกเลี่ยงชิ้นส่วนต่างๆ

"เหตุชนกันของดาวเทียว 2 ดวง เกิดขึ้นโดยบังเอิญและมันได้ถูกทำลาย" พลตรีอเล็กซานเดอร์ ยากูชิน รองผู้บัญชาการกองทัพอากาศรัสเซีย บอกกับรอยเตอร์ "ชิ้นส่วนที่แตกออกมามีทีท่าไม่เป็นอันตรายต่อยานอวกาศอื่นๆของรัสเซีย" แต่เมื่อถูกถามว่าซากที่แตกออกมาจะเป็นอันตรายต่ออากาศยานของชาติอื่นๆหรือไม่ เขาตอบว่า "สำหรับของต่างชาติ มันไม่ใช่ที่ผมจะพูดและมันอยู่นอกเหนืออำนาจผม"

ดาวเทียมที่พุ่งเข้าชนกันครั้งนี้คือดาวเทียมดวงหนึ่งของบริษัทอิริเดียม แซทเทิลไลต์ ของสหรัฐฯ กับดาวเทียมสื่อสารคอสมอส 2251ของรัสเซีย ที่ระดับความสูง 780 กิโลเมตรเหนือขั้วโลกเหนือของรัสเซีย

ในความสูงระดับดังกล่าวถูกใช้สำหรับดาวเทียวตรวจตราสภาพอากาศ อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการสื่อสารและสังเกตุการณ์ทางวิทยาศาสตร์

"มันเป็นเส้นทางโคจรที่สำคัญมากสำหรับดาวเทียมหลายดวง" พันอากาศเอก เลส คอดลิค จากหน่วยบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯบอก ""เราเชื่อว่านี่เป็นครั้งแรกที่ดาวเทียมสองดวงพุ่งชนกันในวงโคจร" พร้อมระบุด้วยว่าเศษชิ้นส่วนของดาวเทียมที่ปะทะกันนี้ จะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศต่างๆ ที่มีการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ

ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางอวกาศ ซึ่งอยู่ในสังกัดของกองบัญชาการทหารทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯตรวจพบชิ้นส่วนในอวกาศที่เกิดจากมนุษย์เพิ่มขึ้นอีก 500-600 ชิ้น จากที่เคยสำรวจพบแต่เดิมราว 18,,000 ชิ้น โดยบางชิ้นมีขนาดเล็กเพียง 4 นิ้วเท่านั้น

ด้านกองทหารอวกาศรัสเซียบอกว่าพวกเขาตรวจพบชิ้นส่วนในอวกาศกระจายอยู่ ณ ระดับความสูง 500 กิโลเมตรถึง 1,300 กิโลเมตร เหนือโลก

ลำดับต่อไปคือการเฝ้าระวังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งโคจรอยู่ระดับความสูง 350 กิโลเมตร ต่ำกว่าจุดที่ดาวเทียมชนกัน โดยสถานีอวกาศนานาชาติแห่งนี้มีมนุษย์อวกาศประจำการอยู่ 3 คน เป็นชาวรัสเซีย 1 คนและสหรัฐฯ 2 คน

เส้นทางโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติสามารถควบคุมระยะไกลจากโลก ทว่าแม้แต่ชิ้นส่วนเล็กๆก็สามารถสร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่สถานีอวกาศระหว่างที่มันเดินทางด้วยความเร็ว 8 กิโลเมตรต่อวินาที

การพุ่งชนกันครั้งนี้ย้ำให้เห็นถึงความกังวลต่อเส้นทางโคจรอันแออัดรอบโลกในช่วงทศวรรษนี้ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์กล่าวว่าโอกาสที่ดาวเทียมจะชนกันเช่นนี้อยู่ในระดับต่ำมากและองค์กรอวกาศชาติต่างๆได้พัฒนาแนวทางใหม่สำหรับทำลายดาวเทียมที่เสื่อมสภาพ

สำหรับบริษัทอิริเดียม เจ้าของดาวเทียมสื่อสารดวงหนึ่งที่เกิดการชนปะทะ เป็นกิจการซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเบเทสดา รัฐแมรีแลนด์ โดยเป็นผู้ประกอบธุรกิจดาวเทียมเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้บริษัทมีดาวเทียมสื่อสารที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายถึง 66 ดวง และมีดาวเทียมสำรองที่ส่งขึ้นสู่วงโคจรแล้วอีกจำนวนหนึ่งด้วย คอยให้บริการด้านข้อมูลและเสียง สำหรับพื้นที่บนโลกซึ่งไม่สะดวกในการใช้เครือข่ายการสื่อสารภาคพื้นดิน

ลิซ เดอคาสโตร โฆษกหญิงของอิริเดียมระบุว่า การดำเนินการของเครือข่ายดาวเทียมของบริษัทยังคงเป็นไปตามปกติ แต่ลูกค้าบางรายอาจมีปัญหาขัดข้องเล็กน้อย จนกว่าจะมีการซ่อมแซมชั่วคราวในวันศุกร์(13)นี้ ต่อจากนั้นทางอิริเดียมจะทำการเคลื่อนย้ายดาวเทียมสำรองในวงโคจรของตน เข้าไปทดแทนดาวเทียมที่เสียหายไปจากอุบัติเหตุดังกล่าว ภายในเวลาหนึ่งเดือน

"เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ความล้มเหลวของอิริเดียม และไม่ใช่ปัญหาเรื่องเทคโนโลยี" เดอคาสโตรระบุในคำแถลง

โจนาธาน แมคโดเวลล์ นักดาราศาสตร์ประจำศูนย์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียนเพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์ อีกทั้งเป็นนักประวัติศาสตร์ด้านโครงการอวกาศ บอกว่าดาวเทียมของอิริเดียมมีรูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมมีปีก น้ำหนักราว 600 กิโลกรัม ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปเมื่อเดือนกันยายน 1997 โดยอาศัยจรวดนำดาวเทียมของรัสเซีย

ส่วนดาวเทียมของรัสเซียนั้นมีชื่อว่า "คอสมอส 2251" รูปร่างทรงกระบอกเหมือนกับถัง มีน้ำหนักราว 800-850 กิโลกรัม ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนมิถุนายน 1993 และคาดว่าได้หยุดใช้งานไปแล้วเมื่อราว 5-10 ปีก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น