xs
xsm
sm
md
lg

โอบามา, ฟุตบอล, และความมั่นคงในเอเชียใต้

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

Obama, soccer and South Asian security
By M K Bhadrakumar
09/01/2009

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

วอชิงตันกำลังเพิ่มความกดดันอิสลามาบัด ให้ลงมือปฏิบัติการตามหลักฐานที่ปรากฏชัดเจน ในเหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายในนครมุมไบ แท้ที่จริงเมื่อมองอย่างองค์รวมแล้ว อิทธิพลของสหรัฐฯในเอเชียใต้ไม่เคยยิ่งใหญ่มหาศาลเท่านี้มาก่อนเลย โดยที่สหรัฐฯกำลังอยู่ในฐานะซึ่งสามารถหันเหผลแพ้ชนะของการเลือกตั้งในอินเดียได้ทีเดียว นอกเหนือจากสามารถเข้าไปผลักดันปรับเปลี่ยนยกเครื่องความสัมพันธ์อันร้าวฉานมานมนานระหว่างอินเดีย-ปากีสถานกันเสียใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระลึกเอาไว้ก็คือ ก่อนอื่นวอชิงตันจะต้องทำให้อิสลามาบัดยอมยืดหยุ่น “ไซด์โค้ง” แบบลูกปั่นฟรีคิกของเดวิด เบคแฮม

สหรัฐฯน่าที่จะกำลังยืนอยู่ตรงชายขอบแห่งการผ่าทางตันครั้งใหญ่ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียใต้ การเดินทางไปเยือนกรุงวอชิงที่กำหนดวางแผนกันไว้แล้วของประธานาธิบดี อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี แห่งปากีสถาน ตอนปลายเดือนมกราคมนี้ น่าที่จะกลายเป็นจุดที่ทำให้เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา

“การเต้นแทงโก้ทางการทูต”ในกรณีผู้ก่อการร้ายเข้าโจมตีนครมุมไบของอินเดียเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน กำลังมาถึงจังหวะที่สำคัญอย่างยิ่ง ตามรายงานโต้ตอบขานรับกันทางสื่อมวลชนเมื่อวันพุธ(7) เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำอินเดีย เดวิด มัฟฟอร์ด แสดงท่าทีให้เป็นที่ทราบกันชัดเจนว่า รายงานของฝ่ายอินเดียอันรวบรวมหลักฐานต่างๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีคนสัญชาติปากีสถานหลายๆ รายเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โจมตีมุมไบนั้น เป็นรายงานที่ “เชื่อถือได้” นิวเดลีได้ส่งมอบรายงานแฟ้มหลักฐานดังกล่าวให้แก่อิสลามาบัดไปแล้วตั้งแต่วันจันทร์(5)

เขาบอกว่า “ผมคิดว่ารายงานแฟ้มหลักฐานนี้เชื่อถือได้ หลักฐานจำนวนมากทีเดียวจัดเตรียมขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากเอฟบีไอ (สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ) สหรัฐฯไม่รวบรวมนำเอาข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือมาพิจารณาหรอก” มัลฟอร์ดยังกล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์โจมตีมุมไบดูน่าจะเป็นการออกมาปฏิบัติการจากปากีสถาน และทีมงานของเอฟบีไอทีมหนึ่งก็กำลังเดินทางไปยังปากีสถาน เพื่อสืบสวนหาข้อพิสูจน์เพิ่มเติม แถมเอกอัครราชทูตสหรัฐฯผู้นี้ได้แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างดุเดือด ต่อความคิดที่เชื่อถือกันอย่างกว้างขวางที่ว่า ปากีสถานเป็นผู้กุมเส้นเลือดใหญ่ของสหรัฐฯในสงครามอัฟกานิสถานเอาไว้ และทำให้อเมริกาไม่ค่อยกล้าขยับตัวทำอะไร เขากล่าวว่า “คนอเมริกันเก่งมากนะในเรื่องใช้วิธีการที่เป็นไปได้หลายๆ อย่างเพื่อให้ได้รับผลตามที่ต้องการ”

หลังจากได้รับหลักประกันจากนิวเดลีจนเกิดความมั่นใจแล้วว่า อินเดียจะไม่หันไปใช้วิธีเปิดการโจมตีทางทหารเข้าใส่ปากีสถาน วอชิงตันก็กำลังเพิ่มแรงกดดันอย่างเห็นชัดต่ออิสลามาบัด ให้ลงมือปฏิบัติการให้สมควรแก่หลักฐานที่ปรากฏออกมาในกรณีการโจมตีที่มุมไบ คำแถลงอันแข็งกร้าวของมัลฟอร์ดคราวนี้ก็ควรถือเป็นสัญญาณแสดงถึงการเปลี่ยนเข้าเกียร์สูงขึ้นไปอีก เท่าที่ผ่านมา อิสลามาบัดยังวางท่าทีอยู่ในโหมดปฏิเสธลูกเดียวมาตลอด ทว่าเมื่อวันพุธ(7) กระทรวงการต่างประเทศในอิสลามาบัดกลับออกมายอมรับต่อสาธารณชนว่า ผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์โจมตีมุมไบที่ยังเหลือรอดชีวิตอยู่คนเดียวนั้น เป็นคนสัญชาติปากีสถานแน่นอน ต่อมาในวันพฤหัสบดี(8) ในคำแถลงอีกฉบับหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศปากีสถานได้ยืนยันว่า กำลัง “ศึกษาพิจารณาอย่างจริงจัง” ในรายงานแฟ้มหลักฐานที่อินเดียส่งมาให้

ภาพที่ปรากฏออกมาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ผู้บัญชาการกองทัพบกปากีสถาน พล.อ.อัชฟัค คิอานี และ ประธานาธิบดีซาร์ดารี ดูเหมือนจะมาถึงบทสรุปอย่างเดียวกันแล้วว่า ไม่ควรหันไปใช้วิธีการท้าทายทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ สัญญาณประการหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ การที่ นาวาซ ชาริฟ ผู้นำฝ่ายค้าน กำลังเปลี่ยนไปใช้จุดยืนแบบปฏิเสธโดยสิ้นเชิง โดยบอกว่าแฟ้มหลักฐานของนิวเดลีในเรื่องปากีสถานเกี่ยวข้องกับการโจมตีที่มุมไบนั้น “ยังไม่หนักแน่นเพียงพอ” และมีหลักฐาน “มากมาย” ที่แสดงว่าอินเดียก็ดำเนินกิจกรรมลับๆ อยู่ในปากีสถาน

ภายในสมการทางการเมืองอันสลับซ้อนซ้อนในอิสลามาบัด ความใกล้ชิดที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นระหว่างคิอานี-ซาร์ดารี ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นการสร้างภาวะโดดเดี่ยวทางการเมืองแก่นายกรัฐมนตรี ยูซุฟ กิอานี และเขาก็ได้ตอบโต้กลับในวันพุธ(7) ด้วยการสั่งปลด พล.ต.(เกษียณอายุ) มาหมุด ดูร์รานี ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของปากีสถาน เวลานี้ดูร์รานีกำลังแสดงบทบาทเป็นสะพานเชื่อมอันสำคัญยิ่งระหว่างคิอานีกับซาร์ดารี นอกเหนือจากการเป็นปากเสียงคนสำคัญของวอชิงตันในอิสลามาบัด น่าประหลาดใจที่ว่า ดูร์รานีก็เป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันยิ่งคนหนึ่ง ให้ฟื้นฟูความสัมพันธ์อันเป็นปกติระหว่างปากีสถานกับอินเดีย

การที่เขาถูกปลดอาจจะทำให้แผนการเล่นของสหรัฐฯเกิดความปั่นป่วนขึ้นชั่วขณะ ทว่าไม่ได้ถึงกับเป็นความปราชัยขั้นเป็นตาย สูตรสำเร็จแห่งการรักษาหน้าซึ่งกำลังได้รับการยอมรับจากทุกๆ ฝ่ายอย่างทั่วถ้วนในอิสลามาบัด ก็คือการออกมาอธิบายว่า แท้ที่จริงแล้วน่าจะมี “พวกตัวแสดงที่มิใช่รัฐ” กำลังพยายามดำเนินการก่อกวนขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-ปากีสถานอยู่ น่าสังเกตด้วยว่าในคำแถลงต่างๆ ของสหรัฐฯเกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีมุมไบนั้น ก็มีความระมัดระวังที่จะคอยจำแนกแยกแยะระหว่างพวกผู้ก่อการร้ายที่โจมตีมุมไบ กับทางเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของปากีสถาน

วอชิงตันกำลังพยายามใช้อิทธิพลจากหลายทิศหลายทางเพื่อส่งผลกระทบเข้าไปในโครงสร้างแห่งอำนาจของปากีสถาน ในด้านหนึ่ง ซึ่งควรถือเป็นการแสดงท่าทีอันสำคัญมากต่ออิสลามาบัด ก็คือ การที่คณะรัฐบาลบารัค โอบามา กำลังเตรียมการอย่างเต็มที่เพื่อแต่งตั้งผู้แทนพิเศษทางการทูตมาดูแลความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯมีอยู่กับอินเดียและปากีสถานเป็นการเฉพาะเจาะจง “เนลสัน รีพอร์ต” (Nelson Report) เอกสารสรุปรายวันเกี่ยวกับเรื่องราวด้านนโยบายของสหรัฐฯซึ่งนับถือกันว่ามีอิทธิพลสูง ได้ยืนยันเรื่องนี้เอาไว้ในฉบับวันจันทร์(5) เมื่อรายงานข่าวว่า นักการทูตระดับท็อปของสหรัฐฯ ริชาร์ด โฮลบรูก ที่เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งในคณะรัฐบาลของจิมมี คาร์เตอร์ และบิลล์ คลินตัน กำลังจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษดังกล่าวนี้

การแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯเช่นนี้ จะได้รับการจับตามองจากบรรดาผู้ปกครองปากีสถานในอิสลามาบัดว่า เท่ากับสหรัฐฯประกาศดำเนินภารกิจเป็นผู้ไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาดินแดนแคชเมียร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อิสลามาบัดเรียกร้องต้องการมานมนานแล้ว หากเป็นเวลาตามปกติแล้ว เดลีจะต้องปฏิเสธไม่ยอมรับการแต่งตั้งตำแหน่งเช่นนี้กันโดยอัตโนมัติทีเดียว ทว่าวอชิงตันน่าจะประเมินแล้วว่า ภายหลังการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อเร็วๆ นี้ในรัฐชัมมูและแคชเมียร์ของอินเดีย ซึ่งได้มีผู้ออกเสียงมาใช้สิทธิกันสูงมากเกินคาดหมาย จนทำให้จะได้รัฐบาลระดับรัฐที่ถือว่าผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนแล้ว นิวเดลีก็น่าจะรู้สึกมีความเชื่อมั่นขึ้นกว่าเดิมมากเกี่ยวกับจุดยืนของตนในเรื่องปัญหาแคชเมียร์ และอาจจะไม่ก่อกวนขัดขวางการแต่งตั้งโฮลบรูก

สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง ได้แก่การที่ ริชาร์ด บาวเชอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียใต้และเอเชียกลางของสหรัฐฯคนปัจจุบัน เมื่อถูกถามในวันอังคาร(6)ว่า เวลานี้สหรัฐฯมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาแคชเมียร์หรือไม่ เขาก็ตอบด้วยน้ำเสียงที่ค่อนข้างต่างไปจากเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก โดยกล่าวว่า “มีความหวังเสมอแหละที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ แต่มันเป็นอะไรที่พวกเขา [อินเดียและปากีสถาน]เองจะต้องดำเนินการ ... อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าตอนนี้มีโอกาสทีเดียวที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อต่อต้านกลุ่มต่างๆ ที่กำลังพยายามก่อกวนความสัมพันธ์อินเดีย-ปากีสถาน ต่อต้านกลุ่มเหล่านี้ซึ่งจริงๆ แล้วกำลังสร้างความเสียหายให้แก่การแก้ปัญหาแคชเมียร์ ด้วยการลงมือปฏิบัติการแบบก่อการร้ายอันเหี้ยมโหดของพวกเขา และหวังอย่างยิ่งว่า จากการทำงานร่วมกันดังกล่าวนี้ ทั้งสองฝ่ายจะพบว่าพวกเขาเองอยู่ในจุดยืนที่เอื้ออำนวยมากขึ้นในการร่วมมือกัน” จากนั้นบาวเชอร์ก็พูดต่อไปว่า อินเดียกับปากีสถานได้ “ก้าวคืบหน้าไปใหญ่โต” แล้วในระยะสองปีที่ผ่านมาในการเจรจากันเรื่องแคชเมียร์ และเหตุโจมตีมุมไบทำให้เรื่องนี้มีความลำบากมากยิ่งขึ้นในขณะนี้

