เอเอฟพี - ผู้เชี่ยวชาญในที่ประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม - WEF) ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ชี้ แนวโน้มว่าผู้บริโภคชาวจีนและอินเดีย อาจจะมีพฤติกรรมกลับตาลปัตรกับแนวโน้มของโลก ด้วยการเป็นผู้จับจ่ายใช้สอยอย่างสนุกมือ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการใช้จ่ายของพวกเขา ก็ยังไม่อาจทดแทนส่วนที่ขาดหาย จากการที่นักช็อปอเมริกันพากันกุมกระเป๋าแน่น เพราะขวัญผวากับวิกฤตเศรษฐกิจ
กมล นาถ รัฐมนตรีพาณิชย์ของอินเดีย ซึ่งเข้าร่วมในการประชุม WEF คาดการณ์ว่า การบริโภคภายในประเทศของอินเดียในปีนี้คงจะเติบโต “ราว 7 เปอร์เซ็นต์” และเขายังบอกอีกว่าการเติบโตโดยอาศัย “การบริโภคภายในประเทศเป็นหนทางเดียวที่มีอยู่ในขณะนี้” เนื่องจากปริมาณความต้องการสินค้าในต่างประเทศตกฮวลลง จนกระทบต่อผู้ส่งออกอย่างหนัก
ส่วน เวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีน กล่าวว่า สัญญาณแรกๆ ที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นฟู ก็คือ ระดับการบริโภคภายในประเทศในช่วงตรุษจีนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เวิน กล่าวว่า “แม้จะเป็นสัญญาณเล็กๆ แต่ผมก็มีความหวัง”
ขณะที่ จูหมิน รองประธานธนาคารกลางจีน ก็คาดการณ์ว่า การบริโภคภายในประเทศจีนจะเติบโตราว 20 เปอร์เซ็นต์ในปี 2009 ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับปีที่แล้ว
เขาระบุเพิ่มเติมว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินโลก คงทำให้การใช้จ่ายด้านการบริโภคของสหรัฐฯ ลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ชาวอเมริกันเคยมีการใช้จ่ายภายในประเทศราว 10 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เท่ากับราว 70 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
เปรียบเทียบกับจีนแล้ว แดนมังกรมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นราว 38 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในเวทีประชุม WEF ให้ความเห็นว่า จีน ญี่ป่น และ เยอรมนี ล้วนแต่เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ดังนั้น เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ปริมาณการบริโภคของสหรัฐฯ ลดลงอย่างมหาศาล โดยหากผู้บริโภคสหรัฐฯ จับจ่ายใช้สอยน้อยลง 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีแล้ว การเพิ่มการบริโภคในจีนกับอินเดียก็คงจะไม่สามารถเข้าไปอุดช่องว่าง หรือทดแทนส่วนที่ขาดหายไปได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า เราจะต้องเผชิญกับ “ความเจ็บปวด” อย่างแน่นอน
ศาสตราจารย์ เคน โรสเซน ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์ กล่าวโจมตีว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นเพราะรูปแบบการเติบโตของอเมริกาที่เน้นการกระตุ้นการใช้จ่ายและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการปล่อยให้มีการกู้ยืมเงินอย่างเกินตัว โดยที่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว รูปแบบของญี่ปุ่น เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ นั้น จะให้ความสำคัญกับการออมมากกว่า
เขาให้ความเห็นว่า “รูปแบบอเมริกันเป็นรูปแบบที่ผิด ... ถ้าโลกเดินตามสหรัฐฯ กันหมด โลกเราคงไม่รอดแน่ๆ” นอกจากนั้น เขายังบอกว่าการปรับดุลเศรษฐกิจสหรัฐฯ “จะเป็นเรื่องเจ็บปวดมาก” แต่ “เป็นสิ่งถูกต้องที่ต้องทำ”
ส่วน ฮิโรมิชิ โทยะ ที่ปรึกษาอาวุโสของสายการบินออลนิปปอนแอร์เวยส์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “หากมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างบ้าง” ก็จะเป็นการดี โทยะ กล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นก็เหมือนกับจีนที่ต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และการปรับสมดุลระหว่างชาวอเมริกันและเอเชียก็เป็นสิ่งจำเป็น
นาถ ก็เห็นด้วยว่า “สหรัฐฯ จะต้องปรับรูปแบบการบริโภคของตนอย่างแน่นอน ซึ่งถ้ามองจากมุมของสิ่งแวดล้อมแล้ว ถือเป็นเรื่องดี”
อย่างไรก็ตาม ซู กล่าวเตือนด้วยว่า การจะกระตุ้นให้ประชากรจีนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างมากก็ต้องอาศัยเวลาเช่นกัน “ตอนนี้จีนกำลังพยายามเพิ่มการบริโภค แต่โปรดอย่าหวังกันจนเกินไปว่าจะพึ่งจีนในการกอบกู้โลก”