xs
xsm
sm
md
lg

"แชร์ลูกโซ่วอลล์สตรีท"ส่งคลื่นช็อกต่อไปอีก ที่ถูกโกงมีทั้งมูลนิธิ-เศรษฐีคนดัง-แบงก์ใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์ อดีตประธานตลาดหลักทรัพย์แนสแดค
เอเจนซี/เอเอฟพี - กระแสคลื่นสั่นสะเทือนจากการฉ้อโกงของ เบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์ อดีตประธานตลาดหลักทรัพย์แนสแดค และนักการเงินระดับเฮฟวี่เวตผู้เป็นที่นับถือกันมาหลายสิบปีของวอลล์สตรีท ยังคงแผ่ลามต่อไปทั่วโลก โดยนอกจากธนาคารและสถาบันการเงินขนาดใหญ่จำนวนมากแล้ว ยังมีองค์การการกุศล และมหาเศรษฐีนักลงทุน ออกมาเปิดเผยกันว่า ประสบการขาดทุนจากการออกเงินไปร่วมลงทุนกับแมดอฟฟ์ ซึ่งที่แท้เป็นกิจการแบบแชร์ลูกโซ่

เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ แบงก์ใหญ่อันดับหนึ่งของยุโรป ออกมายอมรับอย่างเป็นทางการในวันจันทร์(15)ว่ามีมูลค่าสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนกับกองทุนของแมดอฟฟ์ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งอังกฤษรายนี้กลายเป็นเหยื่อรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในการฉ้อโกงมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ครั้งนี้

นอกจากนั้น ยังมี ฟอร์ทิส แบงก์ใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ แถลงว่าได้ไปลงทุนกับแมดอฟฟ์ราว 1,000 ล้านดอลลาร์เช่นกัน

ก่อนหน้านี้ก็มี โรยัลแบงก์ออฟสกอตแลนด์ ธนาคารใหญ่ในอังกฤษ และ แมนกรุ๊ป ที่ป็นบริษัทกองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ของอังกฤษเช่นกัน, โนมูระ โฮลดิ้งส์ อิงค์ของญี่ปุ่น, นาทิซิสของฝรั่งเศสออกมาแถลงแล้วว่าได้เข้าไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนอื้อฉาวครั้งนี้ด้วย

ทางด้าน ธนาคารซานทานแดร์ แบงก์ใหญ่ที่สุดของสเปนก็ได้ออกมายอมรับว่า ไปลงทุนกับบริษัท แมดอฟฟ์ อินเวสต์เมนต์ ซีเคียวริตีส์ ในนิวยอร์ก เอาไว้กว่า 3,000 ล้านดอลลาร์

ในญี่ปุ่นนอกจากนั้นโนมูระแล้ว วานนี้ยังมีแบงก์และสถาบันการเงินรวม 4 แห่ง แจ้งว่ามีการลงทุนกับแมดอฟฟ์เช่นกัน แม้เป็นจำนวนไม่มากนัก โดยที่ อาโอโซระ แบงก์ รายงานว่าขนาดการลงทุนของตนอยู่ที่ประมาณ 12,400 ล้านเยน (137 ล้านดอลลาร์)

ขณะที่ 2 บริษัทประกันภัย ได้แก่ นิปปอนโกอา อินชัวรันซ์ และ มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ และ 1 บริษัทหลักทรัพย์ คือ ไดวา ซีเคียวริตีส์ กรุ๊ป ระบุว่าความเสียหายของทั้ง 3 แห่งนี้รวมกันแล้วอย่างมากที่สุดก็ไม่เกินระดับหลายร้อยล้านเยน

ในสหรัฐฯ ยังไม่มีธนาคารขนาดใหญ่รายใดออกมาบอกว่าได้ซื้อหน่วยลงทุนไว้บ้างหรือไม่ แต่สเตอร์ลิง อีคิวตี้ส์ ซึ่งเป็นเจ้าของทีมเบสบอลอาชีพนิวยอร์ค เมทส์ออกมาบอกว่ามีสินทรัพย์ที่ให้แมดอฟฟ์บริหารอยู่ นอกจากนี้ก็ยังมีนักลงทุนเอกชน กองทุนเงินบำนาญ และมูลนิธิการกุศลหลายร้อยรายที่ใช้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินของแมดอฟฟ์ อินเวสเมนท์ ซีเคียวริตีส์

บรรษัทคุ้มครองนักลงทุนหลักทรัพย์ หรือ เอสไอพีซี ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังกำไรที่ได้รับเงินสนับสนุนมาจากอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ของสหรัฐฯ ตั้งขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนบางส่วน ก็ได้แต่งตั้งผู้พิทักษ์ทรัพย์ขึ้นมาตรวจสอบการปิดบัญชีเพื่อปิดบริษัทของแมดอฟฟ์

ผู้พิทักษ์ทรัพย์ซึ่งได้แก่ เออร์วิง พิคคาร์ด แถลงว่า เขาจะ "ทำงานร่วมกับเอสไอพีซีเพื่อทำตามที่กฎหมายกำหนดในการบรรเทาการขาดทุนของลูกค้าของบริษัท" โดยเอสไอพีซีจะเข้ามาช่วยนักลงทุนที่เป็นลูกค้าของบริษัทโบรกเกอร์ต่าง ๆ แต่ไม่ครอบคลุมถึงนักลงทุนส่วนบุคคลที่ถูกหลอกให้ซื้อหลักทรัพย์ที่ไม่ค่อยมีราคาอะไร และก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือเรียกร้องเงินลงทุนที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้

ในขณะนี้ทางการก็กำลังขยายผลของคดีออกไปเพื่อหาผู้ร่วมกระทำผิดกับบริษัทของแมดอฟฟ์ และบริษัทไฟรเอห์ลิงห์ แอนด์ ฮอโรวิทซ์ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบบัญชีให้กับแมดอฟฟ์ก็ถูกอัยการเขตร็อคแลนด์ เคาน์เตอร์ในนิวยอร์คเพ่งเล็งตรวจสอบว่ามีส่วนในกรณีนี้หรือไม่

"เรากำลังอยู่ในการสอบสวนขั้นต้น" อัยการเขต โทมาส ซูกิเบกล่าว "และเราก็กำลังดูอยู่ว่ารายงานการเงินที่ไฟรเอห์ลิงจัดทำนั้นเข้าข่ายฉ้อฉลหรือเปล่า"

ในบรรดาผู้ขาดทุนจากแชร์ลูกโซ่ของแมดอฟฟ์นั้น รายหนึ่งก็คือทางการมลรัฐแมสซาชูเซตส์ที่บอกว่าขาดทุนราว 12 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ก็ยังมีมูลนิธิการกุศลขนาดใหญ่หลายแห่งติดร่างแหไปด้วย อยางเช่น ทรัสฟันด์การกุศลของมอร์ติเมอร์ ซัคเกอร์แมน เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ เอ็นวาย เดลี่นิวส์

"ในอนาคตผมคงต้องระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนมากกว่านี้" ซัคเกอร์แมนกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีพร้อมทั้งบอกว่าเขากำลังพิจารณาเรื่องการฟ้องร้องอยู่

ส่วนทนายความของแมดอฟฟ์ ไอรา ซอร์กินปฏิเสธที่จะให้ข่าวใด ๆ ส่วนลูกชายสองคนของนักลงทุนระดับตำนานผู้นี้ก็ออกมาบอกสาธารณะชนผ่านทนายความว่าไม่รู้เรื่องการฉ้อโกงครั้งนี้เลย

เมื่อวานนี้ หนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัลรายงานว่ากองทุนที่ก่อตั้งโดยสตีเว่น สปีลเบิร์กชื่อว่า มูลนิธิวันเดอร์ไคด์ก็น่าจะลงทุนในกองทุนของแมดอฟฟ์ไม่ใช่น้อย ต่อมา มาร์วิน เลวี โฆษกของสปีลเบิร์ก ได้ออกมายืนยันว่ามูลนิธิลงทุนกับแมดอฟฟ์ แต่ไม่ให้รายละเอียดอื่นใด นอกจากนี้ก็ยังมีกองทุนอื่น ๆอีกมากอย่างเช่น กองทุนสนับสนุนชาวยิวหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากการปิดของกองทุนหลังแมดอฟฟ์ถูกจับ

เป็นที่คาดหมายกันว่า สถาบันการเงินจำนวนมากซึ่งถูกวิกฤตการเงินเล่นงานจนต้องประกาศตัดยอดขาดทุนจากสินทรัพย์เน่าเป็นเงินรวมกันหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯมาแล้ว จะต้องแบกรับภาระความเสียหายจากกรณีนี้อีกไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ จากการลงทุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

นักกฏหมายบอกว่าเมื่อมีการดำเนินคดี รวมทั้งสำรวจผลเสียหายที่เกิดขึ้น ก็อาจทำให้นักลงทุนที่ถอนเงินลงทุนจากบริษัทของแมดอฟฟ์ไปแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องนำเอาเงินมาคืน ซึ่งจะก่อปัญหาสับสนวุ่นวายอย่างต่อเนื่องในโลกการเงิน

เนื่องจากกฏหมายล้มละลายกลางของสหรัฐฯระบุไว้ว่า นักลงทุนที่ถอนเงินของจากกองทุนที่ถูกตัดสินว่าฉ้อโกงก่อนหน้าที่กองทุนจะล้มละลายสองปี จะต้องนำเอาเงินมาคืน หากว่าพวกเขารู้หรือน่าจะได้รับรู้ว่ากองทุนนั้นเป็นเรื่องต้มตุ๋นทั้งเพ ส่วนกฏหมายในระดับมลรัฐของสหรัฐฯ มีการขยายเวลาที่ต้องคืนเงินออกไปเป็น 4 -6 ปีเลยทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น