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่มีน้ำหนักต่อการคาดคำนวณของอิสลามาบัดด้วย ก็คือการแสดงบทบาทอย่างไม่เคยทำมาก่อนของจีน ในการหาทางผ่อนคลายวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ในความสัมพันธ์อินเดีย-ปากีสถาน อิทธิพลของปักกิ่งที่มีต่ออิสลามาบัดนั้นต้องถือว่าไม่เป็นที่สองรองใคร เห็นได้อย่างชัดเจนว่าภารกิจของ เหอย่าเฟย ผู้แทนพิเศษของจีนที่เดินทางไปยังอิสลามาบัดในวันที่ 29 ธันวาคม และไปยังนิวเดลีในวันที่ 5 มกราคมนั้น บังเกิดขึ้นด้วยการส่งเสริมสนับสนุนของสหรัฐฯ วอชิงตันดูเหมือนจะประเมินว่า การปฏิบัติหน้าที่อย่างดีของฝ่ายจีนน่าจะเป็นประโยชน์ในการเกลี้ยกล่อมให้ฝ่ายทหารปากีสถานยอมร่วมมือในกรณีการโจมตีนครมุมไบ แท้ที่จริงแล้ว ผู้บัญชาการทหารบกปากีสถาน คีอานี ได้ต้อนรับเหอด้วยตนเองทีเดียว

ในเวลาปกติทั่วไปแล้ว นิวเดลีจะต้องเฉยชาต่อความเคลื่อนไหวที่จะทำให้ปรากฏภาพว่าปักกิ่งเข้ามาพัวพันยุ่งเกี่ยวอยู่ในเอเชียใต้ แต่ว่าต้องไม่ลืมว่าคราวนี้เป็นเรื่องที่วอชิงตันสนับสนุนเห็นชอบ นิวเดลีให้การต้อนรับเหออย่างสุภาพ โดยปฏิบัติต่อการเยือนคราวนี้แบบไม่พยายามตีฆ้องร้องป่าว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของอินเดียผู้หนึ่งก็ได้ออกมาแสดงความรู้สึกต่อสาธารณชนว่าพออกพอใจการหารือกับผู้แทนจีน เจ้าหน้าที่อินเดียผู้นี้กล่าวว่า “สิ่งที่เราได้เห็นกันก็คือ จีนประณามอย่างแข็งขันต่อการก่อการร้ายและเหตุการณ์โจมตีเมืองมุมไบ ในประเด็นเรื่องการก่อการร้ายนั้น จีนยืนอยู่อย่างมั่นคงเคียงข้างเรา ... เรามีคณะทำงานร่วมอยู่กับฝ่ายจีนในเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย เราจะทำให้มั่นใจได้ว่าคณะทำงานร่วมนี้สามารถทำงานอย่างได้ผล” เจ้าหน้าที่อินเดียผู้นี้เปิดเผยด้วยว่า เหอกล่าวว่าอินเดียคือ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์”ของจีน ขณะที่ปากีสถานเป็น “เพื่อนมิตรผู้ใกล้ชิด”

นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้แล้ว วอชิงตันเองก็มีอิทธิพลมหาศาลของตนเองต่อปากีสถาน แผนการช่วยเหลือปากีสถานที่มีมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์เวลานี้กำลังอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐฯ และกองบัญชาการทหารเขตกลางของอเมริกาก็กำลังพิจารณารายละเอียดขั้นสุดท้ายของแผนการช่วยเหลือทางทหารฉบับใหม่มูลค่าปีละ 300 ล้านดอลลาร์ให้แก่ปากีสถานในช่วงเวลา 5 ปีต่อจากนี้ไป

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ วอชิงตันดูจะตระหนักว่าช่วงเวลาวิกฤตที่ต้องตัดสินใจกันให้เด็ดขาดได้มาถึงแล้ว สำหรับเรื่องการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กันระหว่างสหรัฐฯ-อินเดีย ถ้าหากปากีสถานเป็นประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่ตกต่ำ พลังความคึกคักของหุ้นส่วนสหรัฐฯ-อินเดียก็กลับตาลปัตรไปในทิศทางตรงกันข้ามทีเดียว นิวเดลีสามารถยื่นเสนอของขวัญปีใหม่อันแสนจะยั่วยวนใจให้แก่คณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ด้วยการที่เมื่อวันที่ 1 มกราคม อินเดียได้ลงนามในข้อตกลงจัดซื้ออาวุธซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยทำมากับสหรัฐฯ นั่นคือ สัญญาซื้อเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลพิสัยไกล (long-range maritime reconnaissance หรือ LRMR) รุ่น พี 81 ของบริษัทโบอิ้งจำนวน 8 ลำด้วยราคา 2,100 ล้านดอลลาร์ให้แก่ทางกองทัพเรือ สัญญาฉบับนี้ยังมีออปชั่นให้อินเดียสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ได้เพิ่มเติมอีก 8 ลำ ครั้งนี้ยังเป็นข้อตกลงการพาณิชย์ที่ทำตรงกับทางโบอิ้ง โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องผ่านกระบวนการประกวดราคาตามปกติ และคณะรัฐบาลบุชก็ได้หาเสียงสนับสนุนให้แก่การทำข้อตกลงนี้อย่างแข็งขันมาพักหนึ่งแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อตกลงที่อินเดียกำลังจะจัดซื้อเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์อีก 126 ลำ ซึ่งประมาณการกันว่าจะมีมูลค่าถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน คณะผู้แทนการค้าชาวอเมริกันที่มีสมาชิกมากมายถึง 150 คนก็เพิ่งเดินทางมาถึงนิวเดลี สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อินเดียคือผู้อุปถัมภ์คณะผู้แทนการค้าจากสหรัฐฯคราวนี้ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยในจำนวนนี้กว่า 50 คนเป็นผู้บริหารระดับอาวุโสด้านนิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ที่เป็นตัวแทนของบริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่อย่างเช่น เจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี), เวสติงเฮาส์, เบชเทล นิวเคลียร์, เดอะ ชอว์ กรุ๊ป, แบ็บคอร์ก แอนด์ วิลค็อกซ์, ฯลฯ เป็นที่ชัดเจนว่า ข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ-อินเดีย กำลังเริ่มสร้างบรรยากาศอันเอื้ออำนวยให้แก่การหยิบฉวยหาประโยชน์เชิงธุรกิจ สมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพรับรองคณะนักธุรกิจอเมริกันเหล่านี้ในการประชุมเป็นเวลา 3 วันในกรุงนิวเดลี เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดี(8) ประมาณการไว้ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 18-20 โรงที่อินเดียอาจนำเข้าในระหว่างช่วงเวลา 15 ปีข้างหน้านี้ น่าจะเปิดช่องทำให้เกิดการลงทุนคิดเป็นมูลค่า 27,000 ล้านดอลลาร์

นี่เป็นหลักฐานชัดเจนมากว่า อินเดียกำลังเปิดตลาดที่มีศักยภาพอันมหึมา ให้แก่เครือข่ายฝ่ายอุตสาหกรรม-ฝ่ายทหารของสหรัฐฯ ตลอดจนอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของอเมริกัน และก็นำไปสู่คำถามที่หยิบยกขึ้นมาปุจฉาแบบเล็งเข้าเป้ากันเลย นั่นคือ วอชิงตันสามารถจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรับประกันว่าอินเดียจะยังคงมีการแบ่งสันปันส่วนแบบที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯเช่นนี้ต่อไป แม้กระทั่งภายหลังจากการเลือกตั้งรัฐสภาในอินเดียในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้แล้ว

แน่นอนว่าวอชิงตันสามารถทำได้มากมายทีเดียว ด้วยการใช้อิทธิพลทำให้ตอนจบของวิกฤตความสัมพันธ์ที่อินเดียมีอยู่กับปากีสถานในปัจจุบัน ออกมาในลักษณะที่เป็นการปรับเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในอินเดีย เวลานี้มติมหาชนในอินเดียนั้น กำลังออกมาในทางลบมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ารัฐบาลอินเดียนั้นดีแต่พูดถ้อยคำโวหารอันว่างเปล่า แต่ที่จริงแล้วไม่มีน้ำยาจัดการกับความดื้อรั้นของอิสลามาบัดที่ยังไม่ยอมทำอะไร เพื่อปราบปรามบรรดากลุ่มก่อการร้ายซึ่งกำลังปฏิบัติการต่อต้านอินเดียอยู่ ความเข้าใจเช่นนี้ของสาธารณชนกำลังเป็นภัยคุกคามอันน่าหวั่นใจว่าจะสร้างความหายนะในการเลือกตั้งให้แก่พรรคคองเกรสที่เป็นแกนนำคณะรัฐบาลผสมของอินเดียชุดปัจจุบัน

ดังที่นักวิจารณ์ชาวปากีสถานผู้หนึ่งเขียนเอาไว้ว่า “รัฐบาลอินเดียนั้นกำลังตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก การเลือกตั้งโลกสภา (รัฐสภา) กำลังจะมีขึ้นแล้ว ถ้ารัฐบาลนี้ล้มเหลวไม่ลงมือทำอะไรก่อนหน้าการเลือกตั้ง ก็จะต้องเสียหน้า และบางทีจะเสียท่าในการเลือกตั้งด้วย แต่ถ้ารัฐบาลนี้ลงมือดำเนินปฏิบัติการทางทหาร มันก็อาจนำไปสู่สงคราม และเนื่องจากสงครามย่อมมีการพัฒนาแรงขับเคลื่อนของตัวมันเอง จึงอาจจะบานปลายจนอยู่เหนือการควบคุมอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี พวกเขาก็ต้องตัดสินใจ และต้องกระทำอย่างเร็วด้วย ก่อนที่เวลาจะไล่ตามทันพวกเขา”

