xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจมาเลเซียถูกทิ้งให้เคว้งคว้าง

เผยแพร่:   โดย: อานิล เน็ตโต

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Malaysian economy left to drift
Anil Netto
03/02/2009

การต่อสู้เพื่อกุมอำนาจบริหารในรัฐเประของมาเลเซีย และความพยายามของรองนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ในอันที่จะเร่งเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ตัวเอง ก่อนที่จะมีการถ่ายโอนอำนาจในระดับรัฐบาลกลาง อาจจะกลับกลายเป็นการหักเหความใส่ใจออกจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ย่ำแย่หนัก

ปีนัง – เประอันเป็นรัฐใหญ่อันดับสองของคาบสมุทรมาเลเซีย ได้รับฉายาจากประชาชนในประเทศว่า ดารุล ริดซวน หรือ ดินแดนแห่งความงามสง่า กระนั้นก็ตาม ปัจจุบันนี้ แทบจะไม่มีความงามสง่าใดๆ ปรากฏให้เห็นในการเมืองของรัฐแห่งนี้ ในเมื่อมันได้กลายเป็นสมรภูมิการเมืองล่าสุดของประเทศไปเสียแล้ว

แนวร่วมพันธมิตรประชาชน (People's Alliance หรือ PA) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในระดับประเทศ แต่เป็นฝ่ายที่ได้ปกครองรัฐเประด้วยการชนะเลือกตั้งแบบเฉือนกันบางเฉียบนั้น พยายามหลบหลีกไม่ไปต่อกรกับคู่แข่งคือ แนวร่วมแห่งชาติ (เขียนเป็นภาษามาเลย์ว่า Barisan Nasional หรือ BN) ซึ่งเป็นรัฐบาลในระดับชาติ และกำลังสู้หนักเพื่อดึงอำนาจปกครองรัฐนี้กลับคืนให้สำเร็จ ในการนี้ บีเอ็นมีเดิมพันสูงมากเพราะนาจิบ ราซัก ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ต้องเร่งเพิ่มความน่าเชื่อถือของตน เพื่อเตรียมรับสืบทอดอำนาจจากนายกฯ อับดุลเลาะห์ บาดาวี ในเดือนหน้า

ในช่วงประมาณครึ่งปีมานี้ บีเอ็นแพ้เลือกตั้งซ่อมสมาชิกรัฐสภาถึงสองครั้ง ซึ่งส่งผลเป็นการเสียขวัญกำลังใจอย่างแรงเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ภายหลังจากต้องประสบความถดถอยอย่างสำคัญในคราวเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ความพ่ายแพ้ในสองครั้งดังกล่าวคือ เมื่อเดือนสิงหาคม และเดือนมกราคมที่เพิ่งผ่านมา นาจิบเป็นหัวหอกรณรงค์การเลือกตั้งด้วยตนเองทั้งสิ้น ทั้งนี้ เประเป็นหนึ่งในห้ารัฐที่ตกอยู่ในมือของพีเอในคราวเลือกตั้งทั่วไปปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติเประ ซึ่งพีเอกุมได้มากกว่าบีเอ็นเพียงนิดเดียว สถานการณ์ย่อมสามารถพลิกแบบกลับตาลปัตรได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่เพียงว่า ฝ่ายบีเอ็นจะประสบความสำเร็จในการดูดสมาชิกนิติบัญญัติให้แปรพักตร์มาอยู่กับตนได้เมื่อใด

เดิมพันการเมืองนั้นสูงนัก ขณะเดียวกันนาจิบก็จำเป็นต้องแสดงแสนยานุภาพให้ประจักษ์แก่พรรคพวกในพรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรคแกนนำของรัฐบาลผสมระดับชาติในปัจจุบัน และมีกำหนดการที่จะไปพบปะกันในวาระการประชุมสมัชชาใหญ่ หลังจากตกอยู่ในภาวะระส่ำขวัญเสียมาตั้งแต่ที่เสียหายมากมายในการเลือกตั้งต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เดิมพันที่ประเทศมาเลเซียแบกรับอยู่เวลานี้กลับใหญ่โตกว่า ในเมื่อการต่อสู้ทางการเมืองอาจหักเหความใส่ใจออกจากปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่หนัก และเห็นได้ชัดจากสถิติของทางการแล้วว่าใกล้จะหมดโมเมนตัมที่จะวิ่งขึ้นหน้าต่อไป

แพ็กเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 7,000 ล้านริงกิต (1,900 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 68,000 ล้านบาท) ที่เทียบเท่ากับ 1% ของจีดีพีประเทศโดยประมาณ ซึ่งประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มาถึงบัดนี้ก็ยังไม่สามารถสร้างผลกระทบที่จะไปกระตุ้นการเติบโตได้เป็นเรื่องเป็นราว ในการนี้ รัฐบาลตั้งประมาณการไว้ว่าจะกันวงเงิน 5,000 ล้านริงกิตของแพ็กเก็จนี้ให้แก่บรรดาโครงการขนาดเล็กที่เกี่ยวกับการก่อสร้างและพัฒนา เช่น ที่อยู่อาศัย ถนน โรงเรียน สะพาน และโรงพยาบาล ตลอดจนการปรับปรุงอาคารสถานที่ของทางการทหารและตำรวจ

แผนใช้จ่ายเหล่านั้นถูกมองโดยทั่วกันว่าออกจะน้อยเกินไป-ช้าเกินไป นักวิเคราะห์ได้ชี้ถึงรูรั่วที่ปรากฏในรูปแบบของการส่งเงินตราออกนอกประเทศโดยบรรดาแรงงานต่างชาติในภาคก่อสร้าง ซึ่งมักที่จะส่งเงินกลับบ้านมากกว่าจะนำมาใช้จ่ายให้ได้หมุนเวียนและกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในมาเลเซีย ฝ่ายที่สนับสนุนพันธมิตรฝ่ายค้านเชื่อว่าด้วยความที่โครงการต่างๆ ของรัฐบาลไม่สู้จะได้รับการตอบรับนัก อานิสงส์จากโครงการย่อมขาดโอกาสที่จะไปสร้างผลเชิงทวีคูณทางเศรษฐกิจที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของประเทศได้

ในไม่ช้า รัฐบาลคงจะประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระลอก 2 ซึ่งชวนให้วิตกว่า แพ็กเก็จกระตุ้นผ่านการใช้จ่ายภาครัฐดังกล่าวจะผลักดันให้การติดลบทางการคลังของมาเลเซียพุ่งสูงลิ่วในปีนี้ โดยน่าจะไปถึงระดับติดลบ 5.5%ของจีดีพี จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.8% เรียบร้อยแล้ว ในเวลาเดียวกัน สัญญาณอันตรายก็ระรัวดังขึ้นทั่วทั้งภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ที่ผ่านมาข่าวร้ายเกี่ยวกับภาคการผลิตหลั่งไหลทบทวีตัวขึ้นอย่างมากมาย โดยไปมากพิเศษในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในภาคการผลิต

อินเทล ยักษ์ไฮเทคของสหรัฐฯ ปิดโรงงานไปแล้ว 5 แห่งทั่วโลก โดยที่ 2 แห่งนั้นคือโรงงานในปีนัง ซึ่งเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซีย การตัดสินใจดังกล่าวของอินเทลได้รับการคาดหมายจากนักวิเคราะห์ว่าจะส่งผลเป็นการเลิกจ้างพนักงานราว 5-6 พันตำแหน่งทั่วโลก แม้ทางบริษัทระบุไว้ในคำแถลงว่า ไม่ใช่พนักงานทุกรายจะถูกเลิกจ้าง โดยจะมีบางส่วนที่จะได้งานในส่วนงานอื่นๆ ของอินเทล ทั้งนี้ อินเทลยังมีโรงงานอยู่ในมาเลเซียอีก 4 แห่ง ดังนั้น แม้คนมาเลย์จะตกงานไม่มากจากกรณีปิดโรงงาน 2 แห่ง แต่ผู้คนก็ไม่วายจะผวาว่าจะมีการปิดโรงงานอื่นๆ ตามกันมาหรือไม่

ในเดือนพฤศจิกายน ภาคส่งออกของมาเลเซียแผ่วไปราว 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันในปี 2007 โดยเป็นผลจากความต้องการที่หดหายไปจากตลาดโลกและสืบเนื่องจากระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคดิ่งตกต่ำลงไป ในการนี้ ส่วนใหญ่ของภาคส่งออกของมาเลเซียประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คือคิดเป็นสัดส่วนได้สูงถึง 40% ตามด้วยน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม 11% น้ำมันปาล์มกับผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม 10% เมื่อแจกแจงตัวเลขละเอียดลงไปพบว่าการหดตัวในภาคส่งออกของมาเลเซียไปหนักอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งออกลดลง 16%

แม้โดยภาพรวมแล้วมาเลเซียยังมีการเกินดุลการค้าขยายตัวประมาณ 10.6% กระนั้นก็ตาม ดัชนีหลายตัวได้ส่งสัญญาณเตือนถึงความลำบากเดือดร้อนที่รออยู่ในภายภาคหน้า ภาคส่งออกโดยรวมมีการหดตัว 9% ในเดือนพฤศจิกายน โดยที่ส่วนใหญ่ที่หดหายไปนั้นสืบเนื่องกับการหดตัวในการนำเข้าสินค้าขั้นกลาง ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 72% ของการนำเข้าทั้งหมด ปรากฏการณ์นี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการหดตัวในดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม

จำนวนการจ้างงานที่เกี่ยวข้องอยู่กับภาคการผลิตก็ลดต่ำลง 5% ในเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า ระดับการว่างงานที่ประกาศเป็นทางการนั้นอยู่ที่ระดับ 3.1% ในไตรมาส 3 ปี 2008 แต่มันมีความเป็นไปได้สูงว่าตัวเลขจะเขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ ในปี 2009 เนื่องจากอาจมีจำนวนบริษัทผู้ผลิตเพื่อการส่งออกตัดสินใจลดการจ้างงานมากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดใหญ่ๆ ของสินค้าจากมาเลเซียล้วนแต่สาหัสอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ สหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น ดัชนีวัดความมั่นใจของภาคธุรกิจและของผู้บริโภค ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งมาเลเซีย ต่างชี้ให้เห็นความรู้สึกในทางลบ

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจบางรายทำนายว่า การเติบโตของจีดีพีมาเลเซียจะแผ่วลงสู่ระดับแค่ 1% ในปีนี้ ในเวลาเดียวกัน นักวิเคราะห์รายอื่นๆ กลับเชื่อว่าประมาณการดังกล่าวเป็นการมองโลกแง่ดีมากเกินไปอย่างยิ่ง พร้อมกับฟันธงเลยว่ามาเลเซียกำลังมุ่งสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ด้านแบงก์เนการา หรือแบงก์ชาติมาเลย์ ยังพอจะมีพื้นที่ให้ดำเนินการลดคลายความรุนแรงของปัญหาอยู่บ้างด้วยการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนและการหั่นลดดอกเบี้ย เมื่อไม่นานมานี้ แบงก์เนการาเพิ่งหั่นดอกเบี้ยนโยบายประเภทดอกเบี้ยข้ามคืนที่เป็นตัวอ้างอิงสำหรับระบบการเงินลงฮวบ 0.75% สู่ระดับ 2.5% กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์ติงไว้ว่าในยามที่ความเชื่อมั่นอยู่ในกระแสขาลง การดำเนินการดังกล่าวคงไม่สามารถส่งผลไปโหมความรู้สึกอยากจับจ่ายใช้สอยในหมู่ผู้บริโภคได้อย่างเป็นมรรคเป็นผล

ฝ่ายต่างๆ ล้วนแต่หวังว่าแพ็กเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา จะสามารถสกัดการร่วงไหลลงต่ำของระบบเศรษฐกิจได้ แต่ด้วยรูรั่วที่น่าจะมีอยู่จริง ความพยายามดังกล่าวยังไม่สามารถรับประกันอะไรได้มากมายนัก พร้อมกับเป็นเรื่องที่ต้องรอลุ้นรอดูกันอีกพักใหญ่ว่าแพ็กเก็จที่สองนี้ จะออกแบบมาได้ดีกว่าแพ็กเก็จแรกในอันที่จะกระตุ้นลงไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าได้เพียงใด

น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า พวกผู้นำทางการเมืองของแนวร่วมบีเอ็นที่เป็นฝ่ายรัฐบาลกลาง ดูเหมือนจะถูกงำอยู่แต่ด้วยเรื่องของการแก้ปัญหาฐานสนับสนุนอ่อนตัวให้เรียบร้อยในช่วงก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ของอัมโนและการเลือกตั้งภายในของพรรค ที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม มากกว่าจะมาทุ่มเทกับปัญหาเศรษฐกิจที่เท้งเต้งอยู่ในทิศทางขาลง

ภาพที่จะให้ทวีรายละเอียดแก่ปัญหาอันซับซ้อนขณะนี้คือ ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปชี้ว่า นายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ บาดาวี ยังคงได้รับกระแสนิยมมากกว่า นาจิบ ผู้เป็นรองฯ และว่าที่ผู้สืบทอดอำนาจ ทั้งๆ ที่อับดุลเลาะห์ถูกกล่าวโทษจากฝ่ายต่างๆ ภายในอัมโน ว่าเป็นตัวการต่อความถดถอยของฝ่ายรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ ในเมื่ออันวาร์ อิบราฮิม และแนวร่วมพีเอ ซุ่มกำลังพร้อมอยู่นี้ ทำใจรอได้เลยว่าแผนร้ายทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจถูกลอยแพจะยิ่งเข้มข้นในหลายๆ เดือนข้างหน้านี้

อานิล เน็ตโต เป็นนักเขียนซึ่งพำนักอยู่ที่ปีนัง
กำลังโหลดความคิดเห็น