xs
xsm
sm
md
lg

ความหวาดผวาติดตามดาวเทียมอิหร่านขึ้นสู่วงโคจร

เผยแพร่:   โดย: วาลิด ฟาเรส

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Fears orbit with Iranian satellite launch
By Walid Phares
06/02/2009

ไม่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านจรวด ก็สามารถบ่งบอกถึงเจตนารมณ์เบื้องลึกของเตหะราน ในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เทคโนโลยีเช่นนี้ไม่เพียงสามารถใช้รบกวนสัญญาณวิทยุ, สัญญาณดาวเทียม, และการสื่อสารด้วยอีเมล์เท่านั้น หากยังสามารถใช้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของบรรดาทรัพย์สินทางทหารและทรัพย์สินทางเศรษฐกิจอีกด้วย

การปล่อยดาวเทียมอิหร่านดวงหนึ่งขึ้นสู่วงโคจร โดยบอกกันว่าเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในทาง “เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร” และ “การเฝ้าติดตามแผ่นดินไหว” คงจะถูกรายงานโดยถือเป็นข่าวธรรมดาชิ้นหนึ่ง ซึ่งควรจะได้รับเนื้อที่ความสำคัญไม่เกินไปกว่าข่าวเรื่องอินเดียส่งยานอวกาศไปยังดวงจันทร์เมื่อเดือนที่แล้ว

ทว่าพวกสำนักข่าวต่างๆ ทั่วโลกกลับแจ้งให้เราทราบว่า บรรดากระทรวงทบวงกรมและหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของประเทศฝ่ายตะวันตก ให้ความสนใจติดตามความเป็นไปของเรื่องนี้กันอย่างเคร่งเครียดจริงจังยิ่ง ทั้งสำนักข่าวเอพีและบีบีซีต่างเรียกปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ว่า เป็น “ความกระวนกระวาย” ถึงแม้การอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับคุณค่าของเทคโนโลยีด้านอวกาศของอิหร่าน ตลอดจนสมรรถนะด้านจรวดเชิงพาณิชย์ของประเทศนั้น มักลงเอยด้วยการระบุว่าเตหะรานยังห่างไกลจากระดับที่พึงได้รับความเคารพนับถือ และนักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจำนวนมากทีเดียวก็เพิกเฉยกับประเด็นเรื่องนี้ โดยมองว่าเป็นเพียงเรื่องราวความพยายามที่จะแปรประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมของสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้เท่านั้น ทว่าอันที่จริงแล้วนี่คือเรื่องราวความพยายามของการแปรดาวเทียมให้เป็นอาวุธต่างหาก

ดาวเทียมซึ่งได้รับการขนานนามว่า “โอมิด” อันเป็นคำภาษาเปอร์เซียที่แปลว่า “ความหวัง” ดวงนี้ ทางสื่อมวลชนแห่งรัฐของอิหร่านวาดภาพให้เห็นว่า มันเป็นอุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลสำหรับใช้ในการวิจัยและการสื่อสาร และถูกส่งขึ้นไปอยู่ในวงโคจรรอบโลกระดับต่ำๆ วันส่งดาวเทียมดวงนี้ ตรงกับวาระครบรอบ 30 ปีแห่งการปฏิวัติอิสลามอิหร่าน และการส่งดาวเทียมคราวนี้ ก็มีประธานาธิบดีมาหมุด อาหมัดดิเนจัด คอยทำหน้าที่อำนวยการ

อิหร่านได้เคยส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่วงโครจรตั้งแต่เมื่อปี 2005 โดยอาศัยไปกับจรวดรัสเซีย ทว่าการส่งดาวเทียมโอมิดคราวนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เตหะรานสามารถส่งขึ้นไปกับจรวดที่ทำโดยอิหร่าน และก็ปล่อยขึ้นไปจากดินแดนของอิหร่านเอง ตามรายงานของสำนักข่าวฟารส์ จรวดที่ส่งดาวเทียมคราวนี้ เป็นการนำเอาจรวด ซาฟีร์ 2 ซึ่งเป็นขีปนาวุธพิสัยไกล มาดัดแปลงใช้งาน อีกทั้งอิหร่านสามารถสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้สำเร็จ แม้จะถูกเล่นงานจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอันเข้มงวดของสหประชาชาติ

เห็นชัดเจนว่า การส่งดาวเทียมดวงเดียวเช่นนี้ ยังไม่ถึงกับเป็นการทะลุทะลวงข้ามเส้นเข้าสู่ปริมณฑลใหม่ ทว่ามันก็เป็นก้าวแรก แล้วยังมีการแถลงบอกกล่าวถึงก้าวต่อๆ ไปที่จะตามติดมาอีกด้วย สิ่งที่ดูประหนึ่งเป็นความเห็นพ้องระดับฉันทามติไปแล้วในเวลานี้ ก็คือ เจตนารมณ์ทางยุทธศาสตร์ของห้องวอร์รูมของเตหะราน ซึ่งปัจจุบันตกอยู่ในการดูแลอย่างเต็มที่ของ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (ปาสรารัน) โครงการอวกาศนี้ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการจัดเตรียมกำลังพลทางยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค ด้วยเหตุนี้จึงสมควรที่จะวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จากมุมมองยุทธศาสตร์เช่นนี้

สำนักข่าวเอพีเปิดเผยต่อโลกเมื่อวันอังคาร(3)ว่า “ตามรายงานของเตหะรานระบุว่า อิหร่านประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมที่สร้างขึ้นเองภายในประเทศดาวแรกขึ้นสู่วงโคจร โดยที่มี มาหมุด อาหมัดดิเนจัด เป็นผู้ประกาศข่าวนี้” ทว่าขณะที่ประธานาธิบดีอิหร่านผู้นี้อ้างว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนา “วิทยาศาสตร์เพื่อมิตรภาพ ภราดรภาพ และความยุติธรรม” เอพีก็กลับตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็น “ก้าวสำคัญของโครงการอวกาศอันมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยานยิ่ง ซึ่งได้สร้างความวิตกให้แก่ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศจำนวนมาก”

การอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับโครงการอวกาศของอิหร่านเช่นนี้ กำลังจะคล้ายๆ กับเสียงแหบห้าวขัดข้อง ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากความระแวงแคลงใจเกี่ยวกับความทะเยอทะยานทางด้านนิวเคลียร์ของประเทศนี้ สำนักข่าวเอพีนั้นรายงานเอาไว้ดังนี้ “อิหร่านบอกเอาไว้ว่าต้องการส่งดาวเทียมของตนเองหลายๆ ดวงเข้าสู่วงโคจร เพื่อติดตามเฝ้าระวังภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศซึ่งเผชิญกับแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง ตลอดจนเพื่อปรับปรุงสมรรถนะทางการสื่อสารของตน”

ในเวลาหลายๆ สัปดาห์และหลายๆ เดือนต่อจากนี้ไป กลไกโฆษณาชวนเชื่อแห่งรัฐของอิหร่าน ตลอดจนพวกที่ฝักใฝ่เข้าข้างอิหร่านในโลกตะวันตก จะต้องเร่งรุดกันออกมายกย่องสรรเสริญบรรดาเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์อันแท้จริงของโครงการนี้ ขณะที่พวกผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติของประเทศต่างๆ ก็จะเฝ้ามองหาจุดที่น่าสงสัยข้องใจของโครงการ ทว่าสำนักข่าวเอพีจัดว่ามีความว่องไวมาก ที่รีบจัดหาข้อมูลเพื่อการเปิดหูเปิดตาเอาไว้ตั้งแต่ในรายงานข่าวชิ้นแรกของตน โดยที่ข้อมูลเปิดเผยความจริงดังกล่าวเป็นคำพูดที่มาจากเตหะรานเสียด้วย “พวกเจ้าหน้าที่อิหร่านพากันชี้ไปที่อเมริกาซึ่งใช้ดาวเทียมเพื่อเฝ้าติดตามอัฟกานิสถานและอิรัก และบอกว่าพวกเขาก็ต้องการความสามารถทำนองเดียวกันนี้สำหรับความมั่นคงปลอดภัยของพวกเขา” และนี่คือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราเห็นความสลับซับซ้อนและลึกล้ำของปัญหานี้

ไม่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านจรวด ก็สามารถบ่งบอกถึงสิ่งที่ระบอบปกครองอิหร่านมองว่าเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกสุดในการที่พวกเขายิงจรวดคราวนี้ นั่นก็คือ เพื่อให้ตนเองมีสมรรถนะทางด้านข่าวกรองซึ่งดาวเทียมเท่านั้นที่จะทำให้ได้ พวกเขาไม่เพียงแต่จะสามารถรบกวนสัญญาณวิทยุ, สัญญาณดาวเทียม, และการสื่อสารด้วยอีเมล์เท่านั้น หาก(มีการพัฒนาเทคโนโลยีไปจนอยู่ในระดับสูงเพียงพอ) ยังสามารถใช้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของบรรดาทรัพย์สินทางทหารและทรัพย์สินทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ถึงแม้รัสเซียได้ขายระบบอาวุธที่มีสมรรถนะต่อต้านอากาศยานและต่อต้านขีปนาวุธให้แก่อิหร่าน เพื่อใช้พิทักษ์ป้องกันสถานที่ทางนิวเคลียร์ของเตหะราน ทว่ารัสเซียก็ไม่ได้มอบสมรรถนะในการตรวจตราเฝ้าระวังไปทั่วโลกอย่างที่ดาวเทียมทำได้ให้แก่อิหร่าน หากมีระบบเรดาร์และการเฝ้าระวังจากดาวเทียมติดตั้งใช้งานพร้อมพรักแล้ว ใครที่จะมาโจมตีสถานที่ทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน ก็จะต้องประสบความยากลำบากขึ้นอีกมากมายนัก

พวกทำหน้าที่แก้ต่างให้อิหร่านจะต้องรีบออกมาอ้างความเห็นที่บอกว่า อิหร่านนั้นยังจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะแข่งขันกับสหรัฐฯและยุโรปในปริมณฑลนี้ได้ ทว่าทันทีที่ดาวเทียมถูกส่งขึ้นไปได้ดวงหนึ่งและสามารถปฏิบัติหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์ได้ เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายดาวเทียมครั้งต่อไปก็จะเป็นรุ่นที่ใช้เทคโนโลยีซึ่งพัฒนามากขึ้นไปอีก โดยที่สรรถนะทางการทหารอาจจะมีการปรับเปลี่ยน จนกระทั่งเป็นภัยคุกคามต่อจุดอ่อนอันใหญ่หลวงที่สุดจุดเดียว ที่หน่วยงานทางทหารและทางข่าวกรองของสหรัฐฯมีกันอยู่ ซึ่งก็คือ ระบบดาวเทียมในอวกาศที่ปราศจากการคุ้มครองป้องกัน

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า “อิหร่านหวังที่จะส่งดาวเทียมเพิ่มขึ้นอีก 3 ดวงภายในปี 2010 รัฐบาลประเทศนั้นบอกเอาไว้เช่นนี้” ทันทีที่สามารถติดตั้งสร้างเครือข่ายดาวเทียมขึ้นมาได้ สมรรถนะทางยุทธศาสตร์ของเตหะรานในการสกัดกั้นประดาความเคลื่อนไหวที่พุ่งเป้าไปยังสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์และสถานที่ทางด้านอื่นๆ ของตน ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เมื่อถึงปี 2010 และถัดจากนั้นไป เป็นที่คาดการณ์กันว่าระบบอาวุธทางยุทธศาสตร์ของอิหร่านจะมีการพัฒนาก้าวไกลไปอีก ภายในปี 2012 อิหร่านอาจจะไปถึงจุดหลักหมายซึ่งเป็นที่กลัวเกรงกันนัก นั่นคือการเป็นเจ้าของทั้งอาวุธนิวเคลียร์, ระบบปล่อยอาวุธนิวเคลียร์สู่เป้าหมาย, และสมรรถนะทางดาวเทียมที่จะตรวจจับปฏิบัติการใดๆ ซึ่งมุ่งต่อต้านพวกเขา

ระบอบปกครองอิหร่านมีวาระทางยุทธศาสตร์ซึ่งทั้งชัดเจนและได้ประกาศออกมาแล้วด้วย อันได้แก่ การขยายอำนาจในภูมิภาคแถบนี้ พัฒนาการอื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวงทางด้านการทหาร, ข่าวกรอง, และเทคโนโลยี ต่างก็มุ่งสนองโลกทัศน์ดังกล่าวนี้ หากเตหะรานไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโครงการทางด้านอุดมการณ์เชิดชูความรุนแรง โดยที่มีเครือข่ายโยงใยเป็นหนวดปลาหมึกยืดยาวไปไกลถึงอิรัก, อัฟกานิสถาน, เลบานอน, กาซา, และส่วนอื่นๆ ของโลกแล้ว การส่งดาวเทียมเพื่อการสื่อสารเพียงดวงเดียวขึ้นสู่อวกาศเพื่อ “เฝ้าระวังแผ่นดินไหว” ก็จะเป็นรายงานข่าวที่ดูดีชิ้นหนึ่ง ทว่าแผ่นดินไหวที่ระบอบปกครองอิหร่านกำลังเฝ้ามองหาอยู่นั้นกลับมีลักษณะที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหาทางทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในทางการเมืองและในทางอัตลักษณ์ของทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้

เมื่อเป็นเช่นนั้น การอ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคราวนี้ให้ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สุด จึงควรที่จะเป็นวิธีการอ่านอย่างง่ายๆ ตรงไปตรงมา ทว่าอาจจะชวนให้เกิดความหวั่นผวา นั่นคือ ขณะที่คณะรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯกำลังแสวงหาทางให้ได้นั่งลงพูดจากับพวกมุลเลาะห์อิหร่าน เพื่อพยายามลดความตึงเครียดในอิรักและอัฟกานิสถานนั้น ทางฝ่ายพลังปาสดารันของเตหะรานกลับกำลังเล็งไกลไปในอวกาศแล้ว ในความพยายามที่จะแผ่อิทธิพลออกไปทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้

ดร.วาลิด ฟาเรส เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “the Confrontation: Winning the War against Future Jihad” เขาเป็นผู้อำนวยการโครงการการก่อการร้ายในอนาคต ณ มูลนิธิเพื่อการป้องกันชาติประชาธิปไตย (Foundation for Defense of Democracies) และเป็นนักวิชาการรับเชิญ ณ มูลนิธิยุโรปเพื่อประชาธิปไตย (European Foundation for Democracy)
กำลังโหลดความคิดเห็น