ด้วยเหตุนี้ วอชิงตันจึงจำเป็นจะต้องชั่งน้ำหนักทางเลือกต่างๆ ของตนด้วยความระมัดระวัง การพ่ายแพ้ของพรรคคองเกรสในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะยังความปราชัยอย่างสำคัญให้แก่บรรดายุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคในเอเชียใต้ของสหรัฐฯด้วย อันที่จริงแล้ว หากวอชิงตันสามารถใช้วิธีหนึ่งวิธีใดไปเกลี้ยกล่อมให้อิสลามาบัดยอมส่งมอบผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายสัก 1 หรือ 2 คนจากจำนวน 20 คนที่นิวเดลีต้องการตัวมาให้แก่ทางการอินเดียแล้ว มติมหาชนชาวอินเดียก็จะมองว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่โตของรัฐบาล และพรรคคองเกรสก็จะได้เครดิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้ตัวใครสักคนอย่างเช่น มาซูด อัซฮาร์ ผู้ซึ่งระหว่างเหตุการณ์จี้เครื่องบินโดยสารของอินเดียลำหนึ่งไปยังเมืองกันดาฮาร์ในอัฟกานิสถานเมื่อ 8 ปีก่อน รัฐบาลอินเดียในสมัยนั้นได้เคยต้องยอมจำนนปล่อยตัวเขา ตามเงื่อนไขของพวกจี้เครื่องบิน อันเป็นสถานการณ์อันน่าอับอายขายหน้ายิ่ง

จากนั้นโฮลบรูกยังจะมีช่องทางอันเปิดกว้างมากเป็นประวัติการณ์ เพื่อทำงานนำพาความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-ปากีสถานไปสู่รากฐานอันมีเสถียรภาพ วอชิงตันย่อมไม่เคยพบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์อันเต็มไปด้วยความน่าพิศวงงงงวยเช่นนี้มาก่อน กล่าวคือ สหรัฐฯพบว่าตัวเองอยู่ในจุดยืนอันแสนน่าอิจฉาที่จะสามารถหันเหผลแพ้ชนะของการเลือกตั้งในอินเดีย และกระทั่งเป็นผู้ปรับเปลี่ยนชี้ขาดการแบ่งสรรอำนาจการปกครองในอนาคตในนิวเดลี นอกเหนือจากการได้อิสระเสรีอย่างเต็มที่เพื่อดำเนินการกับความสัมพันธ์อันร้าวฉานมานมนานระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน ให้เป็นประโยชน์จากแง่มุมของยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ

อิทธิพลของสหรัฐฯในเอเชียใต้ไม่เคยยิ่งใหญ่มหาศาลเท่านี้มาก่อนเลย ทว่ามันก็มีสิ่งที่ต้องพึงระลึกเอาไว้ประการหนึ่ง นั่นคือ ก่อนอื่นเลยสหรัฐฯจะต้องทำให้อิสลามาบัดยอมโอนอ่อนยืดหยุ่น และถ้าพูดกันด้วยสำนวนของกีฬาฟุตบอลแล้ว จะต้องโอนอ่อนยืดหยุ่นได้แบบเดียวกับดาวเตะชาวอังกฤษ เดวิด เบคแฮม ผู้ทำประตูได้จากการเตะฟรีคิก ด้วยการทำให้ลูกบอลหมุนคว้าง “ไซด์โค้ง” ขณะที่พุ่งผ่านไปอากาศ

โอบามาจะทำอย่างนี้ได้ไหม ขณะที่เขาต้อนรับซาร์ดารีในกรุงวอชิงตัน? เมื่อเนิ่นนานหลายปีมาแล้ว ตอนที่เขาเป็นเด็กพำนักในกรุงจาการ์ตานั้น โอบามาก็เคยเล่นฟุตบอลตามตรอกซอกซอยอยู่เหมือนกัน

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยทำงานเป็นนักการทูตอาชีพของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยไปประจำตามประเทศต่างๆ จำนวนมาก อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
กำลังโหลดความคิดเห็น