xs
xsm
sm
md
lg

นาทีแห่งการ‘เซิร์ป’ครั้งใหญ่ของประธานเบน (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: จูเลียน เดอลาซังเทลลิส

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Ben's big ZIRP! Moment
By Julian Delasantellis
17/12/2008

ความเคลื่อนไหวใหม่ล่าสุดของธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ ที่เป็นการเคลื่อนเข้าสู่อาณาจักรเซิร์ป (ZIRP - Zero Interest Rate Policy) แห่งนโยบายดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซนต์ อันเป็นพื้นที่ใหม่ที่สหรัฐฯ ไม่เคยทำการสำรวจหรือมีประสบการณ์กันมาก่อน นับได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่แสดงให้เห็นกันอย่างลึกซึ้ง ถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของ เบน เบอร์นันกี้ ในขณะที่ทำงานอยู่กับ เฟด ดังนั้น การดำเนินการในเรื่องนี้อย่างสุดความสามารถ ในทุกกาละและทุกเทศะ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีอำนาจหน้าที่อยู่ในมือทุกคน อาจจะเป็นความหวังเดียวที่ยังเหลืออยู่ในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ดังปรากฏในคำแถลงหลังการประชุมเอฟโอเอ็มซีนัดเดือนธันวาคมว่า

“จุดหลักของนโยบายเอฟโอเอ็มซีคือ จะสนับสนุนการทำหน้าที่ของตลาดการเงินและกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ผ่านปฏิบัติการในตลาด ตลอดจนเครื่องมืออื่นๆ ที่จะรักษาให้ขนาดของงบดุลของเฟดอยู่ในระดับที่สูง ดังที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ในช่วงสองสามไตรมาสข้างหน้า เฟดจะเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ตลอดจนหลักทรัพย์ที่หนุนด้วยสัญญาจำนอง โดยจะเป็นการซื้อในปริมาณมาก เพื่อช่วยหนุนตลาดสินเชื่อจำนองและตลาดที่อยู่อาศัย และเฟดยังจะเตรียมพร้อมที่จะเพิ่มขนาดการเข้าซื้อเพื่อให้เกิดความแน่นอนว่าเฟดจะบรรลุผลตามเป้าหมาย นอกจากนั้น เฟดจะคอยหมั่นดูความเหมาะสมที่จะเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะยาวที่ออกโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และในต้นปีหน้า จะเริ่มดำเนินมาตรการเกี่ยวกับ Term Asset-Backed Securities Loan Facility เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อแก่ครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็ก นอกจากนั้น เฟดจะหมั่นพิจารณาหาหนทางต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก ในอันที่จะใช้งบดุลของเฟดเพื่อสนับสนุนตลาดสินเชื่อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน เฟดประกาศเข้าร่วมกับมาตรการ 8 แสนล้านดอลลาร์ของรัฐบาลกลางที่จะอัดฉีดระบบเศรษฐกิจให้ฉ่ำโชกด้วยสภาพคล่องที่กำลังถูกทำลายโดยกระแสการแตกตื่นขายสินทรัพย์ไปลดภาระหนี้

การดำเนินงานในส่วนของเฟดในกระบวนการดังกล่าวก็คือ การซื้อตราสารหนี้ที่ยังไม่ถูกขายมูลค่าสูงได้ถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยวิสาหกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง (จีเอสอี) ได้แก่ แฟนนี่เม และเฟรดดี้แมค

การประกาศของเฟดในวันที่ 25 พฤศจิกายนดังกล่าวนับเป็นการฉีดสเตียรอยด์ขนานยักษ์โดยแท้ เพราะมันคือตัวแทนของคำมั่นสัญญาแบบไม่จำกัดเพดานที่เฟดจะเข้าซื้อตราสารหนี้ของภาครัฐฯ ตลอดจนตราสารหนี้ที่รัฐบาลหนุนหลังอยู่ ล็อตแล้วล็อตเล่า โดยไม่ใช่แต่จะซื้อจากพวกจีเอสอี หากในท้ายที่สุดคงจะเข้าซื้อทั้งหมดที่ออกโดยทุกหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งรวมถึงตั๋วเงินคลังและพันธบัตรที่เป็นตราสารหนี้ระยะยาว

ความหวังจึงมีอยู่ว่า เงินที่เฟดทุ่มเทไปตามหน่วยงานต่างๆ ในรูปของการซื้อหลักทรัพย์เหล่านี้ จะไปหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจวงกว้าง ในลักษณะที่ว่าเงินกู้ไม่จำเป็นจะต้องออกไปจากระบบธนาคารเอกชนแต่เพียงช่องทางเดียว

ว่าแต่ว่า มันจะได้ผลหรือไม่ การทำนายโดยอิงตามประสบการณ์ในอดีตก็ไม่สามารถให้คำมั่นในเรื่องนี้ได้ ญี่ปุ่นเคยลองมาตรการคล้ายๆ อย่างนี้ในรูปของการเข้าแทรกแซงโดยตรงในระบบการธนาคาร ในยุคที่ญี่ปุ่นเคยใช้นโยบายดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์เมื่อหลายปีก่อนหน้าเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวที่เป็นผลกระทบจากภาวะฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นญี่ปุ่นปี 1989 ในคราวนั้น มาตรการนี้ไม่เป็นผลสำเร็จในญี่ปุ่น ส่วนสำหรับคราวนี้ เฟดอ้างไว้ในคำแถลงต่อสื่อมวลชนหลังการประชุมเอฟโอเอ็มซีว่า การเข้าแทรกแซงในฝั่งอเมริกาครั้งนี้ได้เรียนจากความผิดพลาดของญี่ปุ่น และมีการออกแบบให้การแทรกแซงครั้งนี้แตกต่างจากประสบการณ์ของญี่ปุ่น

ดังที่ รอน อินซานา อดีตผู้ประกาศข่าวของซีเอ็นบีซีซึ่งกลายเป็นผู้จัดการเฮดจ์ฟันในเวลาต่อมา บอกไว้ว่า สี่คำอันตรายที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์และการลงทุนคือ “คราวนี้ไม่เหมือนครั้งนั้น” (this time it's different)

นอกจากนั้น มันเป็นเรื่องยากที่จะเห็นประโยชน์งอกเงยขึ้นมาได้จากการที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของตราสารหนี้ระยะยาวของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อาจอ่อนตัวลงด้วยการที่เฟดเข้าซื้อพันธบัตรและตั๋วเงินคลัง ทั้งนี้ มีวิธีคิดอยู่ว่า ในเมื่ออัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ระยะยาวของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ปัจจุบันนี้ก็อยู่ในระดับต่ำมากโดยไม่ได้ส่งอานิสงส์ช่วยอะไรแก่ระบบเศรษฐกิจ ถ้าไปบีบให้มันต่ำหนักลงอีกหลายๆ เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่น่าจะเนรมิตให้เกิดทีเด็ดอะไรขึ้นมาได้

และหากว่าเฟดเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยวิสาหกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง (จีเอสอี) มันก็แทบจะไม่เป็นอะไรต่อคนหลายล้านซึ่งจะไม่มีกำลังซื้อบ้านใหม่สักหลังได้เพราะตกงานเสียแล้ว อีกทั้งไม่อาจสร้างความแตกต่างอย่างใดแก่ผู้คนที่อาจจะอยากนำบ้านไปรีไฟแนนซ์เพื่อหาประโยชน์จากการที่ดอกเบี้ยตกต่ำมหาศาล เพราะระดับราคาบ้านได้ดิ่งเหวไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แน่นอนยิ่ง คือ การดำเนินการของเฟดเป็นการแทรกแซงตลาดครั้งมโหฬารที่มีนัยสำคัญภายในตลาดเอกชน เฟดเองก็ยอมรับไว้ประมาณนั้น ดังปรากฏในคำแถลงที่ว่า “จุดหลักของนโยบายเอฟโอเอ็มซีคือ จะสนับสนุนการทำหน้าที่ของตลาดการเงินและกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ผ่านปฏิบัติการในตลาด ตลอดจนเครื่องมืออื่นๆ ที่จะรักษาให้ขนาดของงบดุลของเฟดอยู่ในระดับที่สูง”

จุดเน้นในเรื่องงบดุลของเฟดนี้ นับว่ามีความสำคัญทีเดียว เพราะขนาดและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของงบดุลของเฟดจัดเป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญพิจารณาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องอย่างแน่นอนที่สุด

ในการนี้ งบดุลของเฟดเป็นเครื่องแสดงให้เห็นมูลค่ารวมของตราสารหนี้ทั้งหมดที่สะสมขึ้นมาในพอร์ตโฟลิโอของเฟด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินทรัพย์ที่เฟดเข้าซื้อหลายๆ ครั้งผ่านปฏิบัติการในระบบแบงกิ้งในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่แล้วๆ มา มูลค่าดังกล่าวปักหลักอยู่ในระดับประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์ แต่ในระยะหลายเดือนนี้ ซึ่งเฟดต้องเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาด บัญชีฝั่งนี้ของงบดุลเฟดเดินหน้าขยายตัวไปในทุกๆ ครั้งที่มีการดำเนินปฏิบัติการ มูลค่าปัจจุบันจึงขยายไปถึงระดับ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ด้านถ้อยคำในคำแถลงของเฟดก็พูดไว้ว่า เฟดไม่มีความตั้งใจที่จะเห็นว่าตัวเลขดังกล่าวจะต้องหดลดลงมา – อันที่จริง เฟดมีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะยิ่งขยายเพิ่มอีกในอนาคตอันใกล้นี้

ภัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ว่าเฟดตกอยู่ในอันตรายที่จะหมดตัวในวันใดวันหนึ่งเร็วๆ นี้ เพราะเฟดสามารถพิมพ์เงินของตนเองออกมาได้มากมายเท่าที่จำเป็น ยิ่งกว่านั้น เวลาที่จะเอาเช็คของเฟดไปขึ้นเงินนั้น ใครเลยจะไปขอตรวจดูบัตรประจำตัวของเฟด หรือจะไปโทรเช็คตัวเลขในบัญชีเงินฝากธนาคาร (หนำซ้ำ ธนาคารไหนกันเล่าที่จะเป็นผู้ถือบัญชีเงินฝากดังกล่าว) กระนั้นก็ตาม ภัยนั้นมีอยู่ว่า แม้เฟดยังสามารถปั๊มธนบัตรออกมาได้อย่างไม่หยุดยั้ง แต่ก็ไม่มีการันตีว่าเงินพวกนี้จะรักษามูลค่าของมันไปได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออยู่ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

นักลงทุน โดยเฉพาะพวกที่ไม่ได้มีฐานอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถเฝ้าดูเฟดขยายขนาดของงบดุลไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการจำกัด แต่ในเวลาเดียวกันก็จะตระหนักอยู่ว่าการแทรกแซงตลาดโดยเฟดนั้น ย่อมหนีไม่พ้นที่จะส่งผลกระทบทะลุเข้าไปในปริมาณเงินแท้จริงภายในประเทศ ซึ่งบวมเป่งเรียบร้อยไปนานแล้ว และแล้วนักลงทุนเหล่านี้จะลงความเห็นกันว่า เฟดได้ละทิ้งการทำหน้าที่เฝ้าระวังป้องกันภัยเงินเฟ้อ

หรือไม่อย่างนั้น พวกนี้อาจมองการขยายตัวของงบดุลของเฟดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจจะเดินหน้าขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ พวกเขาอาจประเมินว่าการขยายตัวนี้เป็นสิ่งที่จะถึงกาลยุติในไม่ช้า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯและของโลกอยู่ในสภาพไร้ความสามารถจะปกป้องตนเองจากโทษทัณฑ์จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าพวกนักลงทุนจะตีความในทางใด มันก็ไม่อาจที่จะเป็นพัฒนาการเชิงบวกแก่ระบบเศรษฐกิจหรือค่าเงินของสหรัฐฯ

ตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ซึ่งได้เฮกันบ่อยครั้งกับความการุณของเฟดผ่านมาตรการโอบอุ้มตลาดคราวละหลายแสนล้านดอลลาร์ ล่าสุดก็ได้เฉลิมฉลองกับมาตรการของเฟดด้วยการดันดัชนีหุ้นดาวโจนส์ขึ้นไปร่วมๆ 4%

