เอเจนซี - ต้นทุนการล้างหนี้เสียจากระบบการเงินของโลก โดยเฉพาะของสหรัฐฯนั้น กำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ และอาจจะต้องใช้เงินของผู้เสียภาษีเพิ่มมากขึ้นแตะระดับหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไป
การแก้ไขปัญหาหนี้เสียนั้นต้องทำสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกเป็นการย้ายหนี้เสียหรือจำกัดวงความเสียหายจากสินเชื่อที่จะไม่มีวันได้รับการจ่ายคืนมา จากนั้นธนาคารก็จะต้องระดมเงินทุนใหม่เพื่อให้สามารถกลับมาให้สินเชื่อตามปกติได้อีกครั้ง ซึ่งทั้งสองขั้นตอนนี้ต่างแพงเหลือแสน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ออกมาประมาณการเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าธนาคารในสหรัฐฯและยุโรปจะต้องระดมเม็ดเงินใหม่ถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ครอบคลุมการขาดทุนที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในปีนี้และปีหน้า นอกจากนี้ การคิดพึ่งพานักลงทุนเอกชนเพื่อให้เอาเม็ดเงินมาถมช่องโหว่ให้เต็ม ก็เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เพราะพวกเขาก็ถูกเศรษฐกิจเล่นงานอย่างย่ำแย่โดยเฉพาะรายที่ลงทุนในธนาคารทั้งหลาย
ตอนนี้ไอเอ็มเอฟคิดว่าการขาดทุนจากสินเชื่อในสหรัฐฯที่เดียวนั้นน่าจะทะลุระดับ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ไปแล้ว เพิ่มขึ้นมากมายจากที่เคยคาดไว้ในเดือนตุลาคมซึ่งอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์
ตอนนี้ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมนี ล้วนกำลังหาหนทางที่จะล้างหนี้เสียให้ธนาคารต่าง ๆ แต่ในขณะที่มีหลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังดิ่งลงอย่างรวดเร็วที่สุดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มันก็กลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลเหล่านี้ให้หาทางแก้ไขปัญหาให้ได้เร็วที่สุด
"สาระสำคัญคือการลดความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าของสินทรัพย์" ในงบดุลบัญชีของธนาคาร โอลิวิเยร์ บลังชาร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ กล่าว "ผมไม่คิดว่าเราควรจะเคร่งครัดยึดติดคัมภีร์ ในเรื่องวิธีการที่จะทำอะไรต่อมิอะไร เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การลงมือทำ"
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีบารัค โอบามาและพวกที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของเขา ได้เริ่มออกมาให้รายละเอียดแผนการที่จะจัดการปัญหาสองอย่างในคราวเดียว นั่นคือ สางหนี้เน่า และเพิ่มทุนให้กับธนาคาร
หลายฝ่ายคาดว่าโอบามาและทีมงาน อาจจะใช้วิธีการทางเลือกที่แตกต่างกัน เพื่อจัดการกับปัญหาในธนาคารต่าง ๆ ทั้งนี้รวมทั้งก่อตั้ง "แบ๊ด แบงก์" ซึ่งจะซื้อสินทรัพย์เน่าจากธนาคาร, การเสนอค้ำประกันที่จะจำกัดการขาดทุนให้อยู่ในระดับที่พอจัดการได้
เมื่อสินทรัพย์เน่าถูกดึงออกไปแล้ว ก็น่าจะง่ายขึ้นสำหรับธนาคารที่จะระดมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องพึ่งพาเงินจากภาครัฐมากเกินไป ในการทำให้ธนาคารกลับมาให้สินเชื่อได้อีกครั้ง
นักเศรษฐศาสตร์ประมาณกันว่าน่าจะต้องใช้เงินสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อซื้อสินเชื่อบ้านและตราสารหนี้ผู้บริโภคอื่น ๆ รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามานั้นรู้อยู่เต็มอกว่ามีความเสี่ยงการเมืองเพียงไร หากว่าต้องใช้เงินจากผู้เสียภาษีก้อนใหม่ หลังจากที่ผู้เสียภาษีแสดงความไม่พอใจรุนแรงต่อแผนการกอบกู้ภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ที่อนุมัติออกมาในสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และดังนั้นตอนนี้คณะรัฐบาลโอบามา จึงกำลังพยายามหาทางลดการใช้เงินของภาครัฐลงให้เหลือน้อยที่สุด
ดักกลาส เอลเลียต นักวิจัยแห่งสถาบันบรุ๊คกิ้งส์ ซึ่งเคยเป็นวาณิชธนกรจากเจพีมอร์แกนบอกว่าไม่มีคำตอบที่ดีพร้อมสำหรับการแก้ไขปัญหาของธนาคาร
"แต่ละคนบอกเราว่ารู้คำตอบที่ดีที่สุด แต่ผมคิดว่าถ้าเขาไม่หลอกตัวเองก็คงกำลังโกหก" เขากล่าว "ระบบการเงินกำลังย่ำแย่ มันทำให้ทางเลือกเหล่านี้ไม่ใช่ทางที่ดีเลย แต่เราจะต้องเลือกทางที่เลวร้ายน้อยที่สุด"
ปัญหาด้านการธนาคารไม่ได้ส่งผลแต่กับสหรัฐฯเท่านั้น ในเขตยูโรโซน สินเชื่อในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 อันเป็นปีที่เริ่มเก็บข้อมูลเป็นต้นมา ซึ่งบ่งบอกอาการสภาพคล่องขาดแคลนอย่างหนัก และมีปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร
ทางด้านอังกฤษได้ประกาศมาตรการเพื่อจัดการกับหนี้เน่า โดยผ่านระบบการประกันการขาดทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนเยอรมนีกำลังคิดจะตั้ง "แบ๊ด แบงก์" เพื่อนำเอาหนี้และสินทรัพย์เน่าของธนาคารไฮโป เรียลเอสเตท โฮลดิ้งมาเก็บเอาไว้
ในขณะเดียวกันบรรดานักลงทุนก็เป็นกังวลว่ารัฐบาลต่าง ๆ ไม่ว่าทางสหรัฐฯหรือฟากฝั่งยุโรป จะมัวเงื้อง่าจนไม่สามารถออกมาตรการออกมาจัดการกับปัญหาให้ทันการณ์ได้ ซึ่งจะไม่สามารถหยุดวงจรของหนี้เน่า ที่เป็นตัวจำกัดการให้สินเชื่อ และส่งผลให้ไม่สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในภาพรวมได้