xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นจะขึ้นๆ ลงๆ ในแนวระนาบไปตลอด - ดูกันว่าทำไม

เผยแพร่:   โดย: เดวิด พี โกลด์แมน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Why stocks will chop sideways forever
By David P Goldman
08/01/2009

ทัศนะอันไร้เดียงสาของสหรัฐฯ ที่คาดหวังรอคอยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มุ่งที่จะเชื่อกันว่าการกระตุ้นด้วยมาตรการทางการคลังจะช่วยพลิกฟื้นความคึกคักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นั่นน่ะเหลวไหลแท้ๆ

ทัศนะอันไร้เดียงสาของสหรัฐฯ ที่คาดหวังรอคอยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จะเชื่อกันว่าการกระตุ้นด้วยมาตรการทางการคลังจะช่วยพลิกฟื้นความคึกคักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นั่นน่ะเหลวไหลแท้ๆ ต่อให้พิจารณาในแนวของเคนเซียน(Keynesian)ก็ตาม เพราะการหดหายของมูลค่าสินทรัพย์ในสหรัฐฯ ได้ละลายให้งบดุลของครัวเรือนอเมริกันเหือดแห้ววับไปร่วมๆ 10 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมกับกระตุ้นให้เกิดการพุ่งขึ้นในสิ่งที่เป็นอันตรายมากที่ท่านเคนส์เรียกว่า ความโน้มเอียงหน่วยสุดท้ายในการออม (Marginal Propensity to Save) อันที่จริงแล้ว ความโน้มเอียงในการออมจะไม่ใช่แค่เงินรายได้ส่วนเหลือทั่วๆ ไป เพราะผู้บริโภคอเมริกันจะไม่แค่เพียงอดใจไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อเก็บออมเงินรายได้ทั้งหมดที่เหลือจากค่าใช้จ่ายจำเป็นทั้งหลาย แต่จะถึงกับลุกขึ้นมาปรับกระบวนชีวิตกันใหญ่โตเพื่อจะให้ตนเองมีส่วนเหลือออมเพิ่มขึ้น
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมตลาดสินค้าคงทนที่มุ่งขายสู่ผู้บริโภค (เช่น บ้าน และรถยนต์) จะเรื้อรังอยู่ในภาวะย่ำแย่นานเป็นหลายปี พร้อมกับเป็นเหตุผลว่าทำไมร้านขายสินค้าราคาประหยัดอย่าง วอล-มาร์ต จะมีผลประกอบการต่ำ ใครก็ตามที่ไม่ดำเนินมาตรการสนับสนุนฐานะการเงินของครัวเรือน ย่อมต้องนับว่าบ้าเต็มที ......
อีกเวอร์ชั่นหนึ่งของสูตรสำเร็จการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความไร้เดียงสาน้อยลงหน่อย ซึ่งถูกโปรโมทไปทั่วเมื่อปลายปีที่แล้ว คือแนวคิดที่ว่าอุปสงค์ในตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายที่ยังมีฐานะทางเศรษฐกิจเข้มแข็งกว่าสหรัฐฯ (อาทิ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน หรือกลุ่มบริก – BRIC) จะเข้าไปทดแทนอุปสงค์ของผู้บริโภคอเมริกันที่หายไปได้ในบางระดับ ทั้งนี้ข่าวเกี่ยวกับการฉ้อโกงบริษัทสัตยัม ได้ทำให้อักษร I หลุดออกจากกลุ่มบริกไปก่อน ในด้านของรัสเซียก็ไม่ใช่ว่าดี ราคาน้ำมันที่ทรุดตัวรุนแรงทำให้รัสเซียตะกายหนีตายอยู่ในขณะนี้ นอกจากนั้น ไม่มีใครควรไปหวังพึ่งพิงว่าจะให้บราซิลเป็นอะไรทั้งนั้น นอกจากประเทศแห่งอนาคตที่มาไม่ถึงเสียที
สำหรับกรณีจีน แนวโน้มระยะยาวนับว่าดี กระนั้นก็ตาม กรณีแบงก์ออฟอเมริกา และการที่นักลงทุนภายนอกเข้าไปทำกำไรจากธนาคารคอนสตรักชั่นแบงก์ออฟไชน่า ล้วนแสดงให้เห็นความจำกัดในระยะใกล้ของจีน

ปัญหายุ่งยากเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีอยู่ว่าโลกได้ร่วมกันช่วยประคองฐานะงบดุลของครัวเรือนอเมริกัน เพื่อรักษาให้ผู้บริโภคอเมริกันหมั่นกู้ยืมและจับจ่ายไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้ผู้บริโภคอเมริกันไม่อยากจะกู้ยืมและบริโภคแล้ว และหันไปล้างหนี้โดยการตัดค่าใช้จ่าย และทุกคนก็ตกงาน

