xs
xsm
sm
md
lg

คาด “เฟด” ลดดอกเบี้ยอีกสัปดาห์นี้ ขณะเร่งหาวิธีอื่นๆ ช่วยสยบวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ
เอเอฟพี - คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ที่นำโดย เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นัดหมายประชุมกันในวันนี้และพรุ่งนี้ (15-16) โดยเป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวาง ว่า จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 1.0% ในขณะนี้

แต่ขณะเดียวกัน ก็เห็นได้ชัดเจนเช่นกันว่า เฟดกำลังคิดหนักในการหาเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อผ่าทางตันวิกฤตสินเชื่อควบคู่ไปกับกระตุ้นอัตราการเติบโต ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯดิ่งลงอย่างรวดเร็ว และอัตราดอกเบี้ยลดเรี่ยใกล้ระดับ 0% อยู่แล้ว

หากดูจากแนวโน้มการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้องในตลาดล่วงหน้าแล้ว ก็บ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่เอฟโอเอ็มซีในคราวนี้จะมีการลดดอกเบี้ยลงเหลือ 0.25% หรือหมายความว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟดฟันด์เรตลงมาถึง 0.75%

ทว่า นักวิเคราะห์กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำเตี้ยของเฟดขณะนี้ ไม่สามารถส่งผลแปรเปลี่ยนเป็นสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าเฟดจะต้องเพิ่มมาตรการพิเศษ เพื่อต่อสู้กับวิกฤตสินเชื่อโลก รวมถึงหลีกเลี่ยงภาวะเงินฝืด

แครี เลฮี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของดิซิชัน อิโคโนมิกส์ ชี้ว่า ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จึงน่าเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยแน่ แต่ยังไม่รู้ว่าจะลดเท่าใด โดยตัวเขาเองเก็งว่าจะมีการปรับลดอยู่ที่ 0.5% และอาจลดอีก 0.25% ต้นปีหน้า แต่ไม่มีแนวโน้มว่าเฟดจะหั่นดอกเบี้ยเหลือ 0% เนื่องจากจะไปบั่นทอนส่วนต่างกำไรที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของธนาคารและพวกผู้จัดการตลาดเงิน

ภารกิจของเฟดยิ่งซับซ้อนขึ้นจากการคาดหวังกว้างขวางขึ้น ว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังลดลงและอาจนำไปสู่ภาวะเงินฝืดที่รับมือยาก

สภาพการณ์พิเศษผิดธรรมดาที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดพันธบัตร ตอกย้ำถึงปัญหาของเฟด กล่าวคือ ตราสารหนี้ระยะสั้นของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า ตั๋วเงินคลัง กำลังมีราคาสูงขึ้นถึงขั้นทำให้อัตราผลตอบแทน (ยีลด์) อยู่ในภาวะติดลบเป็นครั้งแรก หมายความว่า นักลงทุนผู้หวาดผวา กำลังยินดีถือตั๋วเงินคลังที่มีความปลอดภัยสูงท่ามกลางการคุกคามของภาวะเงินฝืด แม้ไม่ได้รับดอกเบี้ยตอบแทนเลยแต่กลับต้องจ่ายเงินนิดหน่อยเป็นค่าเข้าถือครองด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกัน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ยังได้ออกตั๋วเงินคลังเป็นมูลค่าถึง 30,000 ล้านดอลลาร์ในอัตราผลตอบแทน 0% ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้เห็นความกลัวของนักลงทุนดังกล่าว

เวลานี้ เมื่อดูจากราคาตราสารอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้องในตลาดล่วงหน้าแล้ว เท่ากับกำลังถือว่าอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรต อยู่ในระดับแทบจะเป็น 0% แล้ว (0.0625%) แม้เฟดตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.0% ก็ตาม สาเหตุสำคัญเนื่องจากเฟดมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจำนวนมาก

ไมค์ ลาร์สัน จากเวสส์ รีเสร์ช ชี้ว่า ทิศทางที่กลับตาลปัตรในตลาดพันธบัตรบ่งบอกว่าปัญหาในตลาดสินเชื่อยังไม่มีวี่แววคลี่คลายแต่อย่างใด

เอเวอรี เชนเฟลด์ จากซีไอบีซี เวิลด์ มาร์เก็ตส์ สำทับว่าการตัดสินใจของเอฟโอเอ็มซีจะมีผลในทางเทคนิคเท่านั้น ในเมื่ออัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่แท้จริงอยู่ใกล้ระดับ 0% อยู่แล้ว หมายความว่าการลดดอกเบี้ยจะส่งผลต่อการกู้ยืมประเภทอื่นๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และการที่อัตราดอกเบี้ยใกล้ถึงระดับ 0% ก็เท่ากับเป็นการจำกัดขอบเขตในการใช้มาตรการอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย

สก็อตต์ บราวน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเรย์มอนด์ เจมส์ แอนด์ แอสโซสิเอตส์ บอกว่าเฟดใกล้หมดช่องทางลดดอกเบี้ยแล้ว

“อัตราดอกเบี้ยตามตัวเลขไม่สามารถลดลงต่ำกว่า 0% อย่างไรก็ตาม อย่างที่เบอร์นันกีเคยกล่าวไว้คือ มีช่องทางมากมายที่เฟดจะสามารถปรับสภาพทางการเงินได้ผ่านการใช้งบดุลบัญชี นอกเหนือจากการขยายสินเชื่อให้แก่สถาบันการเงิน”

นักวิเคราะห์หลายคน มองว่า ขณะนี้ เฟดกำลังค่อยๆ ยอมรับเครื่องมือทางการเงินที่ญี่ปุ่นเคยใช้ในทศวรรษ 1990 ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ ซึ่งหมายความถึงการที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาเพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบและกระตุ้นการปล่อยกู้

เลฮี คาดว่า ณ จุดใดจุดหนึ่ง เฟดจะยอมรับเทคนิคนี้กันอย่างเป็นทางการ และเพิ่มความพยายามในการแก้ปัญหาสภาพคล่อง ด้วยการเข้าไปซื้อหลักทรัพย์จำนอง พันธบัตรคลังระยะยาว และหุ้นกู้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด

พอล แคสรีล นักเศรษฐศาสตร์ของนอร์ทเทิร์น ทรัสต์ ขานรับว่าการลดดอกเบี้ยอาจให้โทษมากกว่าให้คุณ เพราะจะกระทบต่อธนาคารและบริษัทอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมีกำไรเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มทุนให้ตัวเอง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเฟดจะถูกบังคับให้ลดดอกเบี้ย ตลอดจนต้องใช้มาตรการอื่นๆ ไปด้วย เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในระบบการเงิน และหลีกเลี่ยงการประสบภาวะถดถอยรุนแรงเหมือนที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1930
กำลังโหลดความคิดเห็น