xs
xsm
sm
md
lg

“ครุกแมน” ชี้ วิกฤต ศก.US “เกินควบคุม” แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พอล ครุกแมน
เอเอฟพี - พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลคนล่าสุด ออกมาบอกเมื่อวันพุธ (11) ว่า ตอนนี้วิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ “อยู่นอกเหนือการควบคุม” ไปแล้ว และการที่รัฐบาลจะใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลนั้น ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพยิ่ง

ระหว่างไปพูดที่การประชุมสัมมนาในกรุงวอชิงตัน ครุกแมน กล่าวว่า ภาวะตกต่ำครั้งนี้ในบางแง่มุมยังไม่ร้ายแรงเท่าวิกฤตในปี 1982 แต่ “มันเป็นวิกฤตกันคนละรูปแบบ”

“วิกฤตในขณะนี้ร้ายแรงจนเกินกว่าจะควบคุมได้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่ยังจะมัวไปคิดว่ามีกลไกอันใดที่จะทำให้ประสบผลในการฟื้นตัว” เขากล่าว

“สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุด ไม่ได้อยู่เพียงเรื่องที่เราจะเผชิญหน้ากับการตกต่ำที่รุนแรงมากๆ แต่อยู่ที่เราจะไม่สามารถขึ้นมาได้”

เขาบอกด้วยว่า มีสัญญาณแห่งภาวะเงินฝืด ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายและการลงทุนหดหายไปมากกว่านี้ และนำไปสู่ภาวะที่เศรษฐกิจ “เหมือนตกอยู่ในทรายดูด”

ครุกแมน ยังกล่าวว่า สหรัฐฯควรจะต้องเคลื่อนออกจากแนวคิดของอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ที่ว่า รัฐบาลควรมีขนาดเล็กที่สุด และควรจะออกระเบียบควบคุมสังคมให้น้อยที่สุด

“เป็นเวลา 30 ปีมาแล้ว ที่ประเทศนี้ถูกครอบงำด้วยแนวคิดทางการเมืองที่ว่ารัฐบาลไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา หากแต่รัฐบาลนั่นแหละเป็นตัวปัญหาเสียเอง”

รวมทั้งมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่องให้ลดภาษี ทำให้รายได้ของรัฐต่ำลง และก็มีการเปิดแนวรบต่อต้านการจับจ่ายใช้สอยของรัฐบาลด้วย

ครุกแมน กล่าวว่า ในช่วงแห่งวิกฤตนี้ รัฐบาลเป็นองค์กรเพียงหนึ่งเดียวที่จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการบริโภค และดึงให้เศรษฐกิจไม่ตกต่ำลงไปกว่านี้ได้

เขาเห็นว่า การใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการลดภาษี ซึ่งพวกรีพับลิกันและพวกอนุรักษนิยมทั้งหลายสนับสนุน

“ไม่ว่าจะมองในแง่มุมทางเศรษฐกิจใดๆ ก็จะเห็นว่า บทบาทของรัฐบาลในการกระตุ้นความต้องการบริโภค ควรจะมาจากการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐ มากกว่าการลดภาษีให้ประชาชน”

“เพราะเราจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการลงทุนของรัฐในโครงสร้างพื้นฐาน มากกว่าจากการลดภาษี...บางทีการใช้จ่ายของรัฐอาจจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายต่อเนื่องได้มากกว่าการลดภาษีได้ถึงสองเท่า หรืออาจจะสามเท่าเสียด้วยซ้ำ”

ครุกแมน บอกด้วยว่า เขาเชื่อว่า แผนฟื้นฟูภาคการเงินการธนาคารที่รัฐมนตรีคลังประกาศออกมาเมื่อวันอังคาร (10) จะนำไปสู่การล้มครืนของธนาคารขนาดใหญ่บางแห่ง หลังจากรัฐบาลเข้าไปสำรวจตรวจตราอย่างถ้วนถี่ เพื่อเป็นพื้นฐานในการให้ความช่วยเหลือครั้งต่อๆ ไป

“เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่สินทรัพย์เน่าเสียที่ธนาคารถืออยู่” เขากล่าว “แต่ปัญหานั้นอยู่ที่สถาบันการเงินขาดทุนเป็นจำนวนมหาศาล จนทำให้ธนาคารขนาดใหญ่ต่างๆ อยู่ในสถานะหากไม่หมดตัวก็ใกล้เคียงแล้ว”

ครุกแมน บอกว่า การเข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มงวดของรัฐบาลดังที่ไกธ์เนอร์ประกาศออกมา อาจทำให้ได้รู้ว่าธนาคารราว 5-7 แห่ง อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถดำเนินงานใด ๆได้แล้ว และอาจจะต้องเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกับที่รัฐบาลให้ดูแลธนาคารเล็กๆ ที่ล้มลงไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น