ดังนั้น ใครกันในโลกนี้จะสามารถมาแทนที่ผู้บริโภคอเมริกัน ทั้งนี้ ทฤษฎีการบริโภคในกลุ่มบริก มีข้อดีอยู่ว่า : ผู้บริโภคในตลาดเกิดใหม่มีอุปสงค์ที่เติมไม่เต็ม กระนั้นก็ตาม กลไกที่จะไปถึงตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายนั้น นับว่าสั่นคลอนทีเดียว ถ้ามาตรฐานของบรรษัทภิบาลในโลกอุตสาหกรรมอยู่ในระดับอ่อนด้อยพอจะปล่อยให้กรณีอย่างเลแมน บราเธอร์ มาทำลายระบบการเงิน มาตรฐานของบรรษัทภิบาลในโลกที่สามก็ยิ่งทวีความสั่นคลอนหนักข้อยิ่งขึ้นๆ ไป รายงานฐานะการเงินในงบดุลของบริษัทธุรกิจในตลาดเกิดใหม่เปรียบได้ว่าเป็นซุปได้จริงๆ กล่าวคือควรเอาไว้รับประทาน แต่ไม่ควรเอาช้อนลงไปคน นี่ยังไม่ต้องเอ่ยไปถึงปัจจัยด้านความเสี่ยงทางการเมืองด้วยซ้ำ

ดังที่ฟรานเชสโก้ ซิสซี่ และข้าพเจ้าได้เสนอไว้ในเอเชีย ไทมส์ วันที่ 15 พฤศจิกายน ว่า การฟื้นตัวได้สำเร็จจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางการไหลของเงินทุน ทั้งน้ในทศวรรษที่แล้ว คนยากจนในโลกกำลังพัฒนาเป็นฝ่ายที่ปล่อยกู้ให้แก่การบริโภคของคนรวยในสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ กู้แล้วกู้อีกรวมได้ร่วมๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้จากโลกกำลังพัฒนา พร้อมกับใช้เงินเหล่านี้ไปสนับสนุนการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคกับซื้อบ้านด้วยอัตราดอกเบี้ยถูกๆ ผลปรากฏออกมาเป็นวิกฤตในศักยภาพแห่งการชำระคืนหนี้ของครัวเรือนชาวอเมริกัน ซึ่งไปปรากฏเป็นวิกฤตในศักยภาพแห่งการชำระคืนหนี้ของสถาบันการเงิน

ไม่มีการฟื้นตัวใดๆ จะเป็นจริงได้นอกจากว่าครัวเรือนชาวอเมริกันเอาจริงกับการออม แต่พวกเขาย่อมไม่อาจออมได้ในภาวะเศรษฐกิจหดตัวซึ่งสร้างวงจรถดถอยในเงินรายได้ของครัวเรือน ดังนั้น ในอันที่จะเหลือเงินไว้อดออม คนอเมริกันจะต้องขายสินค้าและบริการให้แก่คนอื่น เมื่อกวาดตาปราดไปทั่วโลก ก็จะเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งว่าใครคือเป้าหมายการขาย : ทั้งนี้ พลโลกเกือบครึ่งหนึ่งกระจุกตัวอยู่ในจีนและประเทศชายฝั่งแปซิฟิก ซึ่งเป็นส่วนที่มีศักยภาพด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ว่าที่ประธานาธิบดีโอบามามักจะเสนอมุมมองผิดๆ ในทำนองที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดดเดี่ยวจากเศรษฐกิจโลก การกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นในสหรัฐฯ จะละลายหายสูญไปในหลุมแห่งความต้องการสินทรัพย์ทางการเงินชนิดที่เติมเท่าไรก็ไม่รู้จักเต็ม ในอันที่จะทำงานไปพร้อมกับออมไปด้วยกันนั้น คนอเมริกันจำเป็นจะต้องเร่งส่งออก ทั้งนี้ ปริมาณของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและโครงสร้างพื้นฐานจริงๆ ที่จะต้องถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้เรื่องนี้บรรลุผลสำเร็จ จะต้องมากมหาศาลเพียงใดนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าประหวั่นวิตกทีเดียว
มันไม่ใช่เรื่องของการจับเรือบรรทุกน้ำมันยักษ์ให้หมุนตัวกลับ หากแต่ว่าเราจะต้องสร้างเจ้าเรือยักษ์นี้ขึ้นมาให้ได้ก่อน

เดวิด พี โกลด์แมน เคยเป็นหัวหน้าทีมวิจัยตราสารประเภทกำหนดผลตอบแทนตายตัว โกลด์แมนดูแลการวิจัยตลาดโลกให้แก่บริษัทหลักทรัพย์แบงก์ออฟอเมริกาซีเคียวริตีส์ และหัวหน้าทีมยุทธศาสตร์สินเชื่อดูแลการวิจัยตลาดโลกให้แก่เครดิต สวิส
กำลังโหลดความคิดเห็น