xs
xsm
sm
md
lg

เฟด-อีซีบีวิตกจะเกิดภาวะ "เงินฝืด" เร่งรัดให้หาทางกระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาคารธนาคารกลางสหรัฐฯ
เอเจนซี - เจ้าหน้าที่ระดับท็อปจากธนาคารกลางสหรัฐฯและยุโรป ต่างประกาศยืนยันเมื่อวันอาทิตย์(4) ที่จะต่อสู้กับผลกระทบอันร้ายแรงของภาวะเงินฝืด ในยามที่เศรษฐกิจโลกกำลังดิ่งลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันรุนแรงและยาวนาน

เวลาผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน แต่ความกังวลของเหล่านายธนาคารกลางก็ได้กลับตาลปัตร จากที่เคยพยายามควบคุมสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อมา ก็หันมาเป็นการหาทางหลีกเลี่ยงให้พ้นจากภาวะเงินฝืด ซึ่งเป็นภาวะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อราคาสินค้าดิ่งลงรุนแรง อันเนื่องมาจากการที่บรรดาผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆไม่ยอมจับจ่ายใช้สอยและลงทุน แล้วเลยยิ่งฉุดให้ภาวะเศรษฐกิจดำดิ่งลงไปสู่ความถดถอยมากขึ้น

ทั้งเจเน็ต เยลเลน ประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)สาขาซานฟรานซิสโก และ ลูคัส ปาปาเดมอส รองประธานธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ต่างกล่าวเน้นถึงความเสี่ยงของภาวะเงินฝืด ในระหว่างการประชุมประจำปีของสมาคมเศรษฐศาสตร์อเมริกัน

"ความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้นที่ว่า เงินเฟ้อจะชะลอลงสู่ระดับต่ำๆ จนไม่เป็นที่พึงปรารถนา" เยลเลนกล่าวในการประชุมอันจัดขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก

เธอยังชี้ว่าเฟดคงจะต้องเพิ่มการใช้มาตรการทางการเงินอย่างชนิดนอกแบบแผนให้มากขึ้นอีก เพราะตอนนี้อัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้นลงไปจนเกือบแตะระดับ 0% อยู่แล้ว

เยลเลนยังได้กระตุ้นให้รัฐบาลของว่าที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ออกโครงการใช้จ่ายอย่างมโหฬารเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเธอเห็นว่าเศรษฐกิจจะหดตัวรุนแรงต่อไป และเธอก็ไม่เห็นกับการทำนายของนักเศรษฐศาสตร์บางสำนักที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาสสองของปีนี้

"พายุการเงินและเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่ในตอนนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงสาหัสของภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ซึ่งถือเป็นผลอันเลวร้ายอย่างที่สุด" เธอกล่าว "แม้ว่าเฟดจะเข้าแทรกแซงโดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดอย่างมหาศาล แต่สหรัฐฯก็น่าจะเผชิญกับเศรษฐกิจที่อ่อนแอต่อไป"

"ดิฉันหนุนแผนการกระตุ้นทางการคลังอย่างใหญ่โตกันสุดตัวเลย" เยลเลนกล่าว "ถ้าหากจะมีครั้งใดในช่วงเวลาแห่งการทำงานเป็นนักวิชาชีพของดิฉัน ที่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังอย่างกระตือรือร้นและอย่างสุขุมรอบคอบแล้ว ก็คือเวลานี้นี่แหละ"

ส่วนปาปาเดมอสของอีซีบีกล่าวว่า อีซีบีจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกแน่นอน เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจของเขตยูโรโซนเอาไว้ รวมทั้งป้องกันมิให้เกิดภาวะเงินฝืดขึ้นมาได้

"เราจะทำทุกอย่างที่จำเป็น ทั้งในแง่ของช่วงเวลาและขนาดของการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้แน่ใจว่าในยุโรปจะมีเสถียรภาพทางด้านราคา" เขากล่าว

อีซีบีนั้นไม่เหมือนเฟดที่เมื่อเดือนธันวาคมเพิ่งลดอัตราดอกเบี้ยลงไปใกล้ศูนย์เปอร์เซนต์และอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อหล่อเลี้ยงมิให้เลวร้ายไปกว่าเดิม เพราะอีซีบียังคงสามารถใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปได้อีก เนื่องจากตอนนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของอีซีบียังอยู่ที่ 2.5% แม้หลังจากการลดครั้งใหญ่1.75% ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา และตอนนี้ตลาดก็กำลังคาดหมายถึงการลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 15 มกราคมนี้

สำหรับธนาคารกลางสหรัฐฯนั้น เยลเลนเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดคนที่สองแล้ว ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการด้านการคลังครั้งสำคัญ เพื่อมารองรับกับมาตรการการเงินของธนาคารกลางที่ได้ออกไปแล้วและกำลังจะออกต่อไป

เมื่อวันเสาร์(3) ชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานของเฟดสาขาชิคาโก ก็ออกมาชี้ถึงความจำเป็นที่รัฐจะต้องกระตุ้นการเติบโตด้วยมาตรการที่แรงมากพอจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะเศรษฐกิจนั้นเข้าข่ายสาหัสไปแล้ว

ทั้งเยลเลนและอีแวนส์นั้น ต่างจะเป็นสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียง ในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด(เอฟโอเอ็มซี)ในปีนี้
ก่อนหน้านี้ ว่าที่ประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวย้ำยืนยันว่า การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลจะเป็นนโยบายแรกที่เขาจะทำเมื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างงาน 3 ล้านตำแหน่งภายในเวลาสองปี

ส่วนพวกสมาชิกรัฐสภาของเดโมแครตก็บอกว่า ตอนนี้แผนดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำของรัฐสภา โดยคาดกันว่าจะมีมูลค่าราว 775,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ทางพรรครีพับลิกันทำนายไว้ว่าเม็ดเงินที่ใช้อาจต้องสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น