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ตลาดหุ้นเห็นเป็นของขวัญแวววาว ตลาดเงินกลับมองเป็นกองถ่านหิน ดังปรากฏว่าพลันที่เฟดออกคำแถลง ก็มีการเทขายเงินดอลลาร์จนกระทั่งมูลค่าเงินดอลลาร์ดิ่งวูบหายวับไปหนึ่งเซ็นต์ครึ่งเมื่อเทียบกับเงินเยน เหลืออยู่ 88.50 เยนต่อหนึ่งดอลาร์ อันเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 13 ปี และเมื่อเทียบกับเงินยูโร ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวพร้อมกับขับเคลื่อนให้เงินยูโรดีดแข็งขึ้นสู่ระดับ 1.41 ดอลลาร์ต่อหนึ่งยูโร จาก 1.38 ดอลลาร์ต่อหนึ่งยูโร ซึ่งเท่ากับว่าเงินยูโรฟื้นขึ้นมาได้กว่า 40% จากที่เคยดิ่งเมื่อช่วงปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูใบไม้ร่วง

ด้านท่าทีของว่าที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ออกมาในระหว่างให้สัมภาษณ์ทีมข่าวในโอกาสการประกาศเสนอชื่อเอมี ดันแคน เป็นรมว.ศึกษาธิการ โอบามาเผยถึงท่าทีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนซึ่งเฟดกำลังนำมาใช้ ทั้งนี้ โอบามากล่าวว่า “เราเริ่มจะหมดอาวุธดั้งเดิมที่เราเคยใช้ในยามเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งก็คือการลดดอกเบี้ย ดอกเบี้ยกำลังจะลงไปต่ำสุดๆ เท่าที่จะสามารถลดลงไปได้แล้ว ... มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากที่หน่วยอื่นๆ ของรัฐบาลจะต้องก้าวขึ้นมาดำเนินการ”

เห็นได้ชัดว่าโอบามาเอ่ยถึงแผนใช้จ่ายภาครัฐเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งได้สัญญาไว้กับประชาชน อันเป็นแผนซึ่งตลาดจดจ่อรอคอย ทั้งนี้ ถ้าไม่มีปัจจัยใดพลิกผัน ทันทีที่โอบามาเข้าสาบานตัวรับตำแหน่งประธานาธิบดี ณ เวลาเที่ยงวันของวันที่ 20 มกราคม แผนกระตุ้นเศรษฐกิจจะถูกประกาศใช้ภายในไม่เกิน 1 วินาทีหลังเที่ยงวันของวันนั้นเลย (โดยที่แผนฯ ดังกล่าวก็น่าจะผ่านการรับรองของสภาและได้รับการดำเนินการ)

การตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ของเฟดได้รับฉายาจากผู้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจท่านหนึ่งว่า เป็นการประกาศต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจ “โดยใช้ทุกเครื่องมือเท่าที่จำเป็น”

วลีดังกล่าวนั้นแรกเดิมเป็นคำพูดของ ฌอง ปอล ซาร์ต แล้วไปฮิตติดปากผู้คนเมื่อออกจากปากของ มัลคอล์ม เอ็กซ์ นักสู้อเมริกันเชื้อสายอัฟริกันซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชนในปี 1965 ในครั้งนั้นคนอเมริกันผิวขาวส่วนใหญ่เพิ่งได้ยินวลีนี้เป็นครั้งแรก และรู้สึกไปในทางการข่มขู่คุกคาม และตีความกันเป็นการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิของประชาชน

สี่สิบสามปีต่อมา ท่าทีประมาณนี้ของเฟดและโอบามาที่จะใช้เพื่อต่อสู้กับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ถูกมองเป็นภัยคุกคาม แต่เป็นคำปลุกขวัญกำลังใจของผู้คน อันที่จริง การดำเนินการในเรื่องนี้อย่างสุดความสามารถ ในทุกกาละและทุกเทศะ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีอำนาจหน้าที่อยู่ในมือทุกคน อาจจะเป็นความหวังเดียวที่ยังเหลืออยู่ในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

จูเลียน เดอลาแซงเทลลิส เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ เป็นนักลงทุน และเป็นนักการศึกษาด้านธุรกิจระหว่างประเทศในมลรัฐวอชิงตัน ติดต่อเขาได้ที่ juliandelasantellis@yahoo.com

  • นาทีแห่งการ‘เซิร์ป’ครั้งใหญ่ของประธานเบน (ตอนแรก)

  • กำลังโหลดความคิดเห็น