เอเอฟพี - วุฒิสภาสหรัฐฯลงมติเห็นชอบเมื่อคืนวันพุธ(4) ให้แปรญัตติเพื่อลดน้ำหนักข้อกำหนดเรื่อง "ซื้อสินค้าอเมริกัน" ในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าร่วม 900,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกำลังทำให้บรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯไม่พอใจ โดยมองว่าเป็นมาตรการแบบ "ลัทธิกีดกันการค้า" อย่างไรก็ตาม สภาสูงอเมริกันยังคงปฏิเสธไม่ยอมให้เอาข้อกำหนดนี้ออกจากร่างกฏหมายไปเลย
บรรดาวุฒิสมาชิกลงมติให้แก้ไขภาษาที่ใช้ในข้อกำหนดนี้ให้อ่อนลงกว่าเดิม โดยระบุว่าการ "ซื้อสินค้าอเมริกัน" จะต้องทำตามเงื่อนไขของบรรดากฏหมายและสนธิสัญญาการค้าที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
การใช้ภาษาให้อ่อนลงเช่นนี้ เสนอโดยวุฒิสมาชิกไบรอน ดอร์แกนของเดโมแครต เพื่อทำให้แน่ใจว่าการนำเอาข้อกำหนด "ซื้อสินค้าอเมริกัน" มาใช้จะ "เป็นไปตามภาระผูกพันของสหรัฐฯที่มีอยู่กับข้อตกลงนานาชาติทั้งหลาย"
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าจะยอมรับการแปรญัตติของวุฒิสมาชิกดอร์แกนนี้ วุฒิสภาได้ลงมติด้วยคะแนน 65 ต่อ 31 คว่ำร่างแก้ไขที่เสนอโดยวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคนจากรีพับลิกัน ที่เสนอให้นำเอาข้อกำหนด "ซื้อสินค้าอเมริกัน" ออกไปจากร่างกฎหมายแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าร่วม 900,000 ล้านดอลลาร์ฉบับนี้ไปเลย
"หากว่าเรายังคงข้อกำหนดนี้เอาไว้ ในอีกไม่นานเราก็จะต้องเผชิญหน้ากับการกีดกันทางการค้าที่ประเทศอื่น ๆกำหนดขึ้นมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น "ซื้อสินค้ายุโรป" หรือ "ซื้อสินค้าญี่ปุ่น" แมคเคนเตือนก่อนหน้าที่จะมีการลงมติ
แมคเคนบอกด้วยว่า การยังคงข้อกำหนดนี้ไว้จะทำให้การเยือนแคนาดาในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งจะเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของเขา ดูไม่สง่างาม
โอบามาเองก็วิพากษ์วิจารณ์ข้อกำหนดนี้อย่างรุนแรงเช่นกัน และคาดว่าในการหารือระหว่างผู้นำของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เพื่อประนีประนอมความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็น่าจะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องข้อกำหนด "ซื้อสินค้าอเมริกัน" นี้มาพูดคุยกันด้วย
กลุ่มผู้สนับสนุนให้คงข้อกำหนดนี้ไว้นั้น เป็นพวกเดโมแครตจากมลรัฐที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย พวกเขาเห็นว่าข้อกำหนดนี้จะทำให้แน่ใจได้ว่าเงินที่นำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ จะไม่ไหลออกไปต่างประเทศ
แต่หลายๆ คนอย่างเช่นแมคเคนกลัวว่า ข้อกำหนดดังกล่าวจะละเมิดพันธะผูกพันของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นจากการลงนามในสัญญาการค้าระหว่างประเทศ และอาจทำให้เกิดเป็นสงครามการค้าขึ้นมาได้ ซึ่งความกลัวนี้ก็สะท้อนออกมาในภาษาที่ปรับใหม่ซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อวันพุธ
ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรป(อียู)และแคนาดาออกมาโจมตีข้อกำหนดซื้อสินค้าอเมริกันนี้อย่างรุนแรง พร้อมทั้งเตือนว่าจะก่อให้เกิดการตอบโต้ทางการค้ากันอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับประเทศอื่น ๆที่จะใส่เงื่อนไขให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเองนั้นซื้อแต่ของในประเทศเท่านั้นด้วย
เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำสหรัฐ ไมเคิล วิลสันกล่าวว่า ข้อกำหนดดังกล่าวจะก่อให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วทั้งโลก และทางการวอชิงตันก็อาจจะถูกมองว่าไม่ได้ทรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมเพียงพอในการค้าระหว่งประเทศ
ส่วนเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำกรุงวอชิงตัน จอห์น บรูตันกล่าวว่าเขาได้เขียนจดหมายถึงผู้นำในรัฐสภาเพื่อเตือนว่ากฏหมายเช่นนี้ก่อให้เกิด "สถานการณ์อันตรายอย่างยิ่ง"
ทางด้านนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษ และทาเคโอะ คาวามุระ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งตามระบบการเมืองแดนอาทิตย์อุทัยถือเป็นบุคคลสำคัญลำดับสองในรัฐบาล อีกทั้งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโฆษกรัฐบาลด้วย ต่างก็ออกแสดงความกังวลในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
ข้อกำหนดเรื่องซื้อสินค้าอเมริกันนี้ มีสาระสำคัญระบุว่า การใช้เงินจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าร่วม 900,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีทั้งโครงการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั่วสหรัฐฯมากมายนั้น จะต้องใช้เหล็ก, เหล็กกล้า, และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เป็นสินค้าอเมริกันเท่านั้น
ร่างแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าร่วม 900,000 ล้านดอลลาร์นี้ กำลังอยู่ระหว่างการแปรญัตติในวุฒิสภา โดยที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯได้ผ่านร่างกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนี้มูลค่า 825,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว และมีเงื่อนไขเรื่องซื้อสินค้าอเมริกันนี้ด้วย
หลังจากวุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายของตนแล้ว หากมีข้อความไม่ตรงกับฉบับของสภาผู้แทนราษฎร ก็จะต้องมีขั้นตอนรวมให้เป็นฉบับเดียวกัน จึงจะส่งต่อให้ประธานาธิบดีลงนามประกาศใช้ต